“สมชัย ศรีสุทธิยากร”สายล่อฟ้า เสียงฟ้าร้องเตือนระวังเลือกตั้งโมฆะ

“หากเลือกตั้งเสร็จ และ กกต.เอ้อระเหย ไปประกาศผลหลังวันที่ 9 พฤษภาคม แล้วบังเอิญมีมือดีไปร้องศาล และบังเอิญศาลวินิจฉัยสรุปว่า กกต. จัดการเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.ต้องรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่ง รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่าย 5,800 ล้านบาท ที่เสียไป หาร 7 แค่คนละ 800 กว่าล้านบาท”

เสียงเตือนจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ดูทรงพลังและทำให้ผู้เกี่ยวข้องหันมาขบคิดถึงกรอบเวลาการเลือกตั้ง 150 วัน คือหย่อนบัตรเลือกตั้งหรือวันประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ส.ส.ร้อยละ 95  ของจำนวน ส.ส. 500 คนเพื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกได้

หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ กำหนดครบ 60 วัน คือวันที่ 25 เมษายน

หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 10 มีนาคม กำหนดครบ 60 วัน คือวันที่ 9 พฤษภาคม

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ว่าเขาเป็นใครทำไมทำตัวเป็นสายล่อฟ้า จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. มาตรา 44 ปลดจากกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้งก่อนครบวาระไม่กี่วัน เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้นานก็เรียกแขกได้ทุกวัน เรียกว่าวันไหนนายสมชัย แถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์สื่อทั่วทุกสารทิศทั้งไทยและต่างชาติต้องมาฟังว่าเขาจะพูดอะไร

ต้นปีที่แล้วเขาก็มีข่าวเซอร์ไพร์ยึดหน้าสื่อต่างๆ ได้หลายวัน ด้วยข่าวสละโสดรอบบสองกับสาวสวยผู้บริหารบริษัทดอยคำ นางสาวสุกัญญา นิลสม

นายสมชัย เป็นคนจังหวัดสมุทรสาคร เกิด 23 ตุลาคม พ.ศ. 2501 แต่เข้ามาเรียนที่สวนกุหลาบ มีเพื่อนรวมรุ่นหรือ OSK90 คนดังมากมาย เช่น นายวีระ สมความคิด นักเคลื่อนไหว, นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ฯ, นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, นายสมศักดิ์ เจียมสกุล นักวิชาการชื่อดัง, นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย

หลังจบการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์รับราชการเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองอธิการบดี ฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในระหว่างรับราชการนายสมชัย ได้เข้ามีบทบาทรวมทำงานกับองค์กรกลางการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2536 เป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) เมื่อ พ.ศ. 2540-2545 และได้ใช้ประสบการณ์นี้เข้าไปนั่งเป็นกรรมการคณะกรรมการการเลือกตั้ง