‘ ดร.กิตติ ‘ย้ำการทำงานพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำต้องทำข้อมูลจากฐานราก เพื่อแก้ปัญหาระดับพื้นที่ จับมือสถาบันการศึกษาสร้างกลุ่มอาชีพแล้ว 5,600 กลุ่ม

ดร. กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า บพท.มีความตระหนักเป็นอย่างดีต่อความสำคัญของการพัฒนาและแก้ปัญหาจากพื้นที่ จึงร่วมกับสถาบันการศึกษา 99 แห่งทั่วประเทศ ร่วมคิด ร่วมทำกับชุมชนในการแก้ปัญหาปัจจุบันพร้อมกับสร้างรากฐานเพื่อการพัฒนาในอนาคต

“ความเหลี่อมล้ำเป็นประเด็นปัญหาที่ฝังรากลึกในไทยมายาวนาน เราจึงต้องการแนวทางการแก้ไขแบบใหม่ให้ได้ผลกว่าเดิม ซึ่งก็คือการใช้ความรู้และการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ซึ่ง บพท.พิสูจน์แล้วว่าได้ผลน่าพอใจ เพราะมีการทำงานครอบคลุมทั้งระดับครัวเรือน ชุมชนและระดับเมือง”

บพท. ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนาระดับพื้นที่โดยยึดโยงกับยุทธศาสตร์สำคัญสามด้าน คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาคนและกลไกจากฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่นและทุนทางวัฒนธรรม ยุทธศาสตร์พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ และยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองน่าอยู่และเมืองแห่งการเรียนรู้

ผลจากการดำเนินงานของ บพท. ที่ร่วมกับสถาบันการศึกษา ราชการและชุมชน ในด้านเศรษฐกิจฐานรากทำให้ชุมชนเกิดความรู้และเข้มแข็ง เกิดการพัฒนากลุ่มอาชีพได้มากถึง 5,600 กลุ่ม เป็นพื้นฐานของการพัฒนาเพื่อให้เขาสามารถเริ่มต้นพัฒนาตนเองได้ มีความรู้ใหม่ และมีนวัตกร หรือผู้นำท้องถิ่นที่จะทำให้ชุมชนของเขายั่งยืนต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้งานวิจัยที่ บพท. สนับสนุนยังสามารถค้นพบคนยากจนที่หลุดจากระบบความช่วยเหลือของรัฐกว่าแปดแสนคนใน 20 จังหวัด ซึ่งได้รับความช่วยเหลือไปแล้วกว่าหกแสนคน

ในขณะที่การพัฒนาในระดับเมือง ได้ส่งเสริมการรวมตัวในพื้นที่ขึ้นเป็นบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นแล้ว 19 แห่ง เป็นกลไกการพัฒนาที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมวางแนวทางอนาคตของตนเอง เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ 18 พื้นที่และเกิดกลไกบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 61 กลไก

นายกิตติ กล่าวว่า จากประสบการณ์ของ บพท. พบว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นได้จริง ๆ ถ้าเริ่มจากกระบวนการมองปัญหาและเริ่มการแก้ไขจากพื้นที่ของปัญหานั้น ๆ เพราะเจ้าของปัญหาลงมือทำเอง โดยมีความรู้และพี่เลี้ยงจากสถาบันการศึกษา

สำหรับแนวทางในอนาคตของ บพท. นั้น ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่าจะเป็นการต่อยอดกระบวนการทำงานดังกล่าวให้ตอบความต้องการของประเทศมากยิ่งขึ้น เช่น ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อยกระดับสมุนไพรไทย งานวิจัยการสร้างเศรษฐกิจใหม่บนฐานทรัพยากรอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“ทุนวิจัยในอนาคตจะมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เชื่อมโยงการยกระดับชุมชนให้มาช่วยยกศักยภาพของประเทศ โดยเฉพาะในสาขาที่มีโอกาสสูง เช่น การที่ไทยเสียดุลนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรนับหมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งที่เรามีสมุนไพรอยู่ทั่วประเทศ งานวิจัยจะเข้ามาช่วยชุมชน สังคมและประเทศ”

บทความที่เกี่ยวข้อง