อว.ใช้นวัตกรรมช่วยชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองครก เชียงใหม่ โชว์หมู่นวดผ่อนคลายแบบไทย อาหารท้องถิ่น “แช่ออนเซ็นในโฮมสเตย์” 

เมื่อวันที่ 30 มี.ค.น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน ที่ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองครก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยบางส่วนผ่านโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ภายใต้แผนงานอุทยานวิทยาศาสตร์ จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

น.ส.ทิพวัลย์ เปิดเผยว่า ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองครก เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมและสุขภาพ เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านที่เล็งเห็นการนำวัฒนธรรมและทรัพยากรในชุมชนมาต่อยอดเพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ภายในท้องถิ่น อาทิ หมู่บ้านควาย สวนผลไม้ออร์แกนิค นวดผ่อนคลายแบบไทย การแสดงจากเยาวชนและผู้สูงอายุ การทำอาหารท้องถิ่น การต้มไข่และแช่น้ำพุร้อนด้วยน้ำพุร้อนและไฮไลท์คือ การแช่ออนเซ็นในโฮมสเตย์

ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานดังกล่าวเกิดจากผู้นำชุมชน ได้เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน การบริหารทีม การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน รวมถึงการยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดผ่านกิจกรรมของโครงการสร้างผู้ประกอบการชุมชน (Local Startup) เพื่อส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนและกระจายรายได้แก่เศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งเพื่อวางแผนธุรกิจที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศมากยิ่งขึ้น อีกทั้งต้องเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบนิวนอร์มอลจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศหลังสถานการณ์โควิด – 19 ดีขึ้น คาดว่าชุมชนจะมีรายได้กว่า2.5 ล้านบาทต่อปี เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้

     “เศรษฐกิจชุมชนถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากประชากรไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นมากกว่าอยู่ในเมือง ดังนั้นการสร้างฐานรากของเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ก็จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีศักยภาพด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิตและธุรกิจของคนในชุมชน จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและเรียนรู้อย่างยั่งยืน สามารถนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ในการทำธุรกิจ สร้างอาชีพ รวมถึงต่อยอดไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้” น.ส.ทิพวัลย์ กล่าว