ความเดิมตอนที่แล้วได้สื่อสารถึงเรื่อง อาคาร อากาศ อารมณ์ อาภรณ์ ของย่านเมืองเก่าภูเก็ต
ทีนี้เล่าต่อเรื่องอาหารในเมืองเก่าภูเก็ตกันครับ
อาหารภูเก็ตเมืองเก่านั้นได้รับยกย่องจากองค์การ UNESCO ว่าเป็นยอดด้าน Gastronomy เชียวนะครับ แถมได้รับการประกาศสถานะนี้เป็นแห่งแรกในไทยด้วย
อาหารที่นี่มีสีสันเพราะมาจากอาหารนานาชาติที่ผสมผสานกับอาหารถิ่นมาอย่างยาวนาน ที่นี่มีร้านมิชลินสตาร์หลายแห่ง มีร้านเก่าร้อยปี ทำอาหารหรือขนมมีชื่อจนคนติดตรึม หลายร้านมีคนเข้าคิวสั่งกลับและมีคนเข้าคิวรอโต๊ะกันยาวเหยียดทุกวัน
คนภูเก็ตเมืองเก่าหลายท่านบอกผมว่า วัฒนธรรมการกินอันสมบูรณ์ของที่นี่ทำให้หลายครอบครัวทานถึง 6 มื้อต่อวันเป็นประจำ!!
และอร่อยไม่ซ้ำได้ทั้งสัปดาห์เสียด้วย
ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะผมไปค้างที่กลางภูเก็ตเมืองเก่าคราวนี้ 2 คืน เห็นร้านอาหาร ร้านขนม ร้านของหวานหลายต่อหลายแห่ง มีคนเข้าคิวกันแน่น จนเผลอนึกว่ามีการเตรียมจะเดินขบวนอะไรสักอย่าง
อีกอย่างที่ผมประทับใจในทริปนี้คือความสนใจของเมืองเก่าภูเก็ตที่อยากจะทำทางเท้าที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล หรือ Tourism For All ซึ่งคงจะได้ชักชวนให้ผู้มีประสบการณ์การปรับปรุงอารยสถาปัตย์มาช่วยกันออกแบบปรับปรุงเพิ่มเติมให้ดียิ่งขึ้นได้ต่อไปอีก
โรงแรม WOO ที่ผมพักเป็นบูติคโฮเต็ลสไตล์ฮกเกี้ยนย้อนยุคอย่างประณีต ตั้งอยู่กลางเมืองเก่า แม้เป็นอาคารปลูกใหม่สูงเพียง 3 ชั้นก็จริง แต่คุณเผด็จ วุฒิชาญ ทายาทรุ่นห้าของครอบครัวชาวจีนฮกเกี้ยนได้รักษาอาคารแฝดที่เชื่อมถึงโรงแรมนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ทุกอย่างเป็นของเก่าแก่ดั้งเดิม น่าชมน่าเรียนรู้ แม้แต่ผนังอาคารเก่าก็พิเศษตรงที่เป็นดินอัดแล้วฉาบด้วยปูนไม่ใช่กำแพงที่ก่อด้วยอิฐ แถมยังมีลวดลายกร่อนเป็นดวงๆตลอดแนว ซึ่งก็ไม่เคยทราบเหมือนกันว่ามันเกิดแบบนั้นได้
เสน่ห์นอกเหนือจากตัวอาคารและการตกแต่งภายในอย่างมีความรอบรู้นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่ต้องแยกออกมายกย่องก็คือเรื่องความเอื้อเฟื้อในการออกแบบที่คุณเผด็จเจ้าของ ก็ยังอุตส่าห์ติดลิฟต์ แม้เป็นอาคารแค่3 ชั้น มีการทำทางลาด ทำทางเข้าห้องน้ำในห้องพักให้กว้าง และติดแผงปลั๊กไฟฟ้าที่ระดับความสูงที่คนนั่งวีลแชร์เอื้อมถึง มีช่องเสียบปลั๊กไฟฟ้าเยอะจุใจ กระจายทั่วห้อง ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักเดินทางในยุคปัจจุบัน ที่มีทั้งมือถือ แท็บเล็ต หูฟัง เพาเวอร์แบงค์ รวมทั้งการชาร์ตแบตให้วีลแชร์ไฟฟ้าด้วย ทางเข้าที่อาบน้ำไม่มีประตูมาขวางและไม่มีขั้นที่พื้น ทำให้วีลแชร์ปกติสามารถเข็นเข้าไปนั่งอาบใต้ฝักบัวเพดานได้
หรือถ้าจะยืมวีลแชร์อาบน้ำของโรงแรมไปใช้ ก็มีให้ด้วย
อีกจุดที่ต้องขอนำมาเล่าก็คือ มื้อเช้าที่โรงแรมจัดให้จะเน้นเสนอเป็นอาหารชามเล็กสไตล์จีนฮกเกี้ยน เสิร์ฟ พร้อมการวางขนมที่เพิ่งทำเสร็จและเหมาสดมาจากครัวของชุมชน
ข้อนี้นับว่าละเอียดอ่อนดีมาก เพราะถ้าอาหารของโรงแรมมาชามใหญ่ แขกอาจไม่มีที่ว่างในท้องเหลือสำหรับทานขนมที่ชุมชนผลิต
ลองคิดดูว่า ถ้าแขกไม่ค่อยมีใครหยิบขนมที่โรงแรมซื้อจากชุมชนเข้าปาก แล้วผู้บริหารโรงแรมจะยังซื้อขนมชุมชนมาวางให้แขกไม่ทานได้ไปอีกกี่นานหรือ…
เห็นมั้ยครับ ว่าจุดเล็กๆอย่างนี้ให้ผลแตกต่างกัน แม้บางโรงแรมอยากอุดหนุนสินค้าชุมชนด้วยความปราถนาดีก็ตาม
แต่ถ้าวิธีส่งต่อผลิตภัณฑ์จากชุมชนให้ถึงแขกไม่ได้ออกแบบให้ราบรื่น ในไม่ช้า สินค้าชุมชนก็คงปลิวหลุดออกจากโรงแรมไป เพราะนึกว่าแขกไม่ชอบผลิตภัณฑ์นั้น
ผมยังสังเกตเห็นด้วยว่า ขนมขบเคี้ยวในห้องนอนที่โรงแรมจัดไว้คราวนี้ ก็ไม่ใช่ขนมอบกรอบที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ แต่เป็นขนมอบของชุมชนที่มีรสชาติดี ทำโดยคุณป้าวัย70กว่าต่างหาก
ดังนั้นแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะอบอุ่นเอื้อเฟื้อขึ้นแยะ ถ้าเราสัมผัสได้ถึงความเอื้ออาทรที่ธุรกิจมีให้แก่สินค้า และอัตลักษณ์ของชุมชนที่ตั้งอยู่
อีกความน่ารักของชุมชนที่นี่คือ เขาตกลงกันที่จะให้สาวน้อยชาวภูเก็ต น้องแอนนี่ ซึ่งสูญเสียการมองเห็นโดยสิ้นเชิง ฝึกเล่นเครื่องดนตรีกู่เจิง อันเป็นเครื่องดนตรีโบราณของจีน รับบทเป็นผู้เล่นดนตรีต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของภูเก็ตเสมอมา
ผมเคยได้รับการต้อนรับโดยน้องแอนนี่หลายหนตั้งแต่ตอนเป็นรัฐมนตรี มารับแขกต่างประเทศที่ภูเก็ต และชื่นใจทุกครั้งที่เห็นชุมชนดูแลสมาชิกผู้พิการของตัว อย่างนุ่มนวลใส่ใจและให้เกียรติยิ่งเสมอ
นอกจากส่งเสริมกิจกรรมกันระหว่างโรงแรมในเมืองเก่าภูเก็ตกับชุมชนในย่านเมืองเก่ากันเองแล้ว นักวิจัยยังได้ชี้ชวนให้โรงแรมหลายแห่งเชื่อมกิจกรรมส่งแขกที่เข้าพักไปทำกิจกรรมท่องเที่ยวกับชุมชนที่อยู่แถบสวนมะพร้าว สวนสัปปะรด และสวนยางที่ชุมชนบ้านบางโรง บนเกาะภูเก็ตอีกด้วย
ชุมชนบ้านบางโรงนั้นอยู่ไม่ไกลนักจากสนามบิน แขกเหรื่อของภูเก็ตไม่ค่อยรู้จัก แม้มีผู้โดยสารหลายล้านคนผ่านเข้าออกจากสนามบินภูเก็ตในแต่ละปีปกติ
แต่เกือบทั้งหมดแล่นรถผ่านชุมชนเกษตรกรรมนี้ไปโดยแทบไม่ทันได้สังเกต
เพราะไม่ใช่วิวทะเล ไม่มีที่พักหรูๆ ไม่มีท่าเรือมารีน่า ที่นี่อยู่ใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาพระแทว ที่ผมเคยเล่าเรื่องศูนย์ปล่อยชะนีคืนสู่ป่านั่นเอง
แต่กิจกรรมชุมชนท่องเที่ยวที่นี่มีเสน่ห์ครับ
โดยลูกค้าสามารถซื้อแพ็คเกจครึ่งวันบ้าง หรือเต็มวันไปทำกิจกรรมในแปลงเกษตร ทดลองลงมือตัดเก็บสัปปะรดจากแปลงปลูกด้วยตนเอง สอยมะพร้าวลงจากยอดและฝึกปอกเปลือก ทำมะพร้าวกะทิบ้าง ขูดมะพร้าวกับกระต่ายขูด ทำเครื่องดื่มและขนมทานเองจากผลผลิตที่เจ้าตัวเก็บมาจากในสวน โดยมีเกษตรกรที่เป็นวิทยากรและมีกลุ่มแม่บ้านในชุมชนที่ชำนาญในแต่ละเรื่อง มาคอยช่วยหรือสาธิตและดูแลให้ได้รับประสบการณ์อย่างถูกต้อง ปลอดภัย
มีการพานักท่องเที่ยวทำงานศิลปะเขียนลายลงบนผ้าบาติก หรือแม้แต่พาเข้าสวนไปกรีดยางที่ต้นยางพารา
แม้ฟังดูจะเหมือนเป็นกิจกรรมพื้นๆ แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนเมืองส่วนมากและชาวต่างชาติส่วนใหญ่ไม่เคยสัมผัสอะไรแบบนี้เลย
เสียงหัวเราะขบขันตัวเองของนักท่องเที่ยวที่ทำอะไรในสวนอย่างเงอะงะนั่นแหละ ที่ช่วยทำให้กิจกรรมระหว่างครอบครัวและหมู่คณะเกิดความสุข แถมยังได้ช่วยกัน ได้แซวกันไปมา
ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มภาษา ศาสนาอะไร
เสียงหัวเราะก็เพราะเสมอในยามที่ปลดปล่อยความสุขออกมาท่ามกลางแมกไม้ ท้องฟ้า และเครื่องอุปกรณ์ทำสวนในมือที่ไม่คุ้นเคย
เกษตรกรวิทยากรและกลุ่มแม่บ้านได้รับการฝึกฝนจากอาจารย์นักวิจัยและภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้เป็นผู้สื่อความหมายอย่างมีศิลปะ มีวาทศิลป์ มีการจัดวางสิ่งของสาธิตให้ดูน่าสนใจ มีการจัดนิทรรศการกลางทุ่งและใต้ร่มไม้
พอได้ทำไปสักพัก ชาวบ้านบอกว่ารู้สึกภูมิใจในความมีคุณค่าของกิจวัตรที่ตนทำ ได้รับการยกย่องปรบมือโดยแขกลูกค้า ไม่ว่าจากนักท่องเที่ยวไทย หรือระหว่างประเทศ
การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์เหล่านี้ให้ทั้งค่าตอบแทนเป็นรายได้เสริมแก่ชุมชน ให้ศักดิ์ศรีและโอกาสนำเสนอตนเองของชุมชน
แถมได้ระบายผลผลิต เพราะผู้บริโภคมาบริโภคสดถึงที่สวน
ค่าขนส่งสินค้าจึงไม่ได้อยู่ที่คนปลูก แต่อยู่ที่คนกินเต็มใจจ่ายให้พามา
นักวิชาการและนักวิจัยเองจึงได้ทำหน้าที่’’ตัวเชื่อม’’ที่ทำให้ชุมชนชนบทกับชุมชนเมืองและภาคธุรกิจท่องเที่ยวในตัวเมืองมีจุดลงตัว กลายเป็นกิจกรรมร่วมในการรับการส่งทั้งบทบาทและร่วมกันส่งมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับแขกที่มาเยือนเกาะภูเก็ต
โดยเฉพาะตอนช่วงกักตัวโควิดที่ภูเก็ตในช่วงเเซนด์บอกซ์ ชาวต่างชาติสามารถออกนอกที่พักโรงแรมมาทำกิจกรรมได้ แต่ต้องไม่ออกนอกเกาะภูเก็ต ปรากฏว่า กิจกรรมที่พาชาวต่างชาติออกมาสอยมะพร้าว ตัดสัปปะรด และนั่งขูดมะพร้าวทำกะทิที่นี่นั้น ได้ช่วยทำให้การรอให้ครบเวลากักตัวในเกาะภูเก็ตเต็มไปด้วยสีสรรและรอยยิ้มจากทุกฝ่าย
ฝรั่งบางคนภูมิใจที่เพิ่งเคยได้สอยมะพร้าวลงมาจากต้นด้วยฝีมือตัวเอง ถึงกับขอเอามะพร้าวติดมือจะนำกลับประเทศไปประกอบภาพถ่ายตอนสอยมะพร้าวก็มี
ชาวต่างประเทศบางคนไม่เคยเห็นต้นสัปปะรดเป็นๆมาก่อน การได้ใช้มือจับที่จุกบนแล้วใช้มีดคมๆตัดให้ผลสัปปะรดขาดติดมือออกมาก็สามารถเป็นความทรงจำที่เขาไม่คาดคิด
การชูไม้ไผ่อันยาวที่มีตะขอเหมือนเคียวชูขึ้นไปตัดขั้วมะพร้าวออกจากทะลายให้ลูกมะพร้าวร่วงลงมาต้องใช้ทักษะที่อย่าว่าแต่ชาวต่างประเทศเลยครับ แม้คนไทยที่รู้จักมะพร้าวมาตั้งแต่เด็กอย่างผม ก็ยังอดขำตัวเองไม่ได้ในความเงอะงะในการเอาก้านไม้ไผ่อันยาวชูขึ้นจากพื้นไปปลิดขั้วให้ลูกมะพร้าวเป้าหมาย คือต้องเป็นลูกที่สีออกจะเริ่มน้ำตาลหลุดลงมาให้ได้
เพราะการถือไม้ไผ่ยาวขนาดนี้ไม่ใช่กิจที่เราคุ้นมือในชีวิตประจำวันของพวกเรา
เรื่องง่ายๆพื้นๆในสายตาเรา สามารถถูกจัดเรียงให้กลายเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ให้ความประทับใจแก่แขกผู้มาเยือนได้อย่างสนุกสนาน โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นฐานล้วนๆ
นี่แหละครับที่เรียกว่า ‘’ ทำน้อยแต่ได้มาก ‘’อีกแบบหนึ่ง
พิธีส่งมอบผลงานวิจัยให้กับผู้บริหารภูเก็ตจัดขึ้นที่ลานหน้าอาคารโบราณ ชื่อภูเก็ตไทยหัว ตอนใกล้ค่ำ นักวิจัยต่างได้ขึ้นเวทีกล่าวรายงานผลงานแต่ละมิติโดยสรุป
มีโกจง คุณชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อุตส่าห์บินมาฟัง และขึ้นกล่าวบนเวทีถึงผลและประโยชน์จากงานวิจัยที่แวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งที่ภูเก็ตและเมืองอื่นๆจะได้รับ ทั้งจากสาระและวิธีทำงานจากตัวอย่างที่นักวิชาการร่วมวิจัยกับผู้มีประสบการณ์ของแต่ละชุมชน โดยมีภาคสมาคมและธุรกิจท่องเที่ยวผนึกกำลังเชื่อมกันด้วยตั้งแต่เริ่ม
หลังกิจกรรมเวทีจบลง เจ้าภาพจัดให้มีการเดินแฟชั่นด้วยชาวภูเก็ตทุกรุ่นอายุตัวจริงเสียงจริงที่พากันแต่งอาภรณ์แบบบาบ๋ากันมาอย่างภาคภูมิใจ ปิดท้ายด้วยการเชิญนางสาวไทยปีล่าสุด น้องมานิตา ดวงคำ ฟอร์เมอร์ ซึ่งเป็นชาวภูเก็ตมาร่วมเดินในชุดอันสง่างามของวัฒนธรรมเปอรานากัน ของย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วย
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต คุณณรงค์ วุ่นซิ้ว และท่านนายกรัฐมนตรีนครภูเก็ตคุณสาโรจน์ อังคณาพิลาส ต่างขึ้นกล่าวต้อนรับในฐานะเจ้าบ้าน และแสดงความเห็นว่าเมืองและจังหวัดจะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้ต่อไปเช่นไร
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอธิบายเป็นอุปมาว่า ภูเก็ตต้องเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม ไม่ให้กลายเป็นบ้านเสาเดียวราวศาลพระภูมิที่อาจถูกคลื่นมากระทบสั่นคลอนง่าย แต่ควรมีหลายเสาอย่างบ้านเรือนที่ช่วยพยุงกัน ส่งกำลังถึงกัน แล้วจึงจะมั่นคงกว่า และกันอยู่สุขสบายใจยิ่งกว่าเดิม
นับว่าท่านเปรียบได้เข้าใจง่ายแถมยังคมคายด้วย
ค่ำคืนงานพิธีส่งมอบงานวิจัยชุดนี้จึงมีทั้งเรื่องอาภรณ์ อาหาร อาคาร อากาศ อารมณ์ และมีน้องแอนนี่มาบรรเลงกู่เจิง ตามด้วยมีครูหุ่นเชิดจีนโบราณมาสาธิตการแสดงที่นานๆจึงจะมีโอกาสได้เห็น
ปิดจบงานในค่ำนั้นอย่างสมบูรณ์สร้างประกายความหวังครับ
ภูเก็ตเมืองเก่าได้เป็นอีกต้นแบบที่เมืองอื่นๆในไทย อาจนำไปศึกษาเพื่อสร้างเสน่ห์ให้เมืองเก่าของตัวได้ทีเดียว
การสนับสนุนเปิดพื้นที่ให้นักวิชาการไปทำงานร่วมกับภาคชุมชนและประชาคมธุรกิจ กลับมานำเสนอนั้น
สามารถทั้งเพื่อให้เราแข่งขันได้แม่นขึ้น…
และช่วยเราให้แบ่งปันกันได้คมยิ่งกว่าเดิม
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร