ประชุม APEC 2022 ภายใต้ธีม เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกันสู่สมดุล (Open. Connect. Balance)

เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๒ โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกจำนวน ๒๑ เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยไทยเป็นหนึ่งใน ๑๒ เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง ทั้งนี้ เอเปคมีประชากรรวมกว่า ๒,๙๐๐ ล้านคน หรือประมาณ ๑ ใน ๓ ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า ๕๓ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก

กลไกการทำงานของเอเปคแบ่งการดำเนินงานออกเป็นระดับต่าง ๆ ดังนี้

๑. ระดับนโยบาย

  ๑.๑ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting หรือ AELM)

  ๑.๒ การประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting หรือ AMM)

  ๑.๓ การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting หรือ MRT)

  ๑.๔ การประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค (APEC Finance Ministerial Meeting หรือ FMM)

  ๑.๕ การประชุมรัฐมนตรีสาขาต่าง ๆ (Sectoral Ministerial Meetings)

๒. ระดับปฏิบัติ

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting หรือ SOM) ซึ่งกำกับดูแลผลการประชุมของคณะกรรมการหลัก ๔ เสาคือ (๑) คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment หรือ CTI) (๒) คณะกรรมการด้านงบประมาณและการบริหาร (Budget and Management Committee หรือ BMC) (๓) คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ (Economic Committee หรือ EC) และ (๔) คณะกรรมการว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Steering Committee on Economic and Technical Cooperation หรือ SCE) และมีการประชุมระดับคณะทำงานอีกจำนวนมากภายใต้คณะกรรมการทั้งสี่

๓. สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council หรือ ABAC) ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คู่มือเอเปคหัวข้อหลัก (Theme) และประเด็นสำคัญ (Priorities) ที่ไทยผลักดันในการเป็นเจ้าภาพเอเปค

หัวข้อหลักของเอเปค ๒๕๖๕

การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕ มีพลวัตและความท้าทายแตกต่างจากเมื่อครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพฯ ในปี ๒๕๔๖ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวการณ์โควิด-๑๙ ที่เอเปคกำลังปรับตัวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ ๆ ไทยจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในยุคหลังโควิด-๑๙ อย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน โดยกำหนดหัวข้อหลักคือ Open. Connect. Balance. หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-๑๙ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม เชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทั้งนี้ ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้

เอเปคและไทย ประโยชน์ของไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปค

การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหลายมิติ โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพ

การประชุมของไทยท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-๑๙ ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นการฟื้นฟูการเดินทางและทำธุรกิจแบบพบหน้า และยังเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงความพร้อมว่าไทยสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดได้โดยยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พร้อมกัน ประเด็นที่ไทยมุ่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมและเป็นผลลัพธ์ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ

ในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ในบริบทของ

การเจริญเติบโตหลังโควิด-๑๙ ที่จะต้องยั่งยืนและสมดุล และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน (๒) ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไก APEC Safe Passage Taskforce เพื่อหารือแนวทางที่ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย อาทิ การอำนวยความสะดวกอาชีพสำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้ Public Key Infrastructure ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางกว้างขึ้น และ (๓) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในเอเปค ด้วยการจัดทำเอกสารผลลัพธ์ระดับผู้นำเพื่อเร่งการพัฒนาตามแผนงานของเอเปคไปสู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลในยุคหลัง โควิด-๑๙ ตามแนวคิด BCG Economy

สาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญในปี ๒๕๖๕ สาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญในปี ๒๕๖๕ ประกอบด้วย

– ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน

ไทยจะผลักดันการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ MSMEs ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมการหารือเชิงนโยบายการค้าระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและ ข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP หลังยุคโควิด-๑๙ รวมถึงการ

สานต่อการดำเนินงานตามปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นปี พ.ศ. ๒๕๖๓ (Declaration on Facilitating the Movement of Essential Goods) แถลงการณ์ห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโควิด-๑๙ (Statement on COVID-19 Vaccine Supply Chains)และแถลงการณ์การบริการเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็น (Statement on Services to Support the Movement of Essential Goods)

ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting) ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕

ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and  Central Bank Deputies’ Meeting: APEC FCBDM) ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials’ Meeting: APEC SFOM) ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ และการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕

– ความร่วมมือด้านการเกษตร

ไทยจะผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ควบคู่กับนโยบาย “3S” ได้แก่ Safety ความปลอดภัยของอาหาร Security ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และ Sustainability ความยั่งยืนของภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปค นอกจากนี้ ไทยในฐานะประธานหุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงอาหาร

เอเปค (APEC Policy Partnership on Food Security: PPFS) จะมีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนปฏิบัติการของแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ. ๒๐๓๐ (APEC Food Security Roadmap Towards 2030 Implementation Plan) เพื่อให้เขตเศรษฐกิจสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร

ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค (APEC Ministerial Meeting on Food Security) ในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส

เอเปค ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๗ – ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นการพบกันของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการเกษตรและอาหารของเขตเศรษฐกิจ

เอเปค เพื่อหารือประเด็นสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารในภูมิภาคอย่างยั่งยืน 

– ความร่วมมือด้านป่าไม้

ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ ๕(5th APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry)ช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ เพื่อเป็นเวทีให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านป่าไม้ของเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ร่วมหารือและกำหนดทิศทางการส่งเสริมการดำเนินงานด้านป่าไม้ในภูมิภาค โดยไทยจะผลักดันการใช้นวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ และเปลี่ยนข้อได้เปรียบให้เป็นความสามารถในการแข่งขัน กระจายรายได้สู่ชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรป่าไม้ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนเข้มแข็งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจ BCG

นอกจากนี้ จะมีการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการต่อต้านการ

ค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (Experts Group on Illegal Logging and Associated Trade) โดยไทยจะใช้โอกาสใน

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ผลักดันการจัดทำเครื่องมือที่เหมาะสมในการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกกฎหมาย และต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น การรับรอง (Certificate) การตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (Timber Legality Assurance System) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมป่าไม้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เป็นต้น

– ความร่วมมือด้านกิจการสตรี

ไทยจะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจของสตรีในยุคหลังโควิด-๑๙ และยุคดิจิทัล โดยจะนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตที่สมดุลและครอบคลุม มุ่งเน้นการดำเนินงานด้านสตรีที่ยึดโยงกับแนวทางขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลา เซเรนาเพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth)  นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันการสร้างเครือข่ายสตรีผู้ประกอบการ BCG ไทยไปขยายผลในเอเปค เพื่อส่งเสริมบทบาท และสร้างโอกาสให้กับสตรีผู้ประกอบการ BCG ของไทยในระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ไทยจะจัดประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ (APEC Women and the Economy Forum: WEF) และ (High-Level Policy Dialogue on Women and the Economy: HLPDWE)  ในช่วงเดือนกันยายน ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นกลไกในการเสริมพลังสตรีและเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคเอเปค ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสริมการลงทุนด้านโภชนาการ สุขภาพ และการศึกษาของเด็กมากยิ่งขึ้น

– ความร่วมมือด้านการส่งเสริม MSMEs

ไทยจะจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “Ready for the ‘Next Normal’: How MSMEs should adapt to an evolving market landscape” เพื่อหารือข้อมูล

เชิงลึกเกี่ยวกับตลาดสำหรับ MSMEs ในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โดยจะแสวงหากลไกสนับสนุน MSMEs ให้ฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนและครอบคลุม นอกจากนี้ ไทยได้จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ MSMEs เพื่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ครอบคลุมและยั่งยืน: การลดขยะภาคอาหารในห่วงโซ่อุปทาน” เมื่อวันที่ ๑๓ – ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไทยขับเคลื่อนภายใต้ ยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม (APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs) และสอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในการขับเคลื่อนเอเปค ๒๕๖๕ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (APEC SME Ministerial Meeting) ระหว่างวันที่ ๕-๑๐ กันยายน ๒๕๖๕

– ความร่วมมือด้านสาธารณสุข

ไทยเสนอให้หัวข้อหลัก (Theme) ของการประชุมคณะทำงานด้านสุขภาพของเอเปค (APEC Health Working Group: HWG) ในปี ๒๕๖๕ คือ “Open to Partnership. Connect with the World. Balance Health and the Economy.” โดยจะมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่

(๑) ด้าน Open to Partnership จะขยายการสร้างสัมพันธ์กับองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในประเด็นด้านการแพทย์ และสาธารณสุข

(๒) ด้าน Connect with the World จะจัดทำเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้อจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเปคและหลักฐานการได้รับวัคซีน และการพัฒนามาตรฐานการใช้งานร่วมของระบบแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-๑๙ (Interoperability of Vaccination Certificates) ระหว่างเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค และ

(๓) ด้าน Balance Health and Economy จะจัดทำแถลงการณ์ร่วมของการประชุม 12th High-Level Meeting on Health and the Economy ซึ่งไทยจะผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ควบคู่กับการส่งเสริมประเด็นการเพิ่มการลงทุนด้านความมั่นคงทางสุขภาพ (health security) และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข (digital health) เพื่อลดผลกระทบของภัยคุกคามทางสุขภาพต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 12th High-Level Meeting on Health and the Economy ในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ ในช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นการพบปะระหว่างเขตเศรษฐกิจ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือประเด็นสำคัญด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ที่มา : https://www.apec2022.go.th/