เกษตรเชียงใหม่ ดัน อ.กัลยาณิวัฒนา “กาแฟรักษ์ป่า” สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

“เกษตรเชียงใหม่ปักหมุดอำเภอกัลยาณิวัฒนากาแฟรักษ์ป่าสร้างรายได้อย่างยั่งยืน”

วันที่27 มกราคม 2566 เวลา 09.00น. นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานพิธีเปิดการอบรม โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟเพื่อความยั่งยืน โดย นางสาวศันสนีย์ ศรีวิชัย รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอ ณ. วัดบ้านห้วยปู หมู่ที่ 5 ต.แม่แดด อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเกษตรกร ให้มีความรู้และทักษะในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการพัฒนาคุณภาพผลผลิต การแปรรูป การเพิ่มมูลค่าสินค้ากาแฟให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยได้รับเกียรติจาก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ และจากหน่วยงานศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ให้สนับสนุนบุคลากรในหน่วยงาน ได้ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในการอบรมในครั้งนี้

กาแฟ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย ที่ทำรายได้ให้เกษตรกรปีละประมาณ 5,500 ล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมา ตลาดกาแฟมีการขยายตัวอย่างมาก ทำให้ความต้องการใช้เมล็ดกาแฟในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ผลผลิตกาแฟในประเทศที่มีคุณภาพกลับไม่เพียงพอต่อความต้องการด้วย เกษตรกรผู้ปลูก ยังคงมีข้อจำกัดด้านขั้นตอนการผลิตที่มีรายละเอียดจำนวนมาก ขาดความรู้ในการบำรุง ดูแลรักษาต้นกาแฟและผลผลิตกาแฟ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ถูกต้องเหมาะสมซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง ไปสู่การเป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาด

เกษตรอำเภอกัลยาณิวัฒนา กล่าวว่าสำหรับในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนานั้น มีความได้เปรียบด้านภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่สูงจากระดับน้ำทะเล 900 – 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปีเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า โดยรวมมีพื้นที่ปลูกกาแฟ 743 ไร่เกษตรกร 425 รายและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่กว่าปีละ 10.5 ล้านบาทนับเป็นพืชที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เชื้อสายชาติพันธุ์ปากาเกอะญอ ได้รวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟซึบรีดีที่สมาชิกปลูกกาแฟในระบบ วนเกษตร จำหน่ายทั้งเชอรี่ จนถึงกาแฟเมล็ดคั่วกิโลกรัมละประมาณ 1,000 บาท การพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟให้พร้อมต่อการแข่งขัน จึงเป็นเรื่องจำเป็น ที่เกษตรกรผู้ปลูก และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งช่วยกันส่งเสริม สนับสนุนยกระดับผลผลิตกาแฟให้มีคุณภาพสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าของประเทศได้อีกด้วย