13มีค.2564 ที่จะมาถึงเป็นวันช้างไทย….อีกครั้ง
ปางช้าง เป็นกิจการที่ลำบากที่สุดกิจการหนึ่งในปีโควิดที่ผ่านมา
ลูกค้าต่างชาติปกติที่มาเยือนปางช้างหายเกลี้ยงเพราะเดินทางมาไม่ได้
ส่วนลูกค้าไทยที่จะไปปางช้างก็ยังมีน้อยเกินกว่าจะทดแทนกันได้
ช้างที่ปางเช่ามา ช้างที่มาอาศัยปางอยู่ ช้างที่เจ้าของเองก็ตกงาน จึงออกจากปาง เดินทางไกลรอนแรมกลับถิ่นเดิม
ขอไปตายเอาดาบหน้า
ยังดีที่หน้าฝนที่ผ่านมา ผักหญ้าริมทางและตามชายป่าเกิดแตกใบพอมีให้ประทังมาได้
และบัดนี้เข้าถึงฤดูแล้งแล้ว
แต่โควิดก็มาระลอกใหม่อีกแล้วเช่นกัน
ผักหญ้าชายป่าจะมีเหลือได้อีกไม่นานยิ่งถ้ามีการเผาเตรียมแปลงปลูก ย่อมจะยิ่งอัตคัดใหญ่
การจะดูแลให้ช้างเลี้ยงมีหญ้า มีต้นข้าวโพดสดกินในฤดูแล้งนั้น
ปกติจะต้องมาจากการซื้อหาครับ
ช้างแต่ละเชือกกินอาหารราว10%ของน้ำหนักตัวมัน หรือเฉลี่ยกินวันละ200-300กิโลกรัม
แต่ถ้าช้างกินต้นข้าวโพดกับหญ้าอย่างเดียว เค้าจะขาดวิตามิน แล้วในที่สุดก็จะอ่อนแอ ท้องอืด เจ็บป่วย ไม่สบาย การส่งหยูกยาไปให้ถึงช้างก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบัดนี้ช้างกระจายออกนอกปาง ไม่ได้อยู่รวมกัน ไม่มีที่อยู่ที่ชัดเจนแน่นอน คนเลี้ยงจึงจะต้องเสาะหาอาหารเสริมอย่างผลไม้ต่างๆที่พอหาได้มาเติมให้ด้วย
อาหารเสริมนั้นราคายิ่งแพงกว่าหญ้าที่ก็หาเริ่มหายากขึ้นอยู่แล้ว
ในเมื่อเงินที่เคยได้จากนักท่องเที่ยวมาเลี้ยงทั้งช้างทั้งคนเลี้ยงช้างหายไปตลอดปีที่ผ่านมา
ปี2564นี้ จึงเป็นไปได้มากที่เราจะต้องทนเห็นช้างอดโซ ช้างป่วยแล้วไม่ได้เข้าถึงสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ช้างออกมาเดินขายของ ขอรับเงินบริจาค หรือรับจ้างทำอะไรที่ไม่ควรต้องให้ช้างทำ
ช้างไม่มีประกันสังคม ไม่มีกองทุนเงินทดแทน ไม่มีเงินสงเคราะห์ ไม่มีเงินชดเชยใดๆ และส่วนใหญ่ ควาญที่ดูแลก็ไม่มีสวัสดิการอะไร
และช้างเลี้ยง ไม่มีเสียงในระดับนโยบาย เพราะถูกมองว่าเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงตามพรบ.สัตว์พาหนะ ซึ่งมีเพียงกรมการปกครองกำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนรูปพรรณ เพื่อป้องกันการสวมช้างป่าเข้ามา แปลว่าพรบ. สัตว์พาหนะ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองช้างเลี้ยง
ส่วนพรบ.โรคระบาดสัตว์ ของกรมปศุสัตว์ก็มีไว้คุ้มครองสังคมจากโรคระบาดในสัตว์ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือช้างตกงาน
พรบ.ป้องกันการทารุณสัตว์ก็เอามาใช้ในกรณีช้างตกทุกข์ได้ยากจากสภาพตกงานจากธุรกิจท่องเที่ยวไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะเจ้าของไม่ได้กำลังทารุณช้าง
กรมอุทยานฯและกรมป่าไม้เองมีภารกิจคุ้มครองป่าและช้างป่า แต่ไม่สามารถข้ามไปดูแลช้างเลี้ยงซึ่งเป็นทรัพย์สินของเอกชน
ถ้าข้ามไปทำก็มีหวังโดนวินัยราชการ เพราะกฏหมายแม่บทของหน่วยไม่ได้ให้ไปทำ
ช้างเลี้ยง 3พันเชือกของไทย จึงขาดเจ้าภาพอย่างรุนแรง
ยิ่งในภาวะโควิดระบาด ภาวะเศรษฐกิจอ่อนพลัง ชุมชนกำลังอ่อนล้า เมืองต่างๆไม่สนับสนุนให้เดินทางโดยไม่จำเป็น
แล้วใครจะไปเยี่ยมช้างล่ะครับ
พืชพรรณอาหารช้างหายาก เจ้าของช้างแม้จะรักช้างเพียงใด ก็ต้องลำบากแน่ในการหาให้ช้างแสนรู้และแสนรักมีกินทุกวัน
ที่จริงคนเลี้ยงดูช้างก็พลอยตกงานไปด้วย..ปากท้องของลูกเมียก็ต้องดูแล
“สมาคมสหพันธ์ช้างไทย”จึงพยายามมาตลอดปีในการรณรงค์รับบริจาค และจัดระบบส่งต่อความช่วยเหลือ ทั้งทางด้านอาหารช้าง ยาของช้าง จัดหมอและพาหนะรับส่งช้างออกไปช่วย
ท่านผู้อ่าน สามารถกดติดตามพวกเค้าทางออนไลน์ได้ไม่ยาก ที่ เวปไซต์ของสมาคม หรือจะทางเฟสบุ๊ค แค่กดค้นหาคำว่า สมาคมสหพันธ์ช้างไทย ก็จะเจอครับ
ผมได้ติดตามสถานการณ์ของการช่วยเหลือช้างเลี้ยงมาตลอดหนึ่งปีของโควิด ต้องขอชมเชยยกย่องบรรดาเจ้าของช้างทั่วไทยว่า ทุกคนพยายามสุดกำลังไม่ให้ช้างของตัวต้องอดอยากมาตลอดจะครบปี ทั้งที่ไม่มีรายได้ หรือเงินชดเชย
แต่บัดนี้ ทราบมาว่าคนเลี้ยงช้างทั้งหมด ”ตึงมือ”เต็มที่แล้วครับ
ช้างเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติ..ช้างเป็นส่วนสำคัญทั้งในวิถีชาวบ้านและในศาสนา
และในอีกสามเดือนก็จะถึงวันช้างไทย 13 มีนาคมอีกแล้ว
เราจะทำให้13มีนา เป็นวันที่มาทันช้างรอด หรือวันช้างอด ก็อยู่ที่เราจะช่วยกันได้แค่ไหน
ใครมีแรง มีพลัง มีทรัพย์ มีพืชผลไม้ ผักหญ้าอาหารช้าง มียา มีรถช่วยส่งของ ส่งยารักษา ก็จำต้องขอแรงขอทรัพย์จากท่านในการบริจาคช่วยช้างให้รอดกันในปีนี้ละครับ
เท่าที่เคยเข้าไปติดตามสำรวจกิจวัตรของการเลี้ยงดูแลช้างบ้านที่ออกกระจายกันไปแล้วนี้
สิ่งที่พอจะช่วยได้เวลานี้คงเป็น
1.การชวนประชาชนที่ยังพอมีกำลังบริจาคเงิน บริจาควัสดุหรือผลผลิตเหลือจากการเก็บเกี่ยวที่ช้างหรือผู้เลี้ยงจะใช้ประโยชน์ได้ เช่นใช้เป็นฟืน เป็นวัสดุทำโรงเรือนหรือที่พักหลบแดด เป็นต้นซึ่งcenter ด้านนี้มีขึ้นแล้วโดยการใช้สมาคมสหพันธ์ช้างไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่เชียงใหม่เป็นเสมือนองค์กรกลางที่จะมีข้อมูลติดตามในช่วงโควิดในปีที่ผ่านมาว่าบัดนี้ช้างที่ออกจากปาง ไปลงเอยที่ตำบลไหนบ้าง ทรัพยากรที่บริจาคเข้าไปที่สมาคมก็จะถูกแบ่งส่งไปอีกทอด มีรายงานกำกับตลอดว่าถึงช้างที่ไหนบ้าง
ช้างเลี้ยงของไทยมีราว3พันเชือก มีอยู่ในเชียงใหม่ถึงเกือบ1ใน3ในช่วงก่อนหน้าโควิด19 และบัดนี้กระจายออกจากแหล่งที่เป็นปางช้างในเชียงใหม่ไปบ้างแล้ว
ดังนั้นถ้าที่ใดเห็นว่าสะดวกที่จะทำการช่วยเหลือโดยตรงกับช้างเลี้ยงในระดับพื้นที่ที่ตนคุ้นเคยก็ทำได้เลยเช่นกัน
2.รัฐควรสนับสนุนให้แก้ไขหรือยกเว้นกฏระเบียบชั่วคราวของทางการเพื่อช่วยในเหตุพิเศษแบบปีนี้ เช่นการใช้เงินงบกลางของรัฐ การใช้ทรัพยากรหรือสถานที่ของราชการ รัฐวิสาหกิจเพื่อเอื้อเฟื้อแก่ช้างเลี้ยง การจัดที่พักริมน้ำ ที่ดินที่มีแหล่งน้ำให้ใช้พักพิงชั่วคราว ที่ปลูกพืชอาหารช้างชั่วคราวเพื่อประทังไปก่อน พื้นที่ทำดินโป่ง พื้นที่สำหรับแยกช้างที่เข้าภาวะตกมันที่ไม่ควรมีการรบกวน พื้นที่เพื่อให้แม่ช้างเลี้ยงลูกอ่อนอย่างปลอดภัย
3.เครือข่ายหรือผู้ประกอบการของผู้ที่มีความชำนาญด้านการสื่อสารออนไลน์หากมีระบบจิตอาสาภาคสังคมที่จะเวียนมาช่วยขับรถส่งหรือรับหมอช้าง ไปหาช้างตามที่ห่างไกล มีการฝากขับรถส่งอาหารไปให้ตามโอกาส ในแต่ละเขตจะช่วยลดต้นทุนของการขนส่งเดินทางเพื่อช้างได้อีก
4.การสนับสนุนให้ใช้งบเจียดจ่าย งบเหลือจ่ายของ องค์กรท้องถิ่นมาสนับสนุนเท่าที่ระเบียบเปิดให้ ได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกชี้ว่าผิดหน้าที่ผิดหลักปฏิบัติโดยหน่วยตรวจสอบต่างๆ
5.การจัดชวนให้เจ้าของสวน สหกรณ์การเกษตร พ่อค้าแม่ค้าบริจาคพืชอาหาร บริจาคผักผลไม้ตกเกรดจากตลาดค้าส่ง ตลาดชุมชน ตลาดเอกชนที่ยังพอใช้เป็นอาหารช้างในพื้นที่ได้ จะเป็นประโยชน์อย่างสำคัญ แต่พึงระวังเรื่องสารกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลงตกค้างให้ด้วย แม้ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ แต่ก็เปราะบางต่อสารพิษมากๆ
6.ขอเชิญชวนให้วัดต่างจังหวัดต่างอำเภอที่มีช้างอพยพมาอยู่ใกล้ๆก็อาจเปิดโรงทานสำหรับให้เจ้าของช้างมารับของรับทานจากอุบาสกอุบาสิกาได้บ้าง เป็นต้น
อาจฟังดูเยอะหน่อยนะครับ
แต่ช้างเลี้ยงเป็นสัตว์ที่มีกำลังมาก ทานน้ำทานอาหารเยอะ และมีลักษณะนิสัยที่อยู่ระหว่างความเป็นสัตว์ป่ากับการเป็นสัตว์เลี้ยง เวลานี้ผู้ดูแลประจำที่พาช้างรอดมาได้ในปีที่ผ่านมาจะรู้จักช้างของตนดีที่สุด ว่าอ่อนไหวต่อเรื่องอะไรในช่วงปีที่ผ่านมา
เลยต้องพยายามช่วยทั้งคนเลี้ยงและช่วยช้างไปพร้อมๆกัน
ท่าทางช้างเลี้ยงจะยังตกยากไปถึงหน้าฝนใหม่แน่ครับ
ส่วนคนเลี้ยงนั้นเท่าที่สัมผัสก็ไม่มีเวลาไปทำงานรับจ้างอะไรตราบเท่าที่ไม่มัดช้างให้อยู่กับที่ ลำพังออกหาอาหารและน้ำมาเลี้ยงให้ช้างได้กินก็หมดวัน
แถมถ้าปล่อยคนเลี้ยงที่มีความรู้ให้ต้องห่างช้างไปนานเกินควรก็ยังจะเป็นอันตรายถ้าช้างเครียด ช้างป่วย ช้างหลายเชือกมีบุคลิกเฉพาะตัว บ้างหวงของ บ้างหวงเพื่อน บ้างหวงตัว บ้างหวงลูก
ถ้าถูกมัดเลี้ยงหรือฝากเลี้ยงนานเกินควร อาจเป็นเหตุให้เกิดเรื่องที่น่าเศร้าได้
อันนี้เล่ามาเพื่อให้เห็นภาพ และอาจเลือกสนับสนุนช่วยเหลือในเฉพาะสิ่งที่แต่ละฝ่ายจะพอเอื้อได้เท่านั้นนะครับ
เพราะดูเหมือนปัญหาจริงๆคือสังคมเราขาดหน่วยเจ้าภาพของเรื่องช้างเลี้ยงนี่เองครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร