วุฒิสภา ผ่านวาระ 3 ร่างข้อบังคับ แก้อำนาจกมธ.

วุฒิสภา เห็นชอบวาระ 3 ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา แก้ไขจำนวน องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญ ให้สอดคล้องกับการสิ้นสุดภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ

วันที่2 ก.ย.67 ระหว่างการประชุมวุฒิสภาที่มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นรายมาตรา จำนวน 7 มาตรา ในวาระที่ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว

ก่อนท้ายที่สุดวุฒิสภาจะมีมติเห็นด้วย 148 เสียง ไม่เห็นด้วย 20 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียงไม่มี เห็นชอบวาระ 3 ต่อร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาฉบับดังกล่าว พร้อมเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างฯ วุฒิสภา

สำหรับความสำคัญของร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นี้เกิดขึ้นเนื่องจากข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้กำหนดขึ้นเพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล ซึ่งมี สว. จำนวน 250 คน มีภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ

แต่วุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลดังกล่าวได้สิ้นสุดลง เมื่อ สว.ชุดใหม่ซึ่งได้รับการเลือกตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญและเข้าปฏิบัติหน้าที่แล้ว ด้วยจำนวนสมาชิก 200 คน ประกอบกับหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลสิ้นสุดลงด้วย

จึงสมควรปรับปรุงจำนวน องค์ประกอบ ตลอดจนหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา รวมทั้งจำนวนคณะอนุกรรมาธิการ ให้มีความเหมาะสมกับจำนวน สว. และภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

จึงตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ขยายขอบหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

โดยรวมภารกิจของคณะกรรมาธิการสามัญที่มีความคล้ายคลึงและสอดคล้องเข้าไว้ด้วยกัน เป็นจำนวน 21 คณะ จากเดิมมีจำนวน 26 คณะ เพื่อเป็นการบูรณาการให้การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาเป็นเอกภาพแบบไม่แยกส่วน ลดความซ้ำซ้อน ทำให้จำนวนคณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการลดลง โดยกำหนดให้คณะกรรมาธิการสามัญแต่ละคณะ ตั้งคณะอนุกรรมาธิการได้ไม่เกิน 3 คณะ คณะละไม่เกิน 12 คน

ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน เกิดความคุ้มค่า ในขณะที่วุฒิสภายังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สัมฤทธิผล และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน

ทั้งนี้ ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตาม ก่อนที่วุฒิสภาจะส่งร่างฯ ไปนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากมี สว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือ 20 คน เห็นว่าร่างฯ ฉบับนี้มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ สามารถเสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยต่อไปได้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยจะรอการส่งร่างฯ ไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไว้เป็นเวลา 5 วัน