วันนี้ (13 พ.ย. 67) มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และสมาคมแทรชฮีโร่ไทยแลนด์ ในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมกว่า 160 องค์กร ยื่นแถลงการณ์ถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้รัฐบาลไทยแสดงออกจุดยืนที่เข้มแข็งในสนธิสัญญาพลาสติกโลก ก่อนถึงการเจรจารอบสุดท้ายระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-1 ธ.ค.นี้ ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
นางสาวพิชามญชุ์ รักรอด กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยว่าเราตั้งเป้าลดการผลิตพลาสติกทั้งโลกให้ได้ประมาณ 75% ภายในปี 2583 คาดหวังว่าการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกที่เมืองปูซาน จะให้การสนับสนุนแบนพลาสติก ห้ามหรือจำกัดใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์บางชนิด โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน ชุมชน และสังคม เราอยากให้โลกใบนี้ก้าวข้ามไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องการใช้ซ้ำ ซึ่งถือเป็นการจัดการมลพิษที่ยั่งยืน
นางสาวศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าเราเห็นความพยายามของภาครัฐที่จะควบคุมมลพิษ ทั้งแผนปฏิบัติการ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม แต่ปัจจุบันไทยเน้นไปที่การแยกขยะเพื่อรีไซเคิล ซึ่งเป็นการจัดการที่ปลายทาง ทั้งที่พลาสติกมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าสนธิสัญญาพลาสติกโลก เกิดขึ้นเมื่อปี 2565 ที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติสมัยที่ 5 (UNEA 5) มีมติเห็นชอบร่วมกับ 175 ประเทศสมาชิก ให้จัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายให้เพื่อแก้ปัญหามลพิษพลาสติก ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2567
สนธิสัญญาพลาสติกโลก มีจุดมุ่งหมายหลักคือ การยุติปัญหามลพิษพลาสติกที่ไร้พรมแดน โดยมีการประชุมเพื่อร่างสนธิสัญญาฉบับนี้มาแล้ว 4 ครั้ง และการเจรจาที่เมืองปูซาน จะเป็นการเจรจาครั้งสุดท้าย สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ประการ มีดังนี้
1.ลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนต่อการบริโภคและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการผลิต และการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก และสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้
2.กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
3.กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซมที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน
4.กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมาย และขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลได้
5.กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมถึงรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกสู่สาธารณะ
6.กำหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกแต่ต้นทาง กำหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
7.ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น
8.ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทศในโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา
8.กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก
10.กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าว TPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์วัฏจักร