บทความตอนที่แล้ว วางน้ำหนักการเล่าถึงทีมราชการของจังหวัดลำปางภายใต้การนำของผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากรหรือผู้ว่าหมูป่า
บทความตอนนี้วางสาระที่บทบาทอันน่าทึ่งของภาคชุมชนในการดูแลป่า ป้องกันไฟป่า
ชุมชนบ้านต้นต้อง เคยต้องทนกับควันไฟที่มีใครต่อใครจุดเผากันทุกปี ทั้งที่เผาในไร่และเผาในป่า ทั้งที่เผาในไร่ที่รุกป่า ทั้งที่เผาเพราะเชื่ออะไรมาผิดๆว่าจะทำให้หาของป่าง่ายขึ้น หรือจะมีเห็ดป่าผักป่าแตกยอดใหม่มาให้เก็บเยอะขึ้น
แต่เมื่อชาวบ้านต้นต้อง ระดมสื่อสารชักชวนกันเพื่อที่จะไม่ต้องช้ำใจกับการสูญเสียความสมบูรณ์ของป่าชุมชนที่ตัวได้พึ่งได้ใช้
สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป
ปี2554ที่คนภาคกลางเจอน้ำท่วมใหญ่ ชาวบ้านต้นต้องหันมาเอาจริงเอาจังกับการทำฝาย เพื่อรักษาความชื้นให้อยู่กับดินและป่าชุมชน1,500ไร่ ที่ดูแลอย่างเต็มที่ โดยไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือจากภายนอกด้วยซ้ำ
การทำฝายก็ได้อาศัยวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ ใช้ดินใช้หิน ใช้ไม้ไผ่ ใช้กิ่งไม้ ใช้ปี้ป ใช้ปูน ใช้อะไรสารพันที่พอจะนำมาทำฝายได้จนกลายเป็นมหกรรมกลางใจของชาวบ้านต้นต้อง
ขนาดที่ว่าพรุ่งนี้ชุมชนมีแผนจะไปทำฝายที่ข้างกอต้นไผ่บนภูเขา
แต่พอเช้าถือจอบพากันเดินขึ้นไปถึง ก็พบว่ามีใครไม่รู้มาสร้างฝายเสร็จไปเมื่อก่อนสว่างแล้ว…??
สืบถามกันจึงได้รู้ว่ามีลูกบ้านบางคนตื่นเต้นชอบการทำฝายถึงขนาดที่นอนไม่หลับ จึงจุดคบจุดไต้พกไฟฉายเดินขึ้นเขามาทำฝายเสียเองกลางดึก ทำไปจนเสร็จกลับบ้านไปนอนหลับสบายใจสมอยาก ก่อนสว่าง!
นายกฯอบต.ตำบลพิชัย คุณมานิต อุ่นเครือ เล่าให้คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาฟังว่า น่าภูมิใจมาก ที่บัดนี้กว่า80%ของชาวบ้านต้นต้อง ติดนิสัยเป็นอาสาสมัครไปร่วมทำฝายและร่วมทำสาธารณะประโยชน์ต่างๆ
จนในที่สุด ชาวบ้านกลุ่มนี้ทำฝายสำเร็จไปถึง 600 ฝาย ขุดบ่อบาดาลน้ำตื้นอีก200บ่อ ปลูกไม้ยืนต้นด้วยเมล็ดไปเรื่อยๆบนเขารอบๆพื้นที่ จนสามารถเปลี่ยนเขาหัวโล้น พื้นหญ้าสีน้ำตาลสลับสีดำจากการเผาให้กลับกลายเป็นป่าเบญจพรรณ ที่มีตั้งแต่ต้นสัก ต้นไผ่ ต้นมะค่า ต้นตะแบก และสารพันไม้ดีมีค่า ที่งอกออกมาจากเมล็ด ซึ่งจะมีรากแก้ว และสามารถทนลมทนร้อน และทนแล้งได้นานกว่า
บรรยากาศของชุมชนคึกคักสามัคคีถึงขีดสุด ชุมชนฯจึงก้าวออกไปบอกนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ป่าข้างเคียงว่าที่”พวกเฮา”ดูแลป่าชุมชนกว่า 1,500ไร่นี้
”บ่พอมือ”!!
จึงขอขยายบริการฟรีๆนี้ไปคุ้มครองป่ารอบด้านให้กว้างออกไปอีกเรื่อยๆเป็นลำดับ จนวันนี้ ชุมชนบ้านต้นต้อง ดูแลบริการคุ้มครองป่าให้ปลอดภัยจากการเผาไปได้ถึง
ห้าพันไร่!!
เกร็ดเล็กน่ารักของเรื่องนี้มีว่า ชาวบ้านออกไปร่วมกันทำฝาย ทำบ่อรักษาน้ำให้ภูเขาเพื่อให้กลับเป็นป่าต้นน้ำแล้วรู้สึกว่าสมควรมีศาลาพักร้อนกลางทางบ้าง
จึงได้ระดมวัสดุเหลือใช้ของบ้านนั้นบ้านนี้มาช่วยกันลงมือสร้างศาลาอเนกประสงค์ ออกแรงทำกันเอง ซึ่งศาลาที่ว่าก็ยังอยู่มาจนถึงวันนี้ และกลายเป็นทั้งอนุสรณ์และศูนย์เรียนรู้แก่ผู้ที่มาขอความรู้ หรือมาร่วมอบรมการบำรุงรักษาป่าชุมชนที่นำมาซึ่งสารพัดโล่ห์และถ้วยรางวัลยกย่องในการเป็นชุมชนดีเด่น ศูนย์การเรียนรู้ดีเด่นจากองค์กรต่างๆมากมาย
เพื่อให้ป่าสมบูรณ์ขึ้น ชาวบ้านต้นต้องอุตสาห์นำสัตว์ป่ามาปล่อย มีตั้งแต่ไก่ป่า อีเห็น เต่า ตัวเงินตัวทอง ฯลฯ
เมื่อปล่อยสัตว์ไว้ก็ออกจะห่วงใย จึงพากันมาขุดดินแล้วไล้ปูนที่ขอบบ่อและก้นบ่อให้เป็นแอ่งเล็กๆราวกะละมังเพื่อใส่น้ำให้สัตว์ป่ามีน้ำกินในหน้าแล้ง
ครั้นเมื่อย่องมาดูยามค่ำๆก็พากันดีใจที่มีสัตว์น้อยใหญ่มาอาศัยน้ำในแอ่งกินกันพอให้ชื่นใจ
ในไม่ช้า กิจกรรมทำบ่อเล็กสำหรับสัตว์ป่าก็ตามมา
ที่เล่ามานี้ที่จริงก็มีเรื่องท้าทายเหมือนกัน เพราะก่อนนี้ที่แถบนั้นก็ใช่ว่าจะปลอดจากนายทุนบุกที่ป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด จึงมีการ ”เพี่ยวที่” หรือภาษาท้องถิ่นหมายถึงบุกเบิกเผาวัชพืชออกด้วยไฟ
ชาวชุมชนบ้านต้นต้องจึงต้องเทียวเจรจา ส่งคนไปสื่อสารบ่อยๆโดยไม่ย่นย่อเพื่อขอคืนที่ดินให้ป่า หรืออย่างน้อยก็ห้ามใช้ไฟเผา
คุณมานิต เล่าให้พวกเราในคณะกรรมาธิการฟัง ว่าถ้านายทุนคนไหนมาแบบห้าว ชุมชนก็จะส่งสุภาพสตรีไปสนทนาปรับทุกข์กับนายทุนนั้นอย่างนิ่มนวล ออดอ้อนตามเหมาะสมจนในที่สุด ดุเท่าดุ แข็งเท่าแข็งก็อ่อนโยน จนในที่สุดบัดนี้ไม่มีที่ดินบุกรุกเหลือในอาณาบริเวณที่ดูแลอีกเลย
นายกฯอบต.มานิตนั้นตอนอายุ 55 เคยป่วยไม่สบายไปพบหมอ แล้วหมอแจ้งว่าเป็นมะเร็ง และคงจะเหลือชีวิตอีกไม่เกินปี
นายกฯมานิตกลับเข้าพื้นที่แบบ ”ปลง ”กับชีวิต แต่แล้วได้คิดว่าถ้าชีวิตต้องจบลง ก็ขอรักษาป่ารักษาชีวิตสรรพสัตว์ให้ได้มากที่สุดแล้วกัน
วัตรปฏิบัติที่ผู้นำท้องถิ่นทำจนชาวบ้านศรัทธานี่เองที่ทำให้เกิดพลังร่วมที่สิ้นสงสัย แถมกลายเป็นพลังที่จุดติด และสามารถดับสารพัดไฟร้ายที่จะเข้ามารบกวนได้
ครั้งหนึ่ง นายกฯมานิตเคยไปช่วยดับไฟป่าที่หลังสันเขาซึ่งอยู่ห่างออกไป จนได้เห็นสัตว์สารพัดหนีไฟข้ามเขามา ตั้งแต่กบ อึ่ง งู เต่า กระแต และสัตว์เลื้อยคลานสารพัด แม้แต่หนอน และแมลง พอข้ามสันเขามาเจอกองทรายก็พร้อมใจกันมุดทรายหนีความร้อนและเปลวเพลิงโดยไม่มีใครต้องสอน
นายกฯมานิตบอกว่าจุดนั้นทำให้เห็นทั้งความรู้รักชีวิตของสรรพสัตว์ และเห็นศักยภาพของมนุษย์ที่เป็นเผ่าพันธุ์เดียวที่จะดับไฟได้ จึงยิ่งทุ่มเททำงานเรื่องป่าเรื่องน้ำเรื่องความชื้นในดินอย่างไม่มีเบื่อหน่าย
ชาวบ้านที่เก็บของป่ายิ่งตระหนัก ว่าไฟมีแต่ทำลาย คนที่เคยแหย่ไข่มดแดงมาขาย พบว่าไฟมาเมื่อใด รังมดแดงก็วอด ผักหวานตายทั้งกอ หน่อไม้ก็ดำกรอบเป็นถ่านกินไม่ได้ ขอนไม้ผุที่ปกติจะมีเห็ดป่าขึ้นเสมอก็ไม่มีเหลือแม้แต่ซาก รังผึ้งก็ถูกเพลิงเผาหายวับอย่างเกลี้ยงเกลา
อัลเบิรต์ ไอนสไตน์เคยกล่าวว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีผึ้งเหลือ เผ่าพันธุ์มนุษย์และสัตว์แทบทุกชนิดก็จะสูญพันธุ์ไปในอีก6ปี เพราะพืชจะขยายพันธ์ไม่ได้ เพราะขาดผึ้งจอมขยันที่จะช่วยผสมเกสรให้ ต่อให้โลกมีดาวเทียม มีวายฟาย 4 จี และ5จีก็เถอะ
พืชไม่งอกผลไม้ก็ย่อมจะไม่มี สัตว์กินพืชต้องอดตาย ส่วนสัตว์กินเนื้อก็จะหมดอาหารตามไป
ไฟเผาป่าจึงทำให้เกิดผลเสียมากกว่าฝุ่นควันที่เราเห็น
ชุมชนบ้านต้นต้องเป็นตัวอย่างที่สังคมไทยควรยกย่องและเรียนรู้
ที่นี่ เราชาวกรรมาธิการได้รับเชิญให้ร่วมบวชต้นไม้ด้วยการผูกผ้าชายจีวรกับต้นไม้ ชาวบ้านบอกว่าไม่ว่าคุณจะรัดผ้าจีวรกับลำต้นแน่นเพียงใด อีกสองปี ถ้าคุณกลับมาเยี่ยม คุณจะเห็นว่าผ้าจะแน่นกว่าเดิมมากเพราะลำต้นของต้นไม้จะอวบอ้วนขึ้น แล้วแดดและฝนก็จะคลายปมนั้นออกตามอายุผ้าชิ้นนั้นให้เอง
ชาวบ้านพาเราชมกอไผ่ที่แสดงได้ชัดว่าลำของไผ่ที่แก่นั้นจะผอมขาวซีด แต่ไผ่ลำใหม่ๆจะเขียวอวบอ้วน แสดงว่าสมัยก่อนป่าแห้งมากจนไผ่โตน้อย แต่พอระดมกันรักษาความชื้นได้ที่ ไผ่กอเดิมก็มีลำไผ่ที่อวบอ้วนเขียวสวยได้
อีกเกร็ดที่น่าจดจำคือ เมื่อมีคนนอกขี่พาหนะใดๆผ่านเข้ามาเพื่อจะเก็บของป่าในย่านนี้ ซึ่งย่อมต้องผ่านเส้นทางหลักที่กรรมการชุมชนคอยเฝ้าดูแลปากทางอยู่ ผู้ที่เข้ามาจะถูกขอให้แสดงตน แสดงที่มาและความต้องการ จากนั้นทุกคนจะได้รับการบอกพิกัดที่จะมีของป่าที่ต้องการว่าจะอุดมอยู่ตรงจุดไหน แต่ขอให้ทิ้งพาหนะไว้ที่นี่ แล้วเดินเท้าเข้าพื้นที่เท่านั้น
วิธีนี้จะช่วยให้คนนอกไม่หมางใจ ว่าถูกหวงห้ามกีดกัน แถมมีบอกใบ้ให้ลายแทงขุมทรัพย์กลางป่าไปเสียอีก มีแต่จะขอบใจ และเกรงใจ
ชาวบ้านต้นต้องถือว่า แบ่งปันดีกว่ากีดกัน เกรงใจกันแบบนี้ดีกว่าเจ็บใจกันแล้วแอบมาปล่อยไฟใส่พื้นที่ให้ต้องเหนื่อยหาคนไปช่วยกันดับทีหลัง
อีกทั้งชาวบ้านต้นต้องไม่ยักมองใบไม้แห้งในป่าว่าเป็นเชื้อไฟ ซึ่งต่างจากมุมมองราชการ ชาวบ้านมองว่านี่คือปุ๋ยของระบบนิเวศ
เชื้อไฟนั้นชาวบ้านไม่กลัว แต่สำคัญกว่าคือความสามารถจะดับไฟในใจคน ต่างหาก
เก๋มั้ยล่ะ…
บ้านต้นต้องลองผิดลองถูกมาหลายอย่าง เคยเอาประชามติของชุมชนไปติดเป็นป้ายประกาศห้าม
อาทิตย์เดียวป้ายก็แทบพรุนด้วยรอยกระสุนลูกซิงสารพัดประเภท
ชาวบ้านจึงเปลี่ยนแนว
จากใช้กฏใช้อำนาจ เป็นใช้การซื้อใจให้เกียรติ ฝึกทำไปสักพัก ได้ผลอย่างที่เล่าข้างบน
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเคยมาเยี่ยม มาร่วมกับชาวบ้านรักษาความชื้นบำรุงป่า ใช้เวลาอยู่ที่นี่ทั้งวันมาแล้ว บัดนี้เป็นประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา จึงเคยแนะนำให้เราที่ยังไม่เคยมาได้มาลองสัมผัส
นับว่าน่าทึ่งจริง ดังที่พลเอกสุรศักดิ์ เคยยกย่องไว้….
คณะเดินทางของเรากลับออกมาจากพื้นที่ด้วยความทรงจำใหม่
ศีล สมาธิ และปัญญาที่ชาวบ้านต้นต้องใช้ก่อศรัทธา สร้างสามัคคี และความช่างสังเกตของผู้นำในพื้นที่นี่เแหละ ที่ทำให้พื้นที่ของเขาไม่มีทางถูกเผา
และพร้อมเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นมาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผล
บทความตอนถัดไปคือตอนที่3 จะเป็นเรื่องทีมดับไฟป่า กับการสู้อุปสรรคที่ประชาสังคมช่วยได้
ไว้รอติดตามอ่านนะครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร