กรณีอุทยานแห่งชาติ และ คนอยู่กับป่า หลักคิดที่รอมาครึ่งศตวรรษ

ปฏิรูปประเทศที่จับต้องได้

ตอนที่2

ในกระบวนการปยป.(ปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและสร้างความปรองดอง ) ที่ดร.บัณทูร เศรษฐศิโรจน์ ดำเนินไปนั้น
ส่วนใหญ่เน้นที่เรื่องชุดกฏหมายและสิ่งแวดล้อมนี่แหละ

กฏหมายไทยเกี่ยวกับป่าไม้ มีหลายๆฉบับ
ทั้งพรบ.ป่าไม้ พรบ.สวนป่า พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พรบ.อุทยานแห่งชาติ ฯลฯ

ผมมีเวลาไปร่วมประชุมสองสามครั้ง จึงได้พบบรรดานักวิชาการและผู้สันทัดกรณีอีกหลายๆคนในคณะทำงาน

รวมทั้งมีข้าราชการจากกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืชมาร่วมคิดอ่านกัน

ผมถูกภารกิจการเป็นประธานคณะทำงานด้านการปฏิรูประบบบริหารราชการอีกด้าน จึงไม่ได้เข้าไปนั่งประชุมในห้องทำกฏหมายสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อย่างต่อเนื่อง

จับใจความได้หนท้ายสุดที่นั่งร่วมประชุมคือ

เมื่อพิเคราะห์ว่า บรรดากฏหมายป่าไม้โดยเฉพาะกฏหมายอุทยานที่มีเป้าประสงค์หลักที่จะต้องสงวนและอนุรักษ์ระบบนิเวศของป่าให้แน่วแน่
การจะมีมาตราใดที่จะเอื้อให้คนพอจะอยู่กับป่าได้ ไม่ควรอยู่ในหมวดปกติในพระราชบัญญัตินี้ได้

จึงควรไปคิดอ่านจัดวางเรื่อง “คนอยู่กับป่า”ไว้ใน

“บทเฉพาะกาล”

เพื่อจะได้ไม่กระเทือนหลักการใหญ่

จากนั้นผมก็ห่างๆจากวงประชุมนี้ไปเรื่อยๆ เพราะต้องไปเป็นประธานองค์การมหาชน ที่ดูแลด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแห่งหนึ่ง เรียกย่อว่า อพท. และไปดูแลการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ อีกแห่งหนึ่งเรียกย่อว่า สสปน. หรือ TCEB กับยังต้องทำหน้าที่เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติต่อ แล้วก็เป็นอธิการวิทยาลัยการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยรังสิตอีกในเวลาซ้อนๆกัน

นับว่ารับงานมาจับฉ่ายพอควร

มีโอกาสกลับมาเจอดร.บัณทูรอีกเป็นครั้งคราวเมื่อต้องเอางานของอนุ ปยป.ด้านต่างๆ มาเสนอรายงานที่ทำเนียบรัฐบาล จึงสอบถามเรื่องกฏหมายชุดป่าไม้ และคนอยู่กับป่า ได้ความว่าเดินหน้าไปได้ดีตามลำดับ

ตัดฉับเวลามาต่ออีกราวสองปี

ผมได้รับโปรดเกล้าฯให้กลับมาเป็น รัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา
อีกหน ตอนปลายปี2560

ได้ถวายสัตย์ปฏิญานตนเป็นรัฐมนตรีเป็นหนที่ สาม…

จึงได้มาสนทนาประสานภารกิจกับพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์อีกบ่อยครั้งในฐานะร่วมครม.ของท่านนายกฯ พลเอกประยุทธ์

ครั้งหนึ่ง ผมเขียนยกร่างคำสั่งร่วมสองกระทรวงเพื่อเชื่อมงานประสานระหว่างทีมดูแลงานด้านท่องเที่ยวกับทีมดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติเพื่อจะได้มีเหตุให้ปลัดและอธิบดีของทั้งสองกระทรวงได้ประชุมร่วมกันได้บ่อยๆ…

ปรากฏว่าพลเอกสุรศักดิ์อ่านแล้วเห็นว่าน่าจะเข้าที เราจึงลงนามร่วมกันเงียบๆตอนพักการประชุมครม.15นาทีนั่นแหละ

ไม่ต้องมีพิธี..ไม่ต้องมีอีเว้นท์เป็นรำฉุยฉาย

ยืนอ่านควักปากกาลงนามเสร็จก็เอาไปคนละฉบับ ต่างฝ่ายต่างถือกลับไปทำสำเนาแจกลูกทีมตัวเองที่กระทรวง… แล้วเราก็นัดวันประเดิมประชุมร่วมกัน

บางคราวผมได้รับเชิญให้บินไปร่วมตรวจราชการกับท่านในต่างจังหวัด

พวกเราฝ่ายท่องเที่ยวก็อยากเข้าใจข้อสงวนและข้อจำกัดที่เราควรรักษาในการถนอมทรัพยากรธรรมชาติ ฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรก็อยากวางรูปแบบว่านักท่องเที่ยวหลายๆล้านคนที่จะเข้าอุทยานทางบกทางทะเลควรถูกบริหารวิธีกันยังไงได้บ้าง

เราจึงคุยกันตั้งแต่เรื่อง carrying capacity ของเกาะ ของหาด ของอ่าว และของป่า ไปจนถึงการร่วมกันทำงานเกี่ยวกับนโยบายลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งกันถี่ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อถนอมรักษาสิ่งแวดล้อม และแน่นอนเพื่อลดปัญหาขยะในทะเล เพราะพลาสติคและโฟมที่ทิ้งแทบทุกชิ้น จะมีอายุขัยไปอีกนับร้อยปี ฝนตกเมื่อไหร่มันก็จะเคลื่อนที่ไหลไปตามน้ำจากที่สูงอันไกลโพ้นบนภาคเหนือสุดมาเรื่อยจนจบลงในทะเล แทบทั้งสิ้น

รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมขยับไปทำการเจรจากับผู้ผลิตขวดบรรจุเครื่องดื่มให้ทยอยเลิกทำ cap seal หรือที่เราเคยต้องแกะพลาสติคใสแถบเล็กๆที่พันรอบคอขวดเครื่องดื่มก่อนบิดฝาเปิดจุกอีกชั้นก่อนดื่ม

ร้อยทั้งร้อย เจ้าแถบพลาสติคนี้ แม้ตั้งใจทิ้งใส่ถัง มันก็ปลิวลมไปลงที่อื่น!!

ในปีนั้น แค่เลิกcap seal อย่างเดียวก็ลดขยะพลาสติคแบบใช้หนเดียวทิ้ง หรือ single use plastic wasteไปได้ราว500ตัน!

จากนั้นก็มีเรื่องการประกาศห้ามสูบบุหรี่ที่ชายหาดต่างๆ ตั้งกระถางทรายลึกเข้ามาใกล้ถนนบนฝั่งให้เป็นที่มุงสูบบุหรี่แทน

ผมเคยร่วมกิจกรรมกับททท.และเครือข่าย เดินเก็บแต่ก้นบุหรี่อย่างเดียว…ได้ก้นบุหรี่มาจากหาดเดียวจำนวน..5kg….ใช่ครับ

อ่านออกเสียงว่า…ก้นบุหรี่ห้ากิโลกรัม …จากหาดเดียว!!!

เราร่วมกันประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวใช้ ปิ่นโต ในการไปเที่ยวในอุทยานต่างๆ ร่วมกันรณรงค์ให้หน่วยงานใช้กระติกและคนโทหรือเหยือกไว้รินน้ำ จะได้ไม่ต้องมีขวดน้ำดื่มพลาสติกแจกในการประชุมให้ต้องเกิดขยะเยอะนัก แถมจะได้ไม่ใช้หลอดดูดพลาสติคเยอะ

ผมขอเศษถุงขนมอบกรอบที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งผ่าออกมาจากท้องของซากวาฬที่กลืนขยะพลาสติกในทะเลหลายกิโลกรัมเข้าไปจนตายอย่างน่าอนาจในอ่าวไทย มาเป็นวัสดุประกอบการยืนบรรยายพิเศษของผมคู่กับการถือปิ่นโตบนเวทีต่างๆทั้งในและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ

วันหนึ่งผมสอบถามพลเอกสุรศักดิ์เรื่อง คนอยู่กับป่า

ปรากฏว่าท่านตอบมาฉาดฉาน และเนื้อหาแน่น แถมยกตัวอย่างของพื้นที่อีกหลายแห่งให้ผมฟังอย่างน่าตื่นเต้น…ชาวมูเซอดำแห่งบ้านห้วยปลาหลดที่จังหวัดตาก ในเขตอุทยานแห่งชาติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นหนึ่งในนั้น

ไม่นึกมาก่อนว่ารัฐมนตรีจะลงลึกขนาดนั้น

ผมเคยไปพบชาวบ้านห้วยปลาหลด เพราะทีมอาจารย์รอยล จิตรดอนเคยพาไป..จึงรู้ว่าท่านพูดตรงกับที่เรารู้แฮะ

แถมพ่วงด้วยการแนะนำคำคมคล้องจองที่พลเอกสุรศักดิ์คิดนโยบายของเองมาอีกซีรี่ย์ ว่าสิ่งที่ท่านเสนอรัฐบาลนายกประยุทธใช้ปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของไทยแบบย่อสั้นๆมีว่า

…ปลูกไม้มีค่า ป่าชุมชน คนอยู่กับป่า เพิ่มคุณค่าทะเลไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมน้ำในไร่นา มีประปาทุกครัวเรือน…

ผมอ้าปากค้าง…ควักปากกามาจดตามแทบไม่ทัน

เข้าท่าแฮะ

แต่ผมไม่มีเวลาซักมากไปกว่านี้เท่าไหร่เรื่องกฏหมายป่าไม้และอุทยาน

เพราะผมก็ต้องเผ่นกลับไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช.ทุกวันจันทร์บ่าย เพื่อทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการพิจารณาแก้ไข ร่างพระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับใหม่ที่ผมเสนอ เพิ่มหลักการให้มีระบบเรียกค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อนำมาซื้อประกันคุ้มครองความเสียหายในหลากมิติให้ได้ เนื่องจากระบบภาษีไทยที่เคยแบกรับแทนปีละราว300ล้านบาทเมื่อพวกเค้าต้องเข้าห้องฉุกเฉินในสถานพยาบาลไทยเพราะสารพัดเหตุนั้น มันน่าจะไม่ค่อยแฟร์มั้ง

แปลว่าต่างคนต่างยุ่ง หัวหมุนก้นตุงทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดใดๆ

เหลือบมองปฏิทิน
เหลือเวลาอีกแค่ปีเศษก็จะถึงวันเลือกตั้ง

อันจะเป็นสัญญานการจบลง ของรัฐบาลในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ที่หวังจะตั้งฐานปฏิรูปประเทศให้ได้มากเท่าที่ทำทัน

เรื่องเล่าตอนที่แล้วฉายให้เห็นต้นหน่ออ่อนที่เพิ่งแตกรากจากเมล็ดพันธุ์เรื่อง คนกับป่า ไปแล้ว

รอบนี้ลำต้นของการปฏิรูปกฏหมาย เพื่อยอมรับหลักการ
“คนอยู่กับป่า “จึงมีต้นแรกดังที่พอจะประติดประต่อมาเล่า…

รออ่านตอน 3 นะครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ของวุฒิสภา

3 กรกฎาคม 2563

บทความที่เกี่ยวข้อง