สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยจับมือ บพท.ออกแบบชุดหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง

สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ขานรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ประสานความร่วมมือ บพท. จัดทำชุดหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง เสริมทักษะ และความรู้ด้านการบริหารจัดการ ผลักดันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดิจิทัล เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง ซึ่งเกิดขึ้นจากการลงนามในบันทึกความร่วมมือกันระหว่างสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยระบุว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีและเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดทำหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูงขึ้น สำหรับประเทศไทย ซึ่งยังไม่เคยมีหลักสูตรเช่นนี้มาก่อน

“ปรากฎการณ์ชัชชาติฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ถือเป็นโอกาสดีที่จะกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในคุณค่าความสำคัญของคำว่า ท้องถิ่นมากขึ้น และเกิดการยอมรับว่าทางรอดของเทศบาลคือทางรอดของประเทศไทย เพราะเทศบาลคือศูนย์กลางของชุมชน ศูนย์กลางของเศรษฐกิจ ตราบใดที่เทศบาลเข้มแข็ง ผมเชื่อมั่นว่าประเทศชาติก็จะเดินหน้าไปได้ด้วยดี ซึ่งต้องขอขอบคุณ บพท. อย่างมากที่เข้ามาช่วยทำหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง เพื่อยกระดับการพัฒนาเทศบาลให้มีความเข้มแข็ง

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร และ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม บพท. กล่าวว่าหลักสูตรดังกล่าวจะมีความแตกต่างกับหลักสูตรอื่นๆ ที่เคยมี โดยเนื้อหาของหลักสูตรจะเน้นการนำเอาวิชาความรู้ไปลงมือปฏิบัติงานจริงในพื้นที่จริง “ความร่วมมือระหว่างสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กับ บพท. ในการทำหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง ที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันของภาคีในท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ รวมทั้งเครือข่ายของสันนิบาตเทศบาล คู่ขนานไปกับแนวทางการทำงาน ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัด เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน หรือการลงทุนแบบใหม่ บนฐานทุนทางวัฒนธรรม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ที่มีความสำคัญอย่างมาก”

รศ.ดร.ปุ่น ชี้แจงด้วยว่า ตัวชี้วัดผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร จะพิจารณาประเด็นสำคัญ 3 ประการคือที่ความพึงพอใจของประชาชนในท้องถิ่น และขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการลงทุนด้วยตัวเอง รวมทั้งข้อค้นพบที่จะต่อยอดขยายผลส่งมอบไปเป็นนโยบายกับภาคส่วนต่าง ๆ

ด้าน รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม บพท. กล่าวว่า ชุดหลักสูตรนักพัฒนาระดับสูงจะมีชื่อย่อว่า “พมส.” ประกอบด้วย 4 หลักสูตร (Modules) โดย Module แรกมีเป้าหมายเรียกว่าคือการสร้างความเข้าใจร่วมกัน กำหนดเป้าหมายร่วม สร้างวิสัยทัศน์ร่วมของการพัฒนาเมือง พัฒนาเทศบาล พัฒนาท้องถิ่นแนวใหม่ในยุคเศรษฐกิจใหม่ ที่ต้องอาศัยการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล อบต. อบจ. ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน  

นอกจากนี้ยังต้องปรับกระบวนทัศน์ วิธีคิดในการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน นำมาวิเคราะห์ศักยภาพเพื่อหาโอกาสในการพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่ในยุคเศรษฐกิจใหม่ เพราะในพื้นที่ของแต่ละเมือง แต่ละเทศบาลจะมีโอกาสในการพัฒนาต่อยอดได้อย่างไร หลังจบหลักสูตรสิ่งที่จะได้ก็คืออย่างน้อยจะทำให้เข้าใจว่าในระบบเศรษฐกิจใหม่มีความจำเป็นอย่างไร เมืองของเรามีศักยภาพมีโอกาสยังไงบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เราเชื่อมท้องถิ่นกับโลกอย่างไร    

 หลังจากที่วิเคราะห์โอกาส และศักยภาพของเมือง ก็จะนำมาสู่เรื่องของ Module ที่ 2 คือข้อมูล ในโลกปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงดิจิตอล เทคโนโลยี  คำถามก็คือว่าเราจะนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรในเชิงของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล หรือแม้กระทั่งเอามาใช้ในเชิงของการเชื่อมโยงแผน เชื่อมโยงงาน คน งบประมาณ และเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยระบบข้อมูลหรือเทคโนโลยีได้อย่างไร แล้วก็นำสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล  

ในหลักสูตรจะมีด้วยกัน 4 กรอบเฉพาะคือ1).  เรื่องของเศรษฐกิจทางดิจิตอล  ซึ่งเทศบาลไหนไม่สามารถทำ Digital Transformation ได้จะเสียโอกาส   2).  เรื่องเศรษฐกิจสีเขียว วันนี้ใครก็ต้องพูดถึง Green Economy หรือ BCG (Bio-Circular and Green)  แต่จะทำยังไงให้ทุนเดิมที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นทุนทางสิ่งแวดล้อม ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เหล่านี้ถูกนำกลับมาใช้แล้วทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของท้องถิ่น  

“Green Economy เป็นหนึ่งในสิ่งที่เหลือ เป็นสิ่งสุดท้ายที่ยังเหลือในประเทศไทย ก็คือ BCG คือถ้าเราไม่โฟกัสเรื่องนี้ประเทศไทยเราจะไม่เหลืออะไร แล้ววันนี้สิ่งที่เราเด่นที่สุดในประชาคมโลกคือสีเขียว เทคโนโลยีมีพร้อมแล้ว เพียงแค่เราต้องฉลาดที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมเท่านั้น” 

 สำหรับกรอบที่ 3 คือประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม หลายแห่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจเป็นมิติทั้งในเชิงของประวัติศาสตร์ มิติของทางวัฒนธรรม ซึ่งตรงนี้ถือเป็นสินทรัพย์ของเราในปัจจุบัน เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้ดึงสิ่งเหล่านี้มาใช้ในเชิงของการพัฒนาอาชีพหรือพัฒนารายได้ หรือพัฒนาคนให้เกิดความภาคภูมิใจในพื้นที่ ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าถ้าไม่เข้าใจที่มาที่ไป ไม่เข้าใจรากเหง้าของตัวเองแล้วจะไปออกแบบอนาคตในพื้นที่ของตนเองได้อย่างไร ซึ่งเป็นต้นสายสำคัญในการออกมาเป็นเรื่องที่เรียกว่า Historical and Cultural Economy คือเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมของเราเอง      

กรอบสุดท้ายคือ เรื่องของกลไกทางการเงินใหม่ เดิมอาจจะเป็นการกู้ธนาคารพาณิชย์ กู้กองทุนหรือกู้ในระบบ นอกจากนี้อาจจะมาจากการระดมทุน แต่วันนี้เราเติมเครื่องมือทางการเงินใหม่ระดมทุนในลักษณะของ Crowdfunding ที่ทำให้เกิดกองทุนในการพัฒนาเมืองพัฒนาจะทำอย่างไร เราพูดถึงเรื่องของกองทุนของเมืองแต่กองทุนจะเกิดมารูปแบบไหนก็เป็นสิ่งที่เราลงมือปฏิบัติ โดยใช้การวิจัยเป็นตัวสนับสนุนการดำเนินการ 

“สิ่งที่จะได้รับเมื่อจบหลักสูตรนี้ก็คือ 1.ระบบข้อมูลของเมือง หรือท้องถิ่น  ซึ่งเกิดขึ้นจากการสร้างระบบและเรียนรู้ไปด้วยกัน 2.วิธีการลงทุนแบบใหม่และวิธีการหาเงินรูปแบบใหม่ เพื่อการต่อยอดขยายโอกาสพัฒนาเมือง 3.แผนธุรกิจและสังคมของท้องถิ่นและเทศบาล  4.เห็นถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบอาหารระบบเกษตรแบบใหม่ 5.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยทุนประวัติศาสตร์และทุนวัฒนธรรม  6.การจัดการภาครัฐแนวใหม่ 7.กลไกการเงินแบบใหม่ และสุดท้ายเรื่องการสร้างธรรมาภิบาลในท้องถิ่น เทศบาลและประชาชนสามารถตรวจสอบตนเองได้ในมิติต่าง ๆ    

สำหรับหลักสูตรฯดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาในการเรียนทั้งสิ้น 12 เดือน ประกอบด้วยหลักสูตรทั่วไป (Generic Modules) ใช้ระยะเวลา 2 เดือน หลักสูตรเฉพาะ (Specific Modules) ระยะเวลา 6 เดือน  และ 1 Project – Based Modules ระยะเวลา 4 เดือน โดยที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกและทาบทามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้าร่วมในหลักสูตรนี้ ซึ่งคาดหมายว่าจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมในการเปิดหลักสูตรรุ่นที่ 1 ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จำนวน 30 องค์กร คิดเป็นจำนวนผู้เข้าร่วมหลักสูตรประมาณ 100 คน