‘อลงกรณ์’ เผยครึ่งปีแรก ไทยยืนแชมป์โลกส่งออกยาง ครองตลาดจีน 49% ออก 6 มาตรการเชิงรุก

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ที่ห้องประชุมรัษฎา อาคาร 2 ชั้น 2 การยางแห่งประเทศไทย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2565 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Cloud Meeting ระบุว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะตลาดยาง รวมทั้งมุมมองและข้อเสนอแนะจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรของไทยทุกภูมิภาคทั่วโลก และรายงานของการยางแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาด และการส่งออกครึ่งปี 2565 ยังครองตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก ด้วยปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยาง 2,190,065 ตัน โดยเฉพาะ “จีน” นำเข้ายางไทยเป็นอันดับ 1 ครองมาร์เก็ตแชร์ถึง 49%

นายอลงกรณ์กล่าวว่า จากรายงานความก้าวหน้าของมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางโดย กยท.เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการเตรียมความพร้อม และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความผันผวนของราคายาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อต้นทุนการผลิต ระบบโลจิสติกส์ สถานการณ์เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยและภาวะตลาด ทำให้ราคาผันผวน จำเป็นต้องเพิ่มกลไกและมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติโดยเน้นการบูรณาการทำงานจากหลายภาคส่วนร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคภาคเกษตรกร สถาบันเกษตรกรภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ยุทธศาสตร์ทำงานเชิงรุกบูรณาการทุกภาคส่วน ยุทธศาสตร์เกษตรปลอดภัยเกษตรมั่นคงเกษตรยั่งยืน (3S : Safety Security Sustanability) และยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนบนฐานศาสตร์พระราชาเป็นกรอบการกำหนดมาตรการ และการบริหารเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของยางไทย

นายอลงกรณ์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบใน หลักการให้มีการจัดตั้งแพลตฟอร์มเครือข่ายยางไทยเป็นองค์กรความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยแนวทางความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน (Partnership principal) เป็นการผนึกพลังให้แข็งแกร่งในฐานะประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก เป็นองค์กรในลักษณะเดียวกับแพลตฟอร์มเครือข่ายความร่วมมือ FKII ของญี่ปุ่นซึ่งมีกว่า 4,200 องค์กรเป็นสมาชิก และมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประสานกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรไทยในญี่ปุ่น จัดทำโครงสร้างและระบบของแพลตฟอร์มเครือข่ายยางไทยเสนอในการประชุมคราวหน้า และจากการเสนอรายงานและข้อเสนอแนะของฑูตเกษตรทุกภูมิภาคทั่วโลกทำให้เห็นถึงช่องว่างตลาดใหม่ๆ และนโยบายใหม่ของประเทศคู่ค้า จึงให้เพิ่มมาตรการใหม่อีก 6 มาตรการเชิงรุก ได้แก่

1.มาตรการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกเช่นการผลิตสื่อดิจิทัลเผยแพร่ในตลาดต่างประเทศ

2.มาตรการตลาดเชิงรุกเน้นความต้องการผลิตภัณฑ์ยางในรายตัวสินค้าและในรายประเทศคู่ค้า (Product based &country based) เช่น ความต้องการยางจักรยานและยางรถบัสเพิ่มขึ้นในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปและผลิตภัณฑ์ยางที่อียูแบนสินค้าจากรัสเซีย หรือผลิตภัณฑ์ยางที่รัสเซียระงับการนำเข้าจากอียู ทำให้เกิดช่องว่างที่ไทยสามารถส่งออกไปทดแทนได้

3.มาตรการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเร่งดำเนินการก่อนประเทศคู่แข่งโดยใช้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน สวนยางยั่งยืนและระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตอบโจทย์เทรนท์ของตลาดเช่นประเด็นสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) FSC และ Deforestation เป็นต้น

4.มาตรการระยะสั้นรายไตรมาสเพื่อการบริหารจัดการตามปฏิทินฤดูการผลิตประจำปี โดยมอบ กยท. ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรหารือกันเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกัน

5.มาตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ยางมูลค่าสูงเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง สถาบันยางและผู้ประกอบการโดยให้กยท.ประสานกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์ AIC) ซึ่งมีผลงานการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ยางจำนวนมากเช่นวัสดุภัณฑ์ก่อสร้างบ้านและอาคาร ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ด้านคมนาคมขนส่ง

6.มาตรการเชิงกลไกการตลาดเช่น การแทรกแซงตลาด ซึ่ง กยท.ได้ดำเนินการโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางโดยเข้าแทรกแซงตลาดเป็นครั้งคราวในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงควรกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเชิงกลไกตลาด เช่น การบริหารซัพพลายและดีมานด์ กลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริง และระบบการประมูลยางออนไลน์เป็นระบบที่เปิดกว้างเพิ่มผู้ซื้อ ทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาการกำหนดราคา โดยผู้ซื้อน้อยราย หรือการฮั้ว หรือการผูกขาด

อลงกรณ์ พลบุตร

นายอลงกรณ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังให้จัดฟอรั่มอัพเดตสถานการณ์ตลาดยางโลกทุก 2 เดือน โดย กยท.และสำนักงานเกษตรต่างประเทศของกระทรวงเกษตรฯไทยเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้ทราบข้อมูลรอบด้านที่ทันโลกทันเหตุการณ์ด้วยระบบออนไลน์คู่ขนานกับการประชุมของคณะกรรมการชุดนี้ และยังมอบหมายให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ณ กรุงบรัสเซลส์ ประสานกับ กยท. สถาบันชาวสวนยาง และภาคเอกชนไทยในการขับเคลื่อนรับมือการเคลื่อนไหวของอียูในประเด็น Deforestation รวมทั้งมอบหมาย กยท.ให้รวบรวมข้อมูลของสภาการยางแห่งมาเลเซีย (MRC) และนโยบายการวิจัยยางของมาเลเซียส่งให้กับกรรมการทุกคน เพื่อศึกษาเปรียบเทียบและนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

“ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดยางพารา ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญโดยมุมมองทูตเกษตร ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก โดยทูตเกษตรจากสหภาพยุโรป (สำนักงานบรัสเซลส์) อิตาลี (สำนักงานกรุงโรม) สหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ (สำนักงานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.และลอสแองเจลิส) ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (สำนักงานกรุงจาการ์ต้า) ซึ่งจากรายงานสถานการณ์การผลิต การค้า และการแข่งขันของตลาดยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางทั่วโลก ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.ปี 2565 จีนมีมูลค่าการนำเข้ายางธรรมชาติ และยางสังเคราะห์จากไทย มากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมีปริมาณการนำเข้ายางพาราจากไทย จำนวน 1,426,305 ตัน เพิ่มขึ้น 5.37 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์สถานการณ์ เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี มีการกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคการเงินและการคลัง มีนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าช่วยหนุนการฟื้นตัวของการผลิตและจำหน่ายรถยนต์

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนอยู่ในทิศทางที่ดี วิสาหกิจต่างเร่งฟื้นฟุการผลิต สต๊อกยางพาราธรรมชาติในแหล่งสำคัญอยู่ในระดับต่ำ ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การใช้ยางพาราธรรมชาติทดแทนยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้น อิตาลีนำเข้าสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์จากไทยมากเป็นอันดับ 3 รองจาก เยอรมันและเนเธอแลนด์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 31,340 ล้านบาท ในขณะที่ทางสหภาพยุโรปกำลังเดินหน้ายุทธศาสตร์ EU Green Deal เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น จึงเป็นความท้าทายที่ภาครัฐและภาคเอกชนไทยต้องทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมรับมือกับนโยบายและมาตรการ European Green Deal รวมทั้งร่างกฎหมาย Deforestation free product ของ EU ที่ห้ามจำหน่ายสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการทำลายป่า ทั้งสินค้าภายใน EU และสินค้านำเข้ามาจำหน่ายใน EU จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้า 6 ประเภท (เนื้อวัว ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม โกโก้ ไม้ กาแฟ ) และมีแนวโน้มที่ยางพาราจะเข้าอยู่ในรายการสินค้าควบคุมในอนาคต” นายอลงกรณ์กล่าว

นายอลงกรณ์ระบุว่า ทางด้านฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.799 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.88% และคาดการณ์ปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติ 2565 มีปริมาณ 4.275 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3.41% โดยมีมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ของระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2565 มีมูลค่า 167,213 ล้านบาท และมีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติไปยังต่างประเทศ ปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย. 2565) มูลค่า 70,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยส่งออกไปยังประเทศจีน มากที่สุด คิดเป็น 49% รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 7% ญี่ปุ่น 6% เกาหลีใต้ 4% และอื่นๆ 25%

นายอลงกรณ์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้า ได้แก่ 1.ผลการดำเนินงานโครงการชะลอขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เพื่อชะลอปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาด ลดความผันผวนของราคายาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีสภาพคล่องทางการเงินในระหว่างรอขายผลผลิต ซึ่งมีสถาพันเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการ 207 แห่ง จากการดำเนินงานโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2565 เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยสถาบันเกษตรกรที่ชะลอการขายยางในช่วงราคายางตกต่ำ และรอจำหน่ายยางเมื่อราคาสูงขึ้น มีส่วนต่างราคาเฉลี่ยในปี 2565 เป็น 3.37 บาท/กิโลกรัม มูลค่า 87.98 ล้านบาท มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกิจกรรมการรวบรวมยางจากเกษตรกร ช่วยเสริมสภาพคล่องทางด้านการเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นสมาชิกของสถาบันเกษตรกร ช่วยลดมลภาวะจากกลิ่นของยางก้อนถ้วยเปียก ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอาชีพการทำสวนยาง ตลอดจนส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพัฒนาสถานะเป็นนิติบุคคล

“2. ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง และผลการดำเนินงานโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง จากการดำเนินการทางตลาดของ กยท.ได้ดำเนินการค้ำราคา โดยการบริหารการผลิตให้ตรงกับความต้องการตลาด เข้าแทรกแซงสร้างราคาในตลาดประมูลยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน เข้าประมูลในตลาดล่วงหน้ายางแผ่นรมควัน (เข้าค้ำราคาล่วงหน้า) น้ำยางสดเจรจาต่อรอง ราคาประกาศ กยท. ค้ำตลาด น้ำยางสดเข้าซื้อเพื่อค้ำราคาตลาด เพื่อสร้างจิตวิทยาขาบวกต่อตลาด

“ข้อมูล กยท.เข้าซื้อน้ำยางสด ณ วันที่ 22 มิ.ย.-14 ก.ค. 2565 รวม 5,239,980 กิโลกรัม เนื้อยางแห้ง 1,720,921.68 กิโลกรัม เป็นเงิน 91,037,470 บาท เฉลี่ยซื้อกิโลกรัมละ 52.90 บาท สร้างเสถียรภาพราคาน้ำยางจากที่ทุกบริษัทปลายน้ำตั้งราคาจะซื้อน้ำยางสด กิโลกรัมละ 45 บาท (ในเดือน มิ.ย.65) ตรึงราคาได้และกลับมาเพิ่มจากที่ราคาน้ำยางลง 49 บาท มาเป็น 51-52 บาท ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.-ก.ค.65 รวม 24 วัน ถ้าเทียบปริมาณน้ำยางสดทั้งประเทศ วันละประมาณ 30,000,000 กิโลกรัม (น้ำยางสด) 10,000,000 กิโลกรัม (เนื้อยางแห้ง) จะสร้างราคาเพิ่ม 3-5 บาท/กิโลกรัม (จำนวน 24 วัน ) เป็นเงิน 720 ล้านบาท” นายอลงกรณ์กล่าว