เร่งจัดจราจรทางน้ำ ชลประทานเชียงใหม่ พร้อมรับมือฝนตกหนักถึง 9 ก.ย.นี้

ชลประทานเชียงใหม่ จัดการจราจรทางน้ำรับมือมวลน้ำฝนตกหนักในช่วง 5- 9 กันยายนนี้ ด้านสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชลประทานประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำฝน และน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง และการบริหารจัดการน้ำ จากเขื่อนแม่งัดที่ระบาย ผ่านประตูระบายน้ำ ไม่ให้เกิดผลกระทบเกิดน้ำเอ่อท่วมในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจตัวเมืองเชียงใหม่

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ เผยว่าในห้วงวันที่ 5 – 9 กันยายน 2565 สำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนของสำนักงานชลประทานที่ 1 มีการประสานความมือกับทุกภาคส่วนทุกหน่วยงาน ในการติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำตามลำน้ำสาขาต่างๆ ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปิง การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำปิงของประตูระบาย ให้ดำเนินการระบายน้ำเพื่อให้เกิดช่องว่างรองรับน้ำตลอดแนวแม่น้ำปิง ตั้งแต่อำเภอตอนเหนือ อำเภอเชียงดาว เวียงแหง แม่แตง แม่ริม อำเภอเมืองเชียงใหม่ ไปทางอำเภอตอนใต้ อำเภอหางดง สันป่าตอง ดอยหล่อ จอมทอง ไปจนถึง อำเภอดอยเต่าก่อนระบายสู่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก

อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการน้ำขณะนี้ เหมือนการจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อรองรับมวลน้ำแต่ละพื้นที่ ไหลลงสู่แม่น้ำปิง โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนตามพื้นที่บนดอยที่จะมีการรายงาน ปริมาณน้ำฝนตกสะสม รายชั่วโมง เพื่อให้ชลประทานเชียงใหม่ ได้มีการจัดการจราจรทางน้ำ ไม่ให้เกิดผลกระทบเกิดน้ำเอ่อท่วม สองฝั่งตลอดแนวแม่น้ำปิง โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจของตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีประตูระบายน้ำป่าแดดใช้การบริหารจัดการไม่ให้เกิดน้ำเอ่อท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีการพร่องน้ำในการรองรับมวลน้ำ รักษาระดับน้ำ ในแม่น้ำปิง

ขณะเดียวกันการะบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง รักษาระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกินร้อยละ 80 เพื่อรองรับน้ำในห้วงฤดูฝนที่เหลือ ล่าสุดปริมาณน้ำ 213 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81% มีน้ำไหลเข้าเขื่อน 0.980 ล้าน ลบ.ม. ได้ระบายน้ำออก 2.121 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งน้ำที่ได้ระบายออกนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่วนการระบายต่อวันจะไม่เกิน 3 ล้าน ลบ.ม. หรือ 40-50 ล้าน ลบ.ม ต่อวินาทีเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบ้านเรือน และพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านหน้าเขื่อนได้รับผลกระทบเพราะเป็นช่องแคบไม่สามารถระบายน้ำได้จำนวนมาก ซึ่งมวลน้ำที่ระบายก่อนหน้านี้ลงสู่ไปสู่เขื่อนภูมิพล ส่วนขณะนี้ยังติดตามปริมาณน้ำจากอำเภอเชียงดาว และอำเภอเวียงแหง ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปิงจากจุดตรวจวัดปริมาณน้ำแล้ว หากมีมากเขื่อนแม่งัดจะหยุดการระบายน้ำทันที เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมีน้ำเอ่อท่วมในเขตตัวเมืองเชียงใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง