อว. โชว์ 3 งานวิจัย ขับเคลื่อน “ธัชชา-ธัชวิทย์” ตั้งแล็บวิเคราะห์ดีเอ็นเอโบราณ

อว. โชว์ 3 งานวิจัยขับเคลื่อน ธัชชา-ธัชวิทย์ ผนึกกำลัง ศิลป์-วิทย์ พิสูจน์ยืนยันประวัติศาสตร์ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทยตั้งแล็บครบวงจรที่สุดในอาเซียน พร้อมวิเคราะห์ดีเอ็นเอโบราณ ไลดาร์จากโดรนและดาวเทียม ตรวจหาอายุและโครงสร้างโบราณวัตถุ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดแถลงข่าวการในการขับเคลื่อนวิทยาการโดยนำเอาศาสตร์และศิลป์มาบูรณาการกัน เป็น “ยุทธศาสตร์การเดินสองขา” เพื่อสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย โดยได้จัดตั้ง “ธัชชา” และ “ธัชวิทย์” นำ 3 ผลงานวิจัย 1.ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ , สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เทคโนโลยีขั้นสูงในการวิเคราะห์อายุวัตถุโบราณ (Dating) , 2. นางกานดาศรี ลิมปาคม , สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) การใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศขั้นสูง (LiDAR) และ 3.รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์, มหาวิทยาลัยนเรศวร เทคโนโลยีขั้นสูงในการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม (DNA) ณ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. มีนโยบายหลักในการขับเคลื่อนวิทยาการ โดยนำเอาศาสตร์และศิลป์มาบูรณาการกัน เป็น “ยุทธศาสตร์การเดินสองขา” เพื่อสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย โดยได้จัดตั้ง “ธัชชา” และ “ธัชวิทย์” ซึ่งเป็นวิทยสถานทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และวิทยสถานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งล่าสุดได้สนับสนุนให้ประเทศไทยมีความพร้อมและขีดความสามารถในการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและวิชาการด้านโบราณคดีในยุคสุวรรณภูมิหรือกว่า 2,500 ปี ที่ครบวงจรและทันสมัยที่สุดในอาเซียน

โดยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ทีมนักวิชาการทางด้านโบราณคดี และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ไปร่วมกันปฎิบัติงานสำรวจในพื้นที่ที่เวียงท่ากาน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของภาคเหนือ มีอายุประมาณ 1,100 ปี ได้ทำงานในสถานที่จริง หลังจากนั้นได้ประชุมหารือทางวิชาการเพื่อกำหนดรายละเอียดและการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในเบื้องต้นได้มุ่งใน 3 เทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ 1) การใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศขั้นสูง (LiDAR) เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างทางกายภาพของโบราณสถานที่ถูกปกคลุม 2)เทคโนโลยีขั้นสูงในการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของมนุษย์โบราณ และ 3)เทคโนโลยีขั้นสูงในการวิเคราะห์อายุวัตถุโบราณ (Dating) ประกอบกับการรวบรวมจัดทำชุดฐานข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลของวัตถุโบราณเพื่อการตรวจเปรียบเทียบในระดับนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำมาก และสามารถทำได้อย่างครบวงจรที่สุดในอาเซียน

โดยวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) ของกระทรวง อว. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ของ อว. เช่น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น ดำเนินจัดกลุ่ม รวบรวมและเพิ่มความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชั้นสูงและสนับสนุนการค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะใน 3 มิติสำคัญดังกล่าวนี้ ผลที่ได้จะทำให้เกิดการพิสูจน์ยืนยันข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องในทางวิชาการ และนำไปสู่การขยายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการและพัฒนาบุคลากรวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์โบราณคดีให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนต่อยอดการรักษามรดกอันล้ำค่าของประเทศให้ดำรงคงอยู่คู่กับแผ่นดินไทยสืบไป