เชียงใหม่-ลำปางต่อคิวพะเยาสู่เมืองเรียนรู้ระดับโลกปี 2566 หลอมรวมพลังความรู้-พลังพลเมืองเพื่อความอยู่ดีมีสุขในพื้นที่        

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หนุนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ชูองค์ความรู้งานวิจัยท้องถิ่นศึกษาเป็นรากฐานสร้างเชียงใหม่-ลำปาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพื้นถิ่น และปูทางสู่ความเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้โลกของยูเนสโก ต่อเนื่องจากจังหวัดพะเยา

ดร.ปุ่น  เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวถึงเส้นทางความสำเร็จของเมืองแห่งการเรียนรู้ บนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม ตามแนวทางการให้การสนับสนุนของ บพท.โดยย้ำว่าต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้าข้อมูลในพื้นที่เป้าหมาย หรือให้ความสำคัญกับเรื่องของ”ท้องถิ่นศึกษา” ด้วยการค้นหาอัตลักษณ์ท้องถิ่น คุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วเปลี่ยนคุณค่าไปสู่มูลค่า เป็นรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ การสร้างงาน สร้างอาชีพ ในลักษณะห่วงโซ่คุณค่าทางสังคม (Social Value Model)

“ปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ไม่เพียงต้องให้ความสำคัญกับท้องถิ่นศึกษา แต่ต้องพัฒนากลไกกระบวนการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายครอบคลุมทุกมิติในพื้นที่ ทั้งมิติด้านวัยวุฒิ ด้านคุณวุฒิ และมิติด้านทุนวุฒิ แล้วยกระดับขึ้นเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางความรู้ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับพื้นที่ ถึงระดับประเทศ”

รองผู้อำนวยการ บพท. ชี้แจงด้วยว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ คือรากฐานสำคัญยิ่งของการพัฒนายกระดับขึ้นสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ ที่พลเมืองหลากหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขโดยทั่วหน้า

โศวิรินทร์  ชวนประพันธ์ รักษาการหัวหน้าทีมการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ (องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)) กล่าวว่าองค์ประกอบสำคัญของเมืองแห่งการเรียนรู้ตามกรอบของยูเนสโก จะให้ความสำคัญอย่างมากกับประเด็นด้านการศึกษา เนื่องจากการศึกษานับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.ผณินทรา  ธีรานนท์ หัวหน้าแผนงานโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้พะเยา มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จที่ผลักดันให้จังหวัดพะเยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตามมาตรฐานยูเนสโก ประจำปี 2565 เปิดเผยว่าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท. ทำหน้าที่เป็นแกนกลางเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในจังหวัดพะเยา  ให้มาขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

“กลไกกระบวนการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ เริ่มจากการทำความเข้าใจกับเมืองพะเยา ออกแบบพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ร่วมกัน ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ โดยมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นผู้ให้การรับรองหลักสูตร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ หรือต่อยอดด้านการศึกษา โดยมีเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ จากรายได้และความสุข รวมทั้งคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม”

ดร.ผณินทรา กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้เมืองแห่งการเรียนรู้พะเยา ได้รับการรับรองจากยูเนสโก น่าจะพิจารณาจากรายได้พลเมืองพะเยาโดยเฉลี่ยดีขึ้นระหว่างร้อยละ 5-35 ขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้น จากการประเมินของบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลเวชชารักษ์ จังหวัดลำปาง อีกทั้งอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ลดลงเกือบร้อยละ 10

ดร.ขวัญนภา  สุขคร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง จังหวัดลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะหัวหน้าแผนงานโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ลำปาง ภายใต้การสนับสนุนของ บพท .เปิดเผยว่า จะพยายามผลักดันให้จังหวัดลำปาง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตามมาตรฐานยูเนสโก ประจำปี 2566 ด้วยการขับเคลื่อนงานศึกษาวิจัยด้านท้องถิ่นศึกษาครอบคลุม 5 มิติคือภูมิหลัง-ภูมิเมือง-ภูมิธรรม-ภูมิวงศ์-ภูมิปัญญา เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของพื้นที่ สำหรับจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลางและเป็นรากฐานการออกแบบพื้นที่เรียนรู้  ออกแบบกิจกรรม ตลอดจนการออกแบบชุดหลักสูตรเพื่อการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ บนหลักการของการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่

“จากการศึกษาวิจัยท้องถิ่นศึกษา ทำให้รู้ว่าลำปางเป็นเมืองหลวงของครั่ง และครั่งจากลำปางมีการส่งออกไปยังต่างประเทศมากที่สุด อีกทั้งลำปางยังมีโรงงานแปรรูปครั่งกระจุกตัวอยู่มากที่สุดของประะเทศ โดยผลผลิตจากครั่งสามารถนำไปต่อยอดทำอาหาร ไปทำสีผสมอาหาร อีกทั้งยังนิยมนำไปทำสีย้อมผ้ากิโมโนในประเทศญี่ปุ่น”

ดร.สุดารัตน์  อุทธารัตน์ หัวหน้าโครงการ การพัฒนาเมืองเชียงใหม่นครแห่งการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาเมืองพลวัตที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บพท. ในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ให้เป็นนครแห่งการเรียนรู้ ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าจะใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยท้องถิ่นศึกษา หรือ”ปูมเมืองเชียงใหม่”เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ผ่านการออกแบบพื้นที่เรียนรู้ ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วนในเมืองเชียงใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต คุณภาพสิ่งแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้น

“เราคาดหวังว่าผลการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ด้วยประเด็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่มากขึ้น คนเชียงใหม่มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ยังจะทำให้เมืองเชียงใหม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้หรือ Unesco Global Network of Learning Cities-GNLC ในปี 2566 อีกด้วย”