เปิดภาพ “ดาวอังคาร” คืนก่อนใกล้โลก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพดาวอังคารในคืนก่อนใกล้โลก บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 มองเห็นพื้นผิวของดาวอังคารและพืดน้ำแข็งปกคลุมบริเวณขั้วเหนือ รวมถึงเมฆสีขาวปกคลุมอยู่บางส่วน

วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลกประมาณ 81.5 ล้านกิโลเมตร จากนั้นในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หมายความว่าหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวอังคารจะปรากฏสว่างเด่นชัดทางทิศตะวันออก มองเห็นเป็นสีส้มแดง ชมได้ตลอดคืน ในช่วงเดือนธันวาคมนี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะแก่การชมดาวอังคารเป็นอย่างยิ่ง 

เนื่องจากวงโคจรของดาวอังคารค่อนข้างรี และอยู่ใกล้โลกมาก เมื่อเทียบกับดาวเคราะห์วงนอกดวงอื่น ๆ เป็นผลให้วันที่ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ จะไม่ใช่วันที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุด ต่างจากดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดี ทั้งนี้ ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกในทุก ๆ 2 ปี 2 เดือน ปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกครั้งถัดไปจะตรงกับวันที่ 12 มกราคม 2568 และจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์อีกครั้งในวันที่ 16 มกราคม 2568