ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารทุกกรม แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกถัดไป กล่าวว่า การระบาดระลอกแรกมีการทำแบบจำลองการระบาดหรือฉากทัศน์ 3 รูปแบบ คือ ระบาดสูงและรวดเร็วมากติดเชื้อราว 16 ล้านคน ชะลอได้มีผู้ป่วย 9.9 ล้านคน และควบคุมได้ มีผู้ป่วย 3 แสนคน แต่ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ของไทยมีเพียง 3,615 คน ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเรารู้จักโรคมากขึ้น มีองค์ความรู้ ทรัพยากร และประสบการณ์ในการรับมือ ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนให้ความร่วมมือ ในการใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และสแกนไทยชนะ ทำให้ไม่มีคนติดเชื้อในประเทศมายาวนานพอสมควร อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจประเทศพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก จึงต้องเริ่มแง้มประตูประเทศ และมีมาตรการต่างๆ รองรับ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า สามารถดูแลและควบคุมโรคโควิด 19 ได้
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ในระยะถัดไปที่จะมีการเปิดประเทศ มีความแตกต่างจากการระบาดครั้งแรก คือ ไม่มีการระบาดวงกว้าง โดยสถานการณ์อาจเกิดขึ้นได้ 3 รูปแบบ คือ 1.ป้องกันโรคได้ดี มีผู้ติดเชื้อเป็นครั้งคราว 1-2 ราย ควบคุมไม่ให้แพร่กระจายได้ โดยประชาชนต้องสวมหน้ากากมากกว่าร้อยละ 85 เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เฝ้าระวังอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ไม่ได้กลิ่นหรือรส ให้รีบไปตรวจรักษา 2.ควบคุมโรคได้เร็ว อาจติดเชื้อ 10-20 คนต่อวัน แต่ควบคุมโรคได้ในเวลาสั้น 3-4 สัปดาห์ ตรงนี้เกิดขึ้นได้หากประชาชนบางส่วนไม่สวมหน้ากาก ผู้ประกอบการละเลยมาตรการป้องกันโรค และ 3.ควบคุมโรคได้ช้า คือ มีคนติดเชื้อเป็นกลุ่ม 100 คนต่อวัน เกิดขึ้นได้หากประชาชนไม่ร่วมมือป้องกันโรค ผู้ประกอบการไม่จัดมาตรการป้องกันโรค และไม่ได้รับความร่วมมือในการติดตามผู้สัมผัสโรค สำหรับข้อเสนอเรื่องของการลดระยะเวลากักตัว 14 วันนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลคาดว่าอีก 2 สัปดาห์ จะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) เพื่อพิจารณา
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การควบคุมโรคโควิด 19 ต่อจากนี้ เน้นการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาพ ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ โดยมาตรการควบคุมโรคยังเน้นเรื่องการป้องกัน ควบคุมให้ได้เร็ว การดูแลรักษา และให้ข้อมูลสื่อสารประชาชน ขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น กิจการเสี่ยงในประเทศทยอยเปิดแล้วโดยมีมาตรการควบคุม ส่วนกิจการต่างประเทศ เช่น การท่องเที่ยว ต้องค่อยๆ ผ่อนคลายอย่างระมัดระวัง โดยแผนการจัดการในระยะถัดไป คือ การจัดสถานกักกันเพื่อไม่ให้เชื้อเข้าสู่ประเทศ วางระบบเฝ้าระวังและตรวจจับในหลายระดับ หากมีสัญญาณต้องตรวจจับและควบคุมให้ไม่เกิดการระบาดรุนแรง โดยจะควบคุมโรคให้สงบภายใน 4 สัปดาห์ ขยายหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรค 3 เท่าจากที่มีอยู่ 1,000 ทีม เตรียมความพร้อมระบบบัญชาการเหตุการณ์ทุกระดับ เร่งรัดมาตรการที่ด่านควบคุมโรค พื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะที่ติดกับเมียนมาและมาเลเซีย และสร้างความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันโรค
นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ คือ ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ อาการคล้ายหวัดใหญ่ทุกโรงพยาบาล ผู้ต้องขังแรกรับ แรงงานต่างด้าวพื้นที่ชายแดน กลุ่มพิเศษตามสถานการณ์ เช่น นักกีฬาฟุตบอลไทยลีก กรณีพบผู้ป่วยยืนยัน จะติดตามคนสัมผัสใกล้ชิด ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การเตรียมพร้อมรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 19 มีการบริหารจัดการเตียงโดยโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีเตียงรองรับจำนวน 2 หมื่นกว่าเตียง แบ่งเป็น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2 พันกว่าเตียง ซึ่งการระบาดระลอกแรกผู้ป่วยนอนไอซียูเฉลี่ย 17 วัน ดังนั้น พื้นที่กรุงเทพมหานครจะรับคนไข้ได้ 230-400 คนต่อวัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของตัวโรค ส่วนทั่วประเทศรองรับได้ 1,000 - 1,740 คนต่อวัน อย่างไรก็ตาม นอกจากโรคโควิด 19 แล้ว ยังต้องเตรียมความพร้อมดูแลการเจ็บป่วยโรคอื่น ด้วยการแพทย์วิถีใหม่ โดยทุกเขตสุขภาพมีแผนดำเนินการใน 3 เดือน
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาการอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงความคืบหน้าฟ้าทะลายโจร ซึ่งจากการศึกษาในห้องทดลองพบว่า ฟ้าทะลายโจรไม่มีฤทธิ์การป้องกันติดเชื้อโควิด 19 แต่หากมีเชื้อไวรัสโควิด 19 ในเซลล์ จะยับยั้งไม่ให้เพิ่มจำนวนได้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการศึกษาในมนุษย์ ซึ่งจากการทดลองกับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในโรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลบางละมุง จังหวัดชลบุรี ที่รับผู้ติดเชื้อจากสถานกักกัน พบว่าได้ผลดี 3 วันหลังติดเชื้อ อาการต่างๆ ลดลงชัดเจนไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย การทำงานของตับและไตอยู่ในเกณฑ์ปกติ จากนี้จะร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ศึกษาเรื่องเภสัชจลนศาสตร์ของฟ้าทะลายโจรต่อไป ส่วนสมุนไพร "กระชาย" มีการทดลองในหลอดทดลองพบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งตัวไวรัสโควิด 19 ที่น่าสนใจ โดยจะร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดีพัฒนาต่อไป
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาการอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถตรวจเชื้อโควิด 19 ด้วยวิธีมาตรฐาน โดยปัจจุบันตรวจแล้ว 1,008,000 ตัวอย่าง เจอผู้ติดเชื้อ 3 พันกว่ารายมีห้องปฏิบัติการที่ตรวจได้ 230 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด เหลืออีก 4 จังหวัดที่จะพัฒนาให้ตรวจได้ทั้งหมด ขณะที่การสำรองน้ำยาการตรวจเชื้อด้วยวิธีมาตรฐานมีประมาณ 5 แสนชุด ดังนั้น หากมีผู้ป่วยวันละ 1 พันคน โดยต้องตรวจ 5-10 เท่าของผู้ป่วยก็สามารถรองรับได้ ไม่มีปัญหา สำหรับพื้นที่ชายแดนจะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อมั่นใจ ซึ่งที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจกว่า 1 แสนราย ก็พบผลบวกรายเดียวในอดีต ถือว่าประเทศไทยค่อนข้างปลอดภัยพอสมควร นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประกาศราคากลางของการตรวจเชื้อด้วยวิธีมาตรฐานอยู่ที่ 1,600 บาท จากเดิมที่การตรวจเคยมีราคา 2,500-3,000 บาท ก็จะช่วยให้คนเข้าถึงการตรวจมากขึ้น
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และยารักษาสำหรับโรคโควิด 19 ถือว่ามีเพียงพอ โดยหน้ากาก N95 ระดับประเทศมี 2.2 ล้านชิ้น ดูแลผู้ป่วยได้ 15,500 ราย ชุด PPE มี 1.9 ล้านชิ้น รองรับผู้ป่วย 13,000 ราย และผลิตได้ในประเทศได้ โดยมีโรงงาน 40 แห่ง อัตรากำลังผลิตอยู่ที่ 60,000 ชุดต่อวัน สำหรับหน้ากากอนามัยมี 50 ล้านชิ้น ใช้ได้นาน 120 วัน มีโรงงานผลิต 56 แห่ง กำลังการผลิต 4.7 ล้านชิ้นต่อวัน ยาฟาวิพิราเวียร์คงเหลือ 6.2 แสนเม็ด ใช้กับผู้ป่วยได้ 8,900 ราย
นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมมีการสำรองยาและเวชภัณฑ์ และกำลังต่อยอดพัฒนายาสูตรตำรับฟาวิพิราเวียร์ของไทยเอง โดยจะทดลองชีวสมมูลของยาในปี 2564 คาดว่าจะขึ้นทะเบียนยาได้ในเดือนตุลาคม 2564
นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.การสนับสนุนการดำเนินการศึกษาวิจัยวัคซีนภายในประเทศ 2.การเจรจาขอความร่วมมือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศมีการวิจัยในระยะที่ 3 คือการทดสอบประสิทธิผลของวัคซีนในคน เช่น อังกฤษ จีน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย และ 3. การจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ทั้ง COVAX Facility และการตกลงแบบ Bilateral เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศที่ผลิตวัคซีนสำเร็จ
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า มาตรการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Special tourist visa หรือ STV มีการจัดสถานกักกันทางเลือกทั้งระดับประเทศ (ASQ) 84 แห่ง และระดับท้องถิ่น (ALSQ) 12 แห่ง ในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยว หากมีความพร้อมก็สามารถรองรับกลุ่มแรกที่จะเข้ามาได้เป็นการผ่อนคลายขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศภายใต้หลักการความปลอดภัยของชุมชนและประชาชน ขณะที่การรับผู้ป่วยชาวต่างชาติโรคอื่นๆ มารักษาในโรงพยาบาลกักกันทางเลือก (AHQ) ดำเนินการแล้ว 1,242 คน เป็นระบบปิดมีความปลอดภัย สามารถสร้างรายได้จำนวนมาก นอกจากนี้ ยังประสานชมรม อสม.พื้นที่ชายแดนทุกจังหวัดในการร่วมเฝ้าระวังควบคุมโรคด้วย
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การประเมินตนเองของสถานประกอบการผ่าน Thai Stop COVID พบว่า มาตรการที่ต้องเพิ่มความเข้มข้น คือ การสแกนไทยชนะก่อนเข้าพื้นที่ กิจการประเภทที่พักยังขาดความเข้มข้นเรื่องการคัดกรองพนักงาน การจำกัดจำนวนผู้มาใช้บริการ และล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกครั้ง โดยไม่ผ่านเกณฑ์ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ขอให้สถานประกอบการทุกประเภทยังคงเข้มเรื่องวิถีใหม่ โดยเน้นการลงทะเบียนจัดคิวล่วงหน้า มีการคัดกรองผู้รับบริการ จัดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ จัดสถานที่บริการแบบเว้นระยะห่าง ลดความแออัด ทำความสะอาดสม่ำเสมอ มีระบบระบายอากาศที่ดี และจำกัดจำนวนผู้รับบริการหรือกิจกรรมที่ใกล้ชิด
นายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วงนี้กลุ่มวัยแรงงานอาจมีความเครียดจากสถานการณ์ผลกระทบของโรคโควิด 19 จึงขอให้ยึดหลัก อึด ฮึด สู้ และดูแลครอบครัวด้วยพลังบวกมองเห็นข้อดีหรือทางออกในทุกปัญหา พลังยืดหยุ่น เมื่อถึงเวลาหนึ่งต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมาย ปรับเปลี่ยนบทบาททำงาน แก้ปัญหา หากมีความขาดแคลน รู้สึกเป็นทุกข์ ก็ต้องรู้จักหาแหล่งสนับสนุนหรือขอความช่วยเหลือ ส่วนคนที่มีมากพอแล้วก็ต้องแบ่งปันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และพลังความร่วมมือ ต้องเป็นทีมเดียวกันในการสู้ปัญหา ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง จับมือกันก็จะสู้ปัญหาไปได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร