สว.ชุดใหม่ ไม่โหวตนายกฯ แต่หลายภารกิจสำคัญต้องดำเนินการ

บรรยากาศการรายงานตัวของสมาชิกวุฒิสภา 67  ซึ่งวันนี้( 15 ก.ค 67) เป็นวันสุดท้าย ที่อาคารรัฐสภา สามเสน กรุงเทพฯ บรรยากาศค่อนข้างบางตาเนื่องจาก รอผู้ที่จะต้องรายงานตัววันนี้เพียง 14 คนเท่านั้น หลังจากที่ 2 วันที่ผ่านมา มีผู้รายงานตัวไปแล้วทั้งหมดรวม 186 คน

ที่อาคารรัฐสภาวันนี้ นางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา  หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการรับรายงานตัวของสมาชิกวุฒิสภาครบทั้ง 200 คน จากนี้ไปทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะนัดประชุมสภานัดแรก  ล่วงหน้า 3 วัน คาดว่าจะเป็นวันอังคาร 23 กรกฏาคม 2567

ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภานัดแรก จะประกอบด้วย 3 วาระคือ 1 เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุมรับทราบเรื่องประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งกรณีผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภากล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา 115 ของรัฐธรรมนูญ จากนั้นจึงจะเป็นวาระการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาตามลำดับ

โดยตามข้อบังคับ ในการประชุมครั้งแรก ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ 2562 ข้อที่ 5 กำหนดว่าในการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาครั้งแรกให้  เลขาธิการสำนักงานวุฒิสภา เชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุด ซึ่งอยู่ในที่ประชุมวุฒิสภา เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม

สำหรับสมาชิกที่มีอาวุโสสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี วัย 78 ปี สว.กลุ่ม 20 (กลุ่มอื่น ๆ) นายแล ดิลกวิทยรัตน์ อายุ 77 ปี นายบุญส่ง น้อยโสภณอายุ 75 ปี

เมื่อที่ประชุมได้ดำเนินการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานสภาเรียบร้อยแล้วสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะต้องยืนยันมติและส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาพ.ศ 2562 ข้อ 9

จากนั้นการประชุมวุฒิสภาครั้งต่อไปคาดว่าอาจจะเป็นวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2567 เนื่องจากวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคมเป็นวันหยุดชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ทั้งนี้ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่ติดตามการเข้าทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ อย่าง ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มสธ กล่าวว่า หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ที่ ส.ว.ชุดใหม่จะต้องพิสูจน์การทำงาน  ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  มีหน้าที่สำคัญ ๆ ที่จะต้องดำเนินการหลายประการ เช่น

1 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)

2 การแต่งตั้งองค์กรอิสระ

3 การลงมติในกฎหมายสำคัญๆ โดยเฉพาะกฎหมายนิรโทษกรรม กฎหมายประชามติ และพระราชบัญญัติอื่นๆ

4 ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ด้วยการอภิปรายตามมาตรา 153 แบบไม่ลงมติ

5 ตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 82

ทั้งนี้แม้จะไม่มีบทบาทในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับ ส.ส. แต่ก็ถือว่ามีภารกิจที่สำคัญๆดังที่กล่าวมา