ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เสื่อเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง ส.ส. กรณีบุกรุกป่าสงวน-ที่ดินของรัฐ และเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป ระบุมีนักการเมืองอีกนับสิบรายที่โดนร้องสอบถือครอง ภ.บ.ท.5

ที่สำนักป.ป.ช. นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.แถลงถึงกรณี คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิด น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณียึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ ในบริเวณพื้นที่ ม.6 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี

โฆษกสำนักงานป.ป.ช. ระบุว่า ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,069 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โดยปี พ.ศ. 2536 และปี พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. เพื่อให้ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน ต่อมาปี พ.ศ. 2554 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้พื้นที่ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินและ ส.ป.ก ได้ดำเนินการโดยปิดประกาศให้เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวทุกปี ซึ่งที่ดินดังกล่าว ส.ป.ก. และกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการกำกับดูแลพื้นที่และมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้

จากการไต่สวนปรากฏว่า นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ได้ร่วมกับนายทวี ไกรคุปต์ บิดา เข้ายึดถือครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พื้นที่จำนวน 711 – 2 – 93 ไร่ โดยมีพฤติการณ์ ดังนี้

ในปี พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2562 มีการขอใช้ไฟฟ้าต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจอมบึง และชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินต่อองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เพื่อประกอบกิจการปศุสัตว์

ในปี พ .ศ . 2549 – พ .ศ . 2556 มีการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ .บ .ท . 5) ทั้ง 29 แปลงต่อองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว ซึ่งมีการกระจายการถือครองที่ดินดังกล่าว โดยอาศัยชื่อบุคคลอื่นมาถือครองที่ดินในเอกสาร ภ.บ.ท. 5 จำนวนหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการโอนกลับมาเป็นชื่อของนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ทั้งหมด

ในปี พ.ศ. 2557 องค์การบริหารส่วนตำบลรางบัวได้ยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าว เนื่องจากที่ ดิน ภ .บ .ท . 5 เป็นแบบแสดงรายการที่ ดิน เพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี ไม่ใช่เอกสารสิทธิซึ่งกรมการปกครองได้แจ้งให้ยกเลิกแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท. 5) และให้งดการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินและการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือที่สาธารณประโยชน์ ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ก็ยังคงยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. แต่อย่างใด

ในปี พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2562 นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ได้มีการขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว และใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม “เขาสนฟาร์ม” และ

“เขาสนฟาร์ม 2”บนที่ดินดังกล่าวต่อกรมปศุสัตว์ และในปี พ.ศ. 2561 ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการดังกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยยังคงยึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าวโดยอ้างเอกสารแบบแสดงรายการที่ดินฯ(ภ.บ.ท. 5) ทั้ง 29 แปลงที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และมิได้รับอนุญาต จนกระทั่งถูกตรวจสอบการครอบครองที่ดิน จากส.ป.ก. และกรมป่าไม้ โดย ส.ป.ก. ได้แจ้งให้นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส่งคืนที่ดินที่ครอบครอง และทำ ประโยชน์ดังกล่าวทั้งหมด อีกทั้ง กรมป่าไม้ได้ร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้ดำเนินคดีอาญากับนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นพื้นที่ 711 – 2 – 93 ไร่ และคำนวณค่าเสียหายเป็นตัวเงิน จำนวน 36,224,791 บาท

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า การที่นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนของประชาชน ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากความขัดกันแห่งผลประโยชน์ และต้องประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องเป็นแบบอย่างที่ดี อยู่ในกรอบของจริยธรรมในการดำรงตน เคารพ ยึดถือ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ

ซึ่งบัญญัติออกมาเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือประโยชน์ของรัฐ มากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องนั้น แต่กลับไม่ยึดถือระเบียบ หลักเกณฑ์ กฎหมาย และไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะที่สำคัญหรือเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินที่มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อน และลดความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคม

ป.ป.ช. จึงมีมติว่า กรณีที่นางสาวปารีณา ไกรคุปต์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

“อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระรวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป”

นายนิวัติไชย กล่าวว่า หากศาลฎีกาประทับรับฟ้องแล้ว น.ส.ปารีณา ต้องยุติจากการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าพนักงานผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากศาลวินิจฉัยว่าผิดโทษคือ ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น รวมถึงสิทธิการสมัครหรือลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งใด ๆ เป็นเวลา10 ปี แต่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลที่อาจสั่งเป็นระยะเวลา 1 ปี 5 ปี หรือ 10 ปีก็ได้ เพราะการถูกตัดสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นไปโดยผลของกฎหมายคือ ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการถูกตัดสิทธิซึ่งอยู่ที่ดุลยพินิจศาล แต่หากศาลวินิจฉัยว่าไม่ผิด กฎหมายจะบอกอีกทีว่าให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่พร้อมได้รับการเยียวยา

“ถ้าศาลระบุว่าผิด จะพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ย้อนไปถึงตรงนั้น ดังนั้นสิทธิที่จะได้รับ เช่น ค่าตอบแทนจะไม่ได้ตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าไม่ผิด สิทธิจะได้รับคืนตั้งแต่วันที่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหนที่เช่นกัน” นายนิวัติไชย กล่าว

เมื่อถามว่า หากศาลตัดสินว่า น.ส.ปารีณาผิดจะต้องชดใช้อะไรให้รัฐบ้าง นายนิวัติไชย กล่าวว่า พนักงานสอบสวนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นมูลค่าทางแพ่งที่ต้องประเมินว่าการบุกรุกครอบครองทำให้รัฐเสียหายจำนวนเท่าใด ส่วน ป.ป.ช.จะดำเนินการจงใจฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง โทษคือให้พ้นจากตำแหน่งอย่างเดียว ส่วนคดีอาญาเป็นเรื่องพนักงานสอบสวนจะดำเนินการ อยู่ระหว่างการสอบสวน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มี ส.ส.หรือนักการเมืองรายอื่นที่ถูกร้องเรียนประเด็นผิดมาตรฐานจริยธรรมฯอีกหรือไม่ โฆษกสำนักงานป.ป.ช. กล่าวว่า ในส่วนของนักการเมืองรายอื่นประเด็นเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 นั้น ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ ประมาณหลักสิบราย แต่เรื่องพฤติการณ์ต้องดูเป็นรายกรณีไป อาจมีลักษณะแตกต่างกัน ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบหลายพื้นที่ เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามา จะส่งเรื่องให้สำนักคดีที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบต่อไป