“ทักษิณ ชินวัตร” ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดดราม่า ม.112 หันหน้าเข้าหากันมาเริ่มต้นใหม่ เพื่อความรัก เพื่อการถวายความจงรักภักดีที่ถูกต้อง ถูกทาง ไม่ให้เจ้านายต้องถูกครหาโดยที่ไม่รู้

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ โพสต์FB โดยระบุว่า 2-3 วันนี้ได้ฟังดราม่าเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 จากทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการที่จะแก้ไขหรือยกเลิก ผมขอแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมา และผ่านการปรึกษาในเรื่องมาตรา 112 มาหลายครั้ง

ผมขอเล่าเป็นประสบการณ์ มาตรา112 มีมานานตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษฎ์ น่าจะประมาณปี 2500 ตัวกฎหมายเองไม่เคยเป็นปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มันเกิดจากการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าบุคคลในกระบวนการยุติธรรมอาจจะเกิดจากความกลัวหรืออาจจะเกิดจากความอยากแสดงความจงรักภักดีโดยไม่ยึดหลักนิติธรรม แล้วเกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือ Abuse of Power เพื่อหวังผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมือง เลยทำให้เกิดความไม่พอใจ และยิ่งใช้มากก็ยิ่งเกิดความไม่พอใจมาก ซึ่งในสมัยก่อนสนง.ตำรวจแห่งชาติ จะมีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องที่ร้องเรียนขึ้นมาว่าเป็นเรื่องของการจงใจที่จะละเมิดมาตรา112 จริงหรือเปล่า และจำนวนคดีก็มีน้อย และทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาทางอาญา (Due Process of Law)

ฉะนั้นปัญหาก็น้อย แต่ช่วงนี้ปัญหาเยอะมาก ยิ่งใช้อีกฝ่ายหนึ่งก็มีความโกรธเคืองแล้วก็ไปโทษกันต่างๆ นาๆ ซึ่งผมเคยบอกแล้วว่า รัฐบาลน่าจะจับเข่าคุยกับกลุ่มเยาวชนที่เห็นต่างในทุกวันนี้ เราก็จะได้แนวทางที่อยู่ร่วมกันระหว่างคนในวัยที่ต่างกัน ถ้าจะเริ่มติดกระดุมใหม่ที่ติดผิดเม็ด ก็โดยการที่ปรับกระบวนการในการดำเนินคดีของ 112 เสียใหม่ ให้เหมือนในอดีตที่ทำอย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่กลั่นแกล้ง ไม่หาเรื่อง แล้วก็ปล่อยผู้ถูกกล่าวหาให้ได้รับการประกันและใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาและดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไป และพูดคุยกับเด็กๆ จะได้เข้าใจตรงกัน เราจะอยู่ร่วมกันต้องมีกติกา กติกาอะไรที่มันยอมรับกันได้ทุกฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญ

เพราะฉะนั้นก่อนที่จะบอกว่ายกเลิกมาตรา112 เพราะอารมณ์โกรธ จากอารมณ์โกรธ หรือบางคนก็ต้องการจะยกเลิกโดยไม่มีเหตุผล หรือไม่ยกเลิกมาตรา112 ไม่เอาเด็ดขาด ซึ่งแน่นอนมันมี Yes and No แต่ขณะเดียวกันนั้น การพูดคุยกันน่าจะดีกว่า และการจัดระเบียบให้เป็นระเบียบเสียจะดีกว่า วันนี้บ้านเมืองเหมือนกับอยู่ในภาวะที่ไม่มีการจัดการ ไม่มีการบริหาร บ้านเมืองเปรียบเสมือนอยู่ในภาวะไม่มีการบริหารการจัดการ คงเลือกใช้แต่ Law and Order ซึ่งมันเป็นการขัดหลักที่จะให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีไม่แตกแยก

ดังนั้นสรุป ผมขอแนะนำว่าก่อนจะมาบอกว่าจะแก้มาตรา 112 หรือไม่ ขอให้ไปเริ่มย้อนคิดว่า เมื่อตัวกฎหมายไม่เคยมีปัญหา แต่คนที่เป็นปัญหาคือคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและคนที่นำประเด็นนี้มาสร้างความแตกแยกในสังคมต่างหาก ถ้ามีการจัดระเบียบให้ถูกต้องและมีการพูดคุยกับผู้เห็นต่างบ้าง ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นทีดี และนำไปสู่การรักษากฎหมายที่เป็นธรรม และก็จะไม่มีใครเดือดร้อน แต่วันนี้ ขอย้ำอีกครั้งว่าประเทศขาดการบริหารการจัดการ เลือกที่จะใช้ Law and order เท่านั้น ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดดราม่า หายใจยาวๆ มาเริ่มต้นใหม่ตามที่ผมแนะนำเบื้องต้น เพื่อความรัก เพื่อการถวายความจงรักภักดีที่ถูกต้อง ถูกทาง ไม่ให้เจ้านายต้องถูกครหาโดยที่ไม่รู้

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ปัญหาการใช้กฎหมายอาญาดำเนินคดีเพื่อจำกัดความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างอย่างล้นเกิน ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 พระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ หรือความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน สร้างผลกระทบให้ประชาชนเสียหายจากกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนสงสัยว่า ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวโดยมิชอบด้วยหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในหลักกฎหมายและหลักความยุติธรรมของประเทศ

ตามที่ภาคประชาชนได้เรียกร้องและเสนอร่างแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคที่มีเสียงสมาชิกมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้ดุลยพินิจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ และตรวจสอบการสั่งการโดยรัฐบาล รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้นักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัว และไม่ให้เกิดนักโทษทางความคิดเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย