“พล.อ.ประวิตร” ชูนโยบายดันอิสานพื้นที่เศรษฐกิจใหม่เชื่อมโลก เร่งสร้างที่ทำกิน พัฒนาแหล่งน้ำทุกระบบ หนุนปชช.กินดีอยู่ดี

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2565 ณ ลานอเนกประสงค์ฝั่งตรงข้ามชิค ชิค มาร์เก็ต จังหวัดหนองคาย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) นำทัพ 2 รัฐมนตรี ประกอบด้วยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และรองหัวหน้าพรรคพปชร. พร้อมด้วย คณะส.ส. พรรคฯ เยือนถิ่นอิสานเปิดเวทีปราศรัย “พลังประชารัฐ พลังเพื่อชาติ”  ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการลงพื้นที่พบปะประชาชนต่อเนื่อง  ที่ได้เตรียมการใน 10 ภาคทั่วประเทศ  โดยมุ่งสานต่อนโยบาย เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดี ไม่หยุดที่จะดูแลประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่แห่งนี้ต้องเร่งแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างทั่วถึง โดยจะผลักดันหน่วยงานที่เป็นกลไกของรัฐดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของพี่น้องกลุ่มเกษตรกรและเพื่อการอุปโภคและบริโภครวมถึงส่งเสริมอาชีพที่มั่นคงให้กับประชาชน ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืน   ทั้งนี้บรรยากาศภายในงานมีประชาชนในพื้นที่และจังหวัดข้างเคียงมาเข้าร่วมรับฟังการปราศรัยกว่า 10,000 คน 

พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า วันนี้รู้สึกยินดี และดีใจอย่างมากที่ได้มาพบปะประชาชนจังหวัดหนองคาย สิ่งสำคัญที่สุดของพื้นที่นี้คือเรื่องน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต เรามีการนำน้ำใต้ดินมาช่วยเหลือประชาชนได้แล้วมากกว่า 9 ล้านครัวเรือน ซึ่งมีเราไม่มีแล้ง เราหมายถึงพลังประชารัฐ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการประกาศว่ามีพื้นที่ภัยแล้งเลย ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมา ต่อไปนี้ พปชร.จะทำให้คนอีสานไม่มีแล้ง ไม่มีจน สร้างคนสร้างงาน สิ่งที่รัฐบาลจะทำและพรรคพลังประชารัฐจะทำด้วย

ทุกครั้งที่ผมเดินทางมาภาคอิสานพี่น้องชาวอิสานมีวัฒนธรรมในการต้อนรับที่อบอุ่นด้วยการผูกผ้าขาวม้ารอบเอวอยากบอกพี่น้องด้วยคำพูดที่มีความจริงใจว่าผ้าขาวม้าเชื่อมโลก  ต่อจากนี้อิสานจะเชื่อมโลก เป็นภาพที่รุ่งโรจน์ เป็นภาพที่มีการผลิตสินค้าและการกระจายสินค้า และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ทุกจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดหนองคาย เนื่องจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้มากที่สุด เชื่อมทั้งโลกด้วยภาคอีสานและเชื่อมทางลางรถไฟความเร็วสูงจากจีนเข้าสู่ สปป.ลาว ทะลุหนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น โคราช สู่กรุงเทพลงใต้ไปมาเลเซีย 

การเชื่อมภาคอิสาน ยังมีเรื่องของการเชื่อมทางบกของ 2 มหาสมุทรแปซิฟิคและอันดามันเข้าและการเชื่อมโยง ด้วยเส้นทาง east-west corridor   รวมถึงการสร้างทางยกระดับโคราชผ่านลำตะคลองทำถนน 4 เลนเชื่อมต่อจังหวัดต่างๆ ในภาคอิสานได้มากที่สุดในประวัติการ นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำดำเนินการทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้กับประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะในภาคอิสานเชื่อมโลก ทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศ อุดรธานี ขอนแก่นอุบลราชธานี  ที่เป็นสนามบินนานาชาติสามารถบินไปทั่วโลกได้ขอให้ประชาชนเชื่อใจในพรรคพลังประชารัฐเราใจถึงพึ่งได้ เราทำให้พี่น้องชาวอิสานและทุกคนกินดี อยู่ดี

นายสุริยะ กล่าวว่า  ในฐานะที่รับผิดชอบบริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้าไปขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภาคอิสานเพื่อนำความเจริญมาสู่พี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ซึ่งปัจจุบันได้รับการส่งเสริมการลงทุนมากถึง 4 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 1,900 ล้านบาท เป็นกิจการประเภท อาทิ ยางแท่ง พลังงานแสงอาทิตย์และมีกิจการที่ตั้งขึ้นใหม่รวมกว่า 951 ราย วงเงินกว่า 1,600 ล้านบาท  ปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ใน จ.หนองคายกว่า200 โรงงาน มูลค่า 7,300 ล้านบาท มีการจ้างงานกว่า 4,400 คน ซึ่งเป็นการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในทุกมิติ และยังมีโครงการที่รัฐบาลผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอิสาน  อาทิ โครงการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟไทย ลาว จีน การก่อสร้างทางเลียงเมืองหนองคาย คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2566 รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ซึ่งจะช่วยผลักดันการลงทุนให้เกิดขึ้นในจ.หนองคายได้มากกว่า 3 แสนล้านบาท เชื่อว่ามั่นว่า จ.หนองคายมีศักยภาพรองรับการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้เกิดการจ้างงาน ไม่มีการย้ายแรงงานเข้าสู่กรุงเทพ และภาคตะวันออก เพราะพื้นที่ภาคอิสาน จะเป็นพื้นที่เจริญเติบโตของการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับประชาชน 

นายชัยวุฒิ  กล่าวว่า ในด้านการดูแลปัญหาอาชญากรรมด้านเทคโนโลยี ที่ประชาชนได้รับผลกระทบและตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง ของมิจฉาชีพออนไลน์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กำชับให้เร่งปราบปรามอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา  และยังเดินหน้าพัฒนาการสร้างอาชีพใหม่ด้วยดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำองค์ความรู้ใหม่ๆไปช่วยบริการชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้กับประชาชน ถือว่าเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ

บทความที่เกี่ยวข้อง