กทม.-ปริมณฑลฝุ่นบังตา PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 71 แห่ง เข้าขั้นวิกฤติ 20 พื้นที่ “นนทบุรี” ขึ้นระดับสีม่วง

วันที่ 16 มกราคม 2564 บรรยากาศทั่วกรุงเทพมหานคร พบว่าทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีฝุ่นหนาคล้ายหมอก โดยวัดค่าคุณภาพอากาศจากแอพพลิเคชั่น Air Visual แสดงรายละเอียดว่าปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 มีค่ามากกว่า 220 ไมโครกรัม /ลบ.ม. ซึ่งสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน

โดยเฉพาะบริเวณอาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียมในย่านถนนวิภาวดีตั้งแต่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ครอบคลุมไปถึงเขตดินแดงและเขตจตุจักร พบว่าตั้งแต่ช่วงเช้าถึงช่วงเที่ยงอากาศปิดเต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5

เช่นเดียวกับเฟซบุ๊คส่วนตัวของ “อิ๊งค์ วรันธร” ศิลปินนักร้องยุคใหม่ชื่อดัง ได้โพสภาพแสดงค่าอากาศที่เกินมาตรฐานกระจายทั่วในบ้านพักย่าน จ.นนทบุรี ซึ่งเกินค่ามาตรฐานอันตรายถึงระดับสีม่วง พร้อมกับใส่แคปชั่นสั้นๆว่า “แรงมากก” พร้อมความเห็นจากแฟนคลับที่ขอให้ทุกๆคนรักษาสุขภาพ สวมแมสอยู่ตลอดเวลา

วันเดียวกัน ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ สารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐานได้แก่ ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ช่วงเวลา 07.00 น. ตรวจพบค่าระหว่าง 49-110 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) เกินค่ามาตรฐานจำนวน 71 พื้นที่ จากทั้งหมด 73 สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ

โดยค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานสูงสุดในระดับวิกฤติสีแดง 20 พื้นที่ ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงสุดที่ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ กทม. 110 มคก./ลบ.ม. ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา 107 มคก./ลบ.ม. (ดูเพิ่ม) ส่วนที่เหลือส่วนมากเป็นพื้นที่สีส้ม คุณภาพอากาศเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ในบริเวณพื้นที่สีแดง ขอประชาชนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ ส่วนพื้นที่สีส้ม ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีความจำเป็น

การประเมินปริมาณฝุ่นละอองที่มีในอากาศ ในพื้นที่หนึ่งๆ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน มักจะมีการวัดคุณสมบัติทางเคมี เช่นค่าความเข้มข้นหรืออัตราส่วนน้ำหนักต่อปริมาตร (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ส่วนการประเมินปริมาณฝุ่นละอองที่มีในบรรยากาศรวมทั้งหมดตลอดชั้นบรรยากาศ มักจะมีการวัดคุณสมบัติทางฟิสิกส์ต่างๆ เช่น Aerosol Optical Thickness (AOT) ผลการติดตามสภาพอากาศและฝุ่นละออง แสดงในภาพและแผนภูมิต่างๆ ดังต่อไปนี้