ทหารเมียมารัฐประหาร จับตัว”อองซานซูจี” – ส.ส. – รมต.หลายคน

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนามโพสต์ FB ส่วนตัว Piti Srisangnam ถึงสถานการณ์ในเมียนมาโดยขึ้นหัวข้อว่า “ว่าด้วยสถานการณ์ใน”#เมียนมา
.
เราต้องเข้าใจ #สมการแห่งอำนาจ ในเมียนมา
.
เท่าที่ผมพอจะเข้าใจคือ เดิม NLD และกองทัพ ต่างก็ต้องหวังพึ่งซึ่งกันและกัน แต่ในระยะหลังกองทัพเองก็ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพมากนัก
.
ในอดีตกองทัพสนิทสนมกับจีน ว่าด้วยผลประโยชน์หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร แต่ในระยะหลัง เมื่อเมียนมาเปิดประเทศ ต่างชาติกลุ่มใหม่เข้ามามากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เรื่อง ชนกลุ่มน้อยโกก้างในรัฐฉานติดชายแดนจีนทำให้หลายฝ่ายมองจีนเป็นภัยความมั่นคง
.
อีกด้านของพรมแดน ทางตะวันตก ปัญหาเรื่องเบงกาลี-โรฮิงญา ที่ชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงก็ทำให้ หลายๆ ฝ่ายในประเทศกังวล
.
กองทัพคบจีนก็น่ากังวล
รัฐบาลคบตะวันตกก็น่ากังวล
ดังนั้นกองทัพกับรัฐบาลที่เคยต้องพึ่งพากันเหมือนเครื่องหมายหยิน-หยาง ที่ต่างกัน ตรงกันข้ามกัน แต่ต้องอยู่ด้วยกัน ถ่วงดุลกัน จึงเสียสมดุล
.
ประกอบกับ ในกลุ่มกองทัพเอง ระหว่างกลุ่มอาวุโส กับกลุ่มรุ่นใหม่ ก็ดูจะไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อก่อนอาจจะอยู่ด้วยกันได้ แต่ภายหลังเองหลังจากที่กองทัพบางหน่วยได้รับการสนับสนุนจาก อินเดีย (ซึ่งเป็นพันธมิตรสหรัฐ ในยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก และเป็นคู่กรณีกับจีน) โดยเฉพาะเรื่อง เรือดำน้ำ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเองก็ได้รับการสนับสนุนเรื่องวัคซีนโควิดจากอินเดีย
.
นั่นทำให้ดุลอำนาจ และการพึ่งพาระหว่างจีน ตะวันตก และผู้เล่นใหม่คือ อินเดียเสียสมดุล และสมดุลเดิมระหว่าง NLD และกองทัพ (ซึ่งมี USDP เป็นตัวแทน) ก็เสียสมดุล เพราะกองทัพ มีความแตกตัวออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มนายทหารอาวุโส (สนิทจีน) กลุ่มทหารรุ่นใหม่ที่ยอมรับ NLD มากขึ้น กลุ่มทหารที่ต้องการคบคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่จีน
.
และจากประวัติศาสตร์เมื่อเสถียรภาพในกองทัพไม่มี การออกมาแสดงกำลังมักจะเกิดขึ้น เช่น หลัง 8888 ทหารฝ่ายเนวิน ถูกโค่นโดยฝ่ายตานฉ่วย
หรือในช่วงทศวรรษ 2000 ที่ตานฉ่วยก็โค่นตัวแทนของตนเองอย่างโซ่วิ่น-หม่องเอ แล้วแต่งตั้งเต็งเส่ง
.
และในอนาคตอันใกล้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง ลาย ก็กำลังจะเกษียณอายุ ในเดือนกรกฎาคมนี้ ดังนั้นการที่จะต้องกระชับอำนาจ ถ้าจะต้องทำ ก็ต้องรีบทำตอนนี้
.
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย