พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 9/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ยกระดับมาตรการเข้มข้น “ล็อกดาวน์” ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด มีผลตั้งแต่ 12 ก.ค. จำกัดการเคลื่อนย้าย ลดการรวมกลุ่มบุคคล และเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันและควบคุมโรค การคัดกรอง การรักษาพยาบาล การฉีดวัคซีน รวมทั้งกำหนดเยียวยาสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. สั่งการประชุมเร่งด่วนเพื่อตัดสินใจร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและแก้ไขสถานการณ์เป้าหมาย คือ ประคับประคองเศรษฐกิจแสะสุขภาพประชาชน วันนี้ ศบค. ยกระดับมาตรการเข้มข้น ซึ่งเป็นแผนเผชิญเหตุ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างขณะนี้ โดย “ล็อกดาวน์” พื้นที่ ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยปฏิบัติมาก่อนในช่วงเดือนเมษายน 2563 ทั้งการจำกัดการเคลื่อนย้าย การรวมกลุ่ม มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณ ร่วมกันกำหนดมาตรการเยียวยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นายกรัฐมนตรีย้ำถึงมาตรการที่ออกมา คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ภาพรวม ทุกหน่วยงานต้องรับผิดชอบในส่วนการทำงานของตน เชื่อมโยงการดำเนินงานให้ครบวงจร ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง ทั้งการสุ่มตรวจและการตรวจเชิงรุก การคัดกรองโรค เพื่อจัดระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดหาสถานที่/จุดตรวจคัดกรอง ให้ครบทุกเขตพื้นที่ เพื่อประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรอง ลดการรอคอย สำหรับการบริหารเตียงยกระดับเตียงผู้ป่วยใน รพ. สนาม เพิ่มขีดความสามารถให้รองรับผู้ป่วยระดับอาการสีส้ม สีแดง ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อจัดหาอุปการณ์ทางการแพทย์และยารักษาโรค ขณะเดียวกันจะต้องเดินหน้าบริการฉีดวัคซีนทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ตามแผนการฉีดวัคซีน โดย ศบค. ยังคงแผนกระจายวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมาย บุคคลากรด่านหน้า กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเสี่ยง ประชาชนพื้นที่เสี่ยงสูง และคลัสเตอร์เสี่ยง
ในการประชุม นายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญกับการสื่อสาร โดยกำชับทุกหน่วยงานต้องติดตามการเผยแพร่ Fake News และข่าวบิดเบือน เพื่อป้องกันการสับสน หากพบความผิดต้องดำเนินการตามหลักฐานและกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกัน ทีมสื่อสารต้องเน้นสร้างการรับรู้ โดยให้สธ. ชี้แจงตามอำนาจเฉพาะเรื่อง โดย ศบค. จะเป็นผู้แถลงในภาพรวม ขณะที่ ทีมโฆษกรัฐบาล ขอให้เน้นการประชาสัมพันธ์ที่เข้าใจง่าย สร้างความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตาม เพื่อสร้างความเข้าใจปฏิบัติมาตรการและคำแนะนำของสธ. และ ศบค. ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคง เข้มงวดเฝ้าระวังการลับลอบข้ามแดนผิดกฎหมายตลอดแนวชายแดน รวมทั้งให้ทำลายกระบวนการใช้แรงงานต่างด้าวและลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศอย่างเด็ดขาด เมื่อมีการมาตรการ ล็อกดาวน์ มีผลบังคับใช้ ต้องมีชุดเฉพาะกิจ ตั้งด่านตรวจ และสุ่มตรวจสถานประกอบการให้ปฏิบัติมาตรการที่ออกมาอย่างเข้มงวด และให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
มติที่ประชุม ศบค. ดังนี้
1. ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเป็นคราวที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
2. เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ แบ่งเป็น
– พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา
– พื้นที่ควบคุมสูงสุด 24 จังหวัด – พื้นที่ควบคุม 25 จังหวัด – พื้นที่เฝ้าระวังสูง 18 จังหวัด
3. การปฏิบัติในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
1) จำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด (เฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล)
– กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนใช้การปฏิบัติงานในลักษณะ Work From Home ให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ และการบริการประชาชน
– ระบบขนส่งสาธารณะ ปิดให้บริการได้ในห้วงเวลา 21.00 น. – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
– ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
– ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคาร และสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน ทั้งนี้เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
– ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือสุราหรือเครื่องดื่มในร้าน โดยเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
– ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม
– สวนสาธารณะ สามารถเปิดให้บริการสำหรับการออกกำลังกายได้ถึงเวลา 20.00 น.
– ห้ามการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณี ที่มีการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป
2) ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหะสถานระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็นยิ่ง หรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี
3) การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของ ศบค. ที่ได้มีประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้
4) กำกับดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (DMHTTA) อย่างสูงสุด
5) ให้เริ่มดำเนินการตามข้อ 1)-4) ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 64 เป็นต้นไป และให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ระดับสถานการณ์ต่าง ๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24, 25, 26) มาบังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
6) ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งจุดสกัด และชุดลาดตระเวน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 64 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป ทั้งนี้กรณีตรวจพบผู้ฝ่าฝืนให้บังคับบทลงโทษตามแห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
4. ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดมาตรการสนับสนุน ดังนี้
– สธ. รง. กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล เร่งรัดให้มีการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้อ อย่างเพียงพอ
– สธ. ปรับแผนการกระจายวัคซีน และเร่งการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรัง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
– สธ. ร่วมกับ กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการจัดตั้ง ICU สนาม และ รพ.สนาม รวมถึง รพ.สนามชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และมีจำนวนมากพอ
-กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล เร่งรัดนำระบบการแยกกัก แบบการแยกกักที่บ้าน (HI : Home Isolation) และการแยกกักในชุมชน (CI : Community Isolation) รวมทั้งการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลัก ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร เป็นต้น มาเสริมเพิ่มมาตรการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อทดแทนการขาดแคลนเตียงพยาบาลตามโรงพยาบาลต่าง ๆ
– ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ในการป้องกันส่วนบุคคล การตรวจหาเชื้อ และการรักษาพยาบาล ให้มีประสิทธิภาพ
– ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเน้นมาตรการป้องกันส่วนบุคคลได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย ตามพรก.ฉุกเฉิน และสาธารณสุข
-ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังวัด ทุกจังหวัด รับผิดชอบกำหนดมาตรการคัดกรองและมาตรการติดตามสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ทั้งนี้ “ให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่ 10 ก.ค.64 เป็นต้นไป” ตั้งแต่เวลา 06.00 น. โดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนด ฉบับที่ 25
– ศบศ. เร่งรัดกำหนดมาตรการเยียวยาสถานประกอบการหรือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดมาตรการในครั้งนี้ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
– ให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ระดับสถานการณ์ต่าง ๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24, 25, 26) มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
– ระยะเวลาที่มีผลบังคับใช้ : ตั้งแต่ 12 ก.ค.64 เป็นต้นไป ระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
นายกรัฐมนตรีย้ำ ศบค. ไม่เคยหยุดคิด โดยมีการทำงานต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกที่มีการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อู่ฮั่น และมีมาตรการที่สอดคล้องกับสมมุติฐานของการแพร่ระบาด โดยมีการวางแผนและมาตรการล่วงหน้า ตั้งแต่ระดับ ปกติ/ ปานกลาง /รุนแรง /รุนแรงมาก เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันโรค การคัดกรอง การรักษา การฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล รวมทั้งเยียวยาให้ได้มากที่สุด โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละส่วนให้ปฏิบัติงานอย่างรับผิดชอบด้วย ซึ่งหลังจากประกาศใช้ไประยะเวลา 14 วันหลังจากนั้น ศบค. จะประเมินมาตรการทั้งหมดนี้ อีกครั้ง
นายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลดูแลคนไทยทุกคนรวมทั้งคนต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย ให้สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งประเทศ เพราะ ทุกคน คือ ทีมประเทศไทย ขณะที่นายกฯ ประกาศงดรับเงินเดือน 3 เดือน เพื่อนำไปใช้ในการจัดหาอุปกรณ์ สิ่งของจำเป็นด้วย ฝากประชาชนทุกคน ยึดมาตรการส่วนบุคคล โดยการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข DMHTT ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร