นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อรับเงินเยียวยาจากรัฐบาลว่า สำนักงานประกันสังคม ได้ให้ความสำคัญแก่แรงงานอิสระ ทั้งการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ แรงงานอิสระหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีแต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้ การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท เป็นต้น สำหรับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ประกันสังคมปัจจุบันมี 3 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาท ทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาท ทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาท
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 40 สามารถสมัครง่าย ๆ ด้วยตนเองผ่านมือถือที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) เคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และที่เคาน์เตอร์บิ๊กซี (Big C) หรือสมัครผ่านผู้แทนเครือข่ายประกันสังคม ทั้งนี้ เมื่อสมัครแล้วสามารถจ่ายเงินสมทบได้ทันที สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/ จังหวัด/ สาขา ทั่วประเทศ หรือที่สายด่วน 1506 ให้บริการไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในครั้งนี้
1. มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม
1.1 ขอบเขตของกิจการที่ได้รับการเยียวยา
กลุ่มที่ 1: 9 หมวดกิจการ (เพิ่มเติมจากเดิม 4 หมวด) ประกอบด้วย 1) ก่อสร้าง 2) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3) ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 4) กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ 5) ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์ 6) ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนกิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9) ข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร
กลุ่มที่ 2: 5 กิจการของถุงเงิน (เพิ่มเติมจากเฉพาะร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ประกอบด้วย 1) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 2) ร้าน OTOP 3) ร้านค้าทั่วไป 4) ร้านค้าบริการ 5) กิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)
1.2 ระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือ: 1 เดือน (อาจมีการขยายต่อตามสถานการณ์)
1.3 รายละเอียดของการเยียวยา แบ่งตามกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ
1. ลูกจ้าง ม. 33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท
2. นายจ้าง ม. 33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อราย สูงสุดไม่เกิน 200 คน
3. สำหรับผู้ประกันตนตาม ม. 39 และ 40 รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ 5,000 บาทต่อคน
4. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelance) ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)
5. ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างแต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2
6. ผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)
7. ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2
8. ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “ไม่มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)
รวมทั้งสิ้นภายใต้กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร