หมอธีระ ระบุนโยบาย มาตรการที่ขาดประสิทธิภาพทำให้ตัวเลขติดเชื้อโควิด-19 ทะลุ 2 หมื่น จี้ให้ปรับเปลี่ยนทั้งระบบบริหาร และวิชาการเพื่อสู้กับโควิด-19

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสFB โดยระบุว่า บันทึกไว้เตือนความจำ…นิว”นอม่อนนะจ๊ะ”…4 สิงหาคม 2564

วันแรกที่ตัวเลขเกินสองหมื่นคน…20,200…

วันแรกที่ตัวเลขสูญเสีย 188…

และเป็นวันแรกที่ไม่มีสีเขียว และสีขาว…

Outputs = Strategy * Capacity * Moral

ผลที่เห็นนั้นย่อมมาจากสามปัจจัยข้างต้น

นโยบายและมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ย่อมมาจากคำแนะนำ ปรึกษา และการตัดสินใจที่มิได้ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมต่อสถานการณ์

ระบบบริหาร และวงวิชาการ จำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยน

สถานการณ์ระบาดยังคงรุนแรง กระจายไปทั่ว และยังไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ส่วนตัวแล้วไม่คิดว่าการซื้อขายอาหารหน้าร้านจะเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ขอเพียงให้เว้นระยะห่างกัน ระหว่างรออาหาร ใส่หน้ากากเสมอ และล้างมือหรือใช้สเปรย์แอลกอฮอล์หลังจากจับต้องสิ่งของหรือเงิน ก็เพียงพอ

แต่การห้ามนั่งกินดื่มในร้านอาหาร ผับ บาร์ นั้นเป็นที่เข้าใจได้และสมเหตุสมผลในยามระบาดรุนแรงเช่นนี้ เพราะมีหลักฐานวิชาการชัดเจนว่ามีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อติดเชื้อ

ควรทุ่มสรรพกำลังไปกับการตะลุยตรวจคัดกรองโรคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งแบบตั้งรับ และเชิงรุก อย่างต่อเนื่อง โดยควรทำให้มากกว่าที่เคยมี และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย มีระบบรายงานผลที่เก็บได้ครบถ้วน ไม่หลุด และนำส่งผู้ที่ติดเชื้อไปเข้ารับการดูแลรักษา

การหยุดนิ่ง ตะลุยตรวจ นำส่งเข้าระบบการดูแลรักษา ไม่เปิดรับความเสี่ยงเพิ่ม และเร่งจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงมาใช้เป็นวัคซีนหลัก คือ หัวใจสำคัญในการต่อสู้กับสถานการณ์ระบาดรุนแรงเช่นนี้ โดยจำเป็นต้องวางแผนเยียวยา ประคับประคอง ให้ประชาชนสามารถพอดำรงชีวิตได้

แต่หากทำมาตรการที่ไม่เข้มข้นเพียงพอ จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ศึกสงครามจะยืดยาว และประชาชนจะยืนระยะไม่ไหว

สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด มุ่งเป้าให้ตนเองและครอบครัวไม่ติดเชื้อ ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก

ด้วยรักและห่วงใย

ขณะที่สถานการณ์ระบาดทั่วโลกทะลุ 200 ล้านคน ในขณะที่ไทยเรามีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติแซงเม็กซิโก ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 6 ของโลกแล้ว รองจากอเมริกา อินเดีย บราซิล โคลอมเบีย และอิหร่าน…

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 588,153 คน รวมแล้วตอนนี้ 200,197,883 คน ตายเพิ่มอีก 9,319 คน ยอดตายรวม 4,257,833 คน

5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา อินเดีย อิหร่าน อินโดนีเซีย และบราซิล

อเมริกา เกิน 36 ล้านคนแล้ว เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 93,449 คน รวม 36,027,707 คน ตายเพิ่ม 473 คน ยอดเสียชีวิตรวม 630,452 คน อัตราตาย 1.7%

อินเดีย ติดเพิ่ม 42,566 คน รวม 31,767,965 คน ตายเพิ่ม 561 คน ยอดเสียชีวิตรวม 425,789 คน อัตราตาย 1.3%

บราซิล ติดเพิ่ม 32,316 คน รวม 19,985,817 คน ตายเพิ่ม 1,073 คน ยอดเสียชีวิตรวม 558,432 คน อัตราตาย 2.8%

รัสเซีย ติดเพิ่ม 22,010 คน รวม 6,334,195 คน ตายเพิ่ม 788 คน ยอดเสียชีวิตรวม 160,925 คน อัตราตาย 2.5%

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 26,829 คน ยอดรวม 6,178,632 คน ตายเพิ่ม 57 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,993 คน อัตราตาย 1.8%

อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงขึ้นถึงร้อยละ 85 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน

เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ เวียดนาม ล้วนติดหลักพันอย่างต่อเนื่อง

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน

แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านและอิรักติดกันหลักหมื่น ทั้งนี้อิหร่านมีจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อวันทำลายสถิติเดิม สูงถึง 39,019 คน

กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และไต้หวัน ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกงติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

…วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลก จากข้อมูล WHO วันที่ 3 สิงหาคม 2564

สายพันธุ์เดลต้ากำลังนำไปสู่ระบาดรุนแรงทั่วโลก ตอนนี้กระจายไปแล้ว 135 ประเทศ

ถือว่าระลอกล่าสุดนี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นชัดเจน

ในขณะที่สายพันธุ์อัลฟ่า (B.1.1.7, สหราชอาณาจักร) ตรวจพบได้แล้วใน 182 ประเทศ สายพันธุ์เบต้า (B.1.351, แอฟริกาใต้) 132 ประเทศ และสายพันธุ์แกมม่า (P.1, บราซิล) 81 ประเทศ

ดังที่เคยนำเสนอไปแล้วว่า เดลต้านั้นมีสมรรถนะในการแพร่สูงกว่าสายพันธุ์อื่นในกลุ่ม variants of concern ประมาณ 55% (43%-68%) และรุนแรงขึ้น เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น

ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้านั้นมีปริมาณไวรัสที่ตรวจพบมากกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมสมัยปี 2020 ถึง 1,260 เท่า  ซึ่งแปลว่าสายพันธุ์เดลต้านั้นมีอัตราการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในร่างกายผู้ติดเชิ้อเร็วมาก จึงเป็นสาเหตุทำให้ไวรัสเยอะ และทำให้แพร่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก

นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถตรวจพบไวรัสได้เฉลี่ย 4 วันหลังจากที่สัมผัสเชื้อมา ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีค่าเฉลี่ยราว 6 วัน จึงถือว่าเป็นศึกหนักของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่จะต้องป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้านี้ให้ได้

COVID-19 Weekly Epidemiological Update. World Health Organization. 3 August 2021