จริงอยู่ว่าการทำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหารในครัวเรือนนั้นมีวิธีหลากหลาย และเผยแพร่มานานพอควร แต่เอาเข้าจริงครัวเรือนชุมชนไทยก็มีไม่กี่บ้านที่ยอมฝึกทำจนเป็นกิจวัตรจริง
ยิ่งในมูลฝอยชุมชน ทีนี้ยิ่งจัดการยาก
และพอถึงระดับขยะเทศบาล ซึ่งกองสูงกว่าหลังคาบ้านคน อันนี้เเทบจะเลิกคิดได้เรื่องจะคัดแยกใหม่ เพราะกลิ่นจะแรงมากแล้ว
แต่ด้วยความรู้ในการใช้จุลินทรีย์มาช่วยทำงานกับภูเขาขยะเปียกเป็นลูกๆ
โดยการใช้น้ำเชื้อจุลินทรีย์ที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาหลายตัว ผสมกันแล้วฉีดประพรมลงไปใส่กองภูเขาขยะ อันนี้สามารถลดกลิ่นเบื้องต้น ครั้นเมื่อแมลงวันตอมน้ำจุลินทรีย์ที่ฉีดพรมไว้นี้ มันจะไข่ฝ่อตายเอง การวางไข่ให้เป็นหนอนขยะจึงถูกตัดวงจรไป
ผลคือลดกลิ่น ลดหนอน ลดแมลงวัน และก่อให้เกิดเอนไซม์เร่งย่อยสลายไขมันและซากอินทรีย์ลงเร็วขึ้นหลายๆเท่าตัวไปพร้อมกัน
คนคิดทำสูตรจุลินทรีย์อย่างนี้ คือคุณสุกัลยาเธอเคยเป็นคุณพยาบาลมาก่อน แต่สนใจเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำทิ้งน้ำเสีย เธอกับสามีจึงตั้งกิจการที่ปรึกษาด้านนี้ แล้ววันหนึ่งก็ถูกเชิญมาให้ช่วยดูโรงคัดแยกขยะ ว่าจะลดกลิ่น ลดกองของของเน่าเหม็นนี้ลงได้หรือเปล่า
ซึ่งจากการอธิบายของคุณสาคร นายช่างผู้ควบคุมอยู่ที่หน้างานระบบ พร้อมเจ้าที่หญิงที่เรียนจบด้านจุลชีวะวิทยามา ต่างก็บอกว่า ที่นี่เปลี่ยนไป จากที่เคยส่งกลิ่นจนให้แขกเหรื่อมาชมกิจการแทบไม่ได้ บัดนี้ก็ลดกลิ่นลงได้มากพอที่จะพาดูพาชมได้
เผอิญผมมีประสบการณ์กับการสำรวจ และลุยเก็บขยะมาบ้าง บวกกับสมัยเป็นนักเรียนมัธยม เคยถูกที่บ้านส่งไปช่วยกิจการของครอบครัวพี่ชายคุณแม่ที่ไปซื้อกิจการโรงแป้งมันสำปะหลังที่แถวสี่แยกหัวกุญแจ จังหวัดชลบุรี จึงต้องไปช่วยปีนขึ้นลงรถสิบล้อเพื่อเอาหัวมันสำปะหลังสดมาชั่งน้ำหนักในน้ำเพื่อหาค่าถ่วงจำเพาะ และวัดเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันที่เจ้าของไร่มันเอามาขาย กับเป็นเด็กวัดน้ำหนักเข้าออกของรถสิบล้อเพื่อคำนวณปริมาณน้ำหนักมันที่เขาเอามาขายทั้งคันรถ แทบทุกศุกร์เสาร์อาทิตย์ นอนค้างที่โรงงานแป้งมันบ่อยๆ ซึ่งโรงงานแป้งมันสำปะหลังสมัยนั้นกลิ่นจะรัญจวนชวนเป็นลมมาก สำหรับคนมาใหม่ เพราะเวลาที่ตากกากมันที่กำลังสลายสภาพปริมาณมหาศาล คือกำลังเน่านั้น เดือนแรกๆที่ไปเล่นเอานอนไม่หลับทีเดียว
แหม ถ้าเรามีสารจุลินทรีย์แบบนี้ใช้สมัยโน้นก็คงดี ผมได้แต่รำพึงในใจ
เอาล่ะ มาว่ากันต่อครับ
เมื่อรถแทรกเตอร์ตักขยะจากกองสู่สายพานลำเลียง จุดแรกเข้านี้ก็มีการพ่นสเปรย์น้ำจุลินทรีย์เพื่อลดกลิ่นขยะให้เบาบางลงอีก
เอนไซม์จากจุลินทรีย์จะกระจายได้ทั่วถึงเนื้อในของขยะมากขึ้นเพราะตอนนั้นถุงขยะทั้งหลายจะถูกเครื่องตะกุยฉีกออกมาหมดแล้ว
จากนั้นสายพานจะพาขยะเข้าสู่อุโมงค์ที่เป็นตะแกรงโลหะซึ่งหมุนตลอดเวลา ทำให้ขยะถูกคลี่ออกแล้วหล่นลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก แล้วหมุนขึ้นแล้วหล่นรอบแล้วรอบเล่า เพื่อช่วยให้ชิ้นขยะแตกตัวเล็กลงเรื่อยๆ รูตะแกรงขนาดต่างๆของอุโมงค์ช่วยให้ผงของขยะที่ยุ่ยเร็วกว่าอย่างอินทรีย์สารร่วงผ่านไปลงสายพานลำเลียงอีกสาย ส่วนขยะที่ทิ้งตัวแล้วไม่แตกย่อย เช่นพลาสติก เศษผ้า เศษพรม เศษยาง จะเคลื่อนหมุนในอุโมงค์หล่นกระแทกไปเรื่อยจนพ้นปลายอุโมง์หมุน
จากนั้นระบบจะพาขยะไปลอดแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะดูดโลหะเก็บไว้ ส่วนสิ่งที่ไม่ใช่โลหะก็เคลื่อนไปต่อ
อินทรีย์วัตถุต่างๆที่ถูกสายพานพาไปจะถูกส่งเข้าอีกโรงเรือนด้านหลังเพื่อไปกองหมักกับหัวเชื้อจุลินทรีย์อีกสูตรเรียงเป็นกอง ๆไป ถึงตอนนี้ขยะที่จะเป็นปุ๋ยยังจะมีหน้าตาเป็นขยะเปียกที่ไม่มีพลาสติกและวัสดุอื่นๆขนาดใหญ่ติดปนมาแล้ว
จากนั้นจะมีระบบฉีดพรมฝอยน้ำจุลินทรีย์ซ้ำๆ จากหัวฉีดพ่นที่ติดตั้งไว้ใต้หลังคาโรงเรือน จนเมื่อได้ที่ หน้าตาเป็นเหมือนกองดินยุ่ย จึงอัดเป็นเม็ด เพื่อสะดวกในการบรรจุถุงเพื่อกระจายส่งออกไปถึงกลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ที่จะนำไปใช้ในแปลงของตน
ขยะที่ไม่ใช่อินทรีย์ที่เหลือจากการคัดแยกและไม่สามารถทำอะไรได้แล้วจะถูกกองรวมเพื่อรอใส่รถบรรทุกนำไปขายเข้าเตาเผาของบริษัทปูนซีเมนต์ หรือเข้าบ่อฝังกลบ
อย่างไรก็ดี ที่นี่กำลังเร่งสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะของตนเอง ถ้าเสร็จ ผลผลิตขยะเชื้อเพลิงที่เคยส่งไปขายให้โรงปูนซีเมนต์ก็จะถูกส่งเข้าเตาเผาของโรงไฟฟ้าที่นี่เอง ไม่ต้องเสียพลังงานขนออกไปไหนอีก
เท่าที่ทราบ โรงไฟฟ้าของที่อุดรธานีนี้ จะเป็นแห่งแรกในไทยที่เป็นระบบ ไพโรไรซิส (pyrolysis) คือเอาขยะพลาสติกมาอบหลอมให้เป็นน้ำมันก่อน แล้วใช้น้ำมันที่ได้มาปรับคุณภาพเพื่อเติมเครื่องไดนาโม ผลิตไฟฟ้าอีกที
ข้อดีคือได้ไฟฟ้าพร้อมกับได้ขจัดขยะพลาสติก และขยะพลาสติกจะเก่าแค่ไหนก็เอามากลั่นคืนเป็นน้ำมันได้ ซึ่งจะได้ประหยัดค่าน้ำมันไปในตัว ลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเพื่อเข้าโรงกลั่นด้วย
ปกติเตาสำหรับเผาขยะพลาสติกนั้นความร้อนต้องสูงสัก700องศาเซลเซียสขึ้นไปและต้องเผาไอเสียอีกรอบจึงจะไม่เกิดสารไดออกซินอันเป็นสารก่อมะเร็งออกมาที่ปลายปล่อง
แต่การกลั่นน้ำมันจากการอบพลาสติกใช้ความร้อนสูงมากและไม่ใช่การเผาทิ้ง ประเด็นเรื่องไดออกซินจึงไม่เหมือนกรณีเตาเผาพลาสติก
คงอีกไม่ถึงสองปีนับจากนี้ โรงไฟฟ้าแบบไพโรไรซิสแห่งนี้ก็คงเริ่มจ่ายกระแสไฟ
ระหว่างนี้ขยะที่ผ่านการจัดการคัดแยกแล้วก็จะใช้เป็นแท่งเชื้อเพลิงที่ให้ค่าความร้อนสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่อื่นไปได้พลางก่อน
ผมเชื่อว่าขยะพลาสติกและขยะสารพันใต้ผืนดินทั่วไทย ถ้าจะขุดขึ้นมากำจัดให้หมดตามวิธีนี้ เราคงต้องใช้เวลาอีกนับสิบๆปีแน่ เพราะโรงแยกขยะไซส์นี้มีสองชุดเครื่องสายพาน แต่ละชุดคัดขยะได้วันละ150 ตัน สองชุดก็จัดการได้300ตัน
ภูเขาขยะนอกอาคารที่ผมไปมีหลายกอง แต่ละกองคาดว่าจะ 3พันตัน ดังนั้น แต่ละกองต้องใช้เวลาราว10วันหรือมากกว่านั้นเล็กน้อยเพื่อผ่านโรงคัดแยกนี้
ดังนั้น นับว่าที่นี่งานเต็มมือไปอีกนาน
เฉพาะในใต้ดินของที่นี่ก็มีอีก ราวล้านตัน แปลว่าอีกนานเป็นสิบๆปีล่ะครับกว่าจะคัดแยกจนหมด แถมยังต้องรับมือกับขยะเทศบาลใหม่ที่ส่งเข้ามาใหม่ทุกวัน ดังนั้นโรงไฟฟ้าไพโรไรซิสที่ต้องใช้น้ำมันที่สกัดจากพลาสติกแห่งนี้น่าจะมีน้ำมันใช้ไปได้นานโข
คิดเสียว่าสร้างโรงไฟฟ้าทับบ่อน้ำมัน เพียงแต่ก่อนจะเป็นน้ำมันก็ต้องหลอมพลาสติกเสียหน่อย
แต่ดีกว่าขุดบ่อน้ำมันที่ลึกมากมาย
เพราะบ่อฝังกลบขยะนั้นยังไงก็ไม่ลึกเท่าบ่อน้ำมันแน่นอน
ถ้าเอกชนลงทุนแบบนี้แล้วแล้วมีกำไร วันที่เราจะเห็นระบบขจัดขยะแบบนี้เกิดขึ้นในที่อื่นคงเป็นความหวังที่พอเป็นไปได้
และต่อให้ยังไม่เกิดโรงไฟฟ้าพลังขยะได้ทันใจนึก แต่ถ้าตัดสินใจจะมีโรงคัดแยกขยะสด ลดมลภาวะจากการเอาทุกอย่างใส่หลุมฝังกลบ ก็นับว่าเก๋มากแล้วล่ะครับ
แม้ผมมาเยี่ยมชมกิจการในฤดูฝน ทางเดินต่างๆในเขตโรงแยกขยะจึงออกจะเฉอะแฉะหน่อย
แต่ที่สังเกตได้คือไม่มีแมลงวันหรือเห็นสัตว์พวกหนูให้เห็นเลย ทั้งที่บริเวณทั้งหมดล้อมรอบนอกและในหลังคาโรงจัดการเต็มไปด้วยกองขยะสดๆทั้งนั้น
เห็นมีฝูงนกเพียงกระหย่อมเดียว
ผู้ดูแลควบคุมเครื่องจักรเล่าว่าสมัยก่อนมีครบครับ
เรียกว่าจัดชุดใหญ่ไฟกระพริบเลย
ทั้งกลิ่นเหม็นรุนแรง ทั้งแมลง ทั้งสัตว์สารพัด แม้แต่จะเข้าไปดูงานก็คงแทบสนทนากันไม่ไหว เพราะกลิ่นแรงสุดขั้ว
แต่ด้วยความรู้ด้านจุลินทรีย์ที่ทำงานได้ดีแม้ในอุณหภูมิสูงของกองขยะซึ่งอาจไปถึงเกิน70องศาเซลเซียส ทำให้ที่นี่สามารถเดินชมแบบเป็นชั่วโมงได้ โดยไม่ติดกลิ่นอันรัญจวนของขยะไปด้วย
(ที่จริงผมเตรียมเสื้อกางเกงตลอดจนถุงเท้ารองเท้าและหน้ากากใหม่มาครบอีกเซตใส่เป้สะพายหลังมา เผื่อต้องเปลี่ยนก่อนจะขึ้นเครื่องบินกลับเข้ากรุงเทพในวันเดียวกันเรียบร้อย แต่ปรากฏว่าไม่มีเหตุต้องใช้ …ถือว่าเตรียมมาเก้อ…รอดไป
ทั้งที่วันนั้นอยู่ที่โรงคัดแยกนานหลายชั่วโมง มีทั้งนั่งประชุม ดูจอห้องควบคุม มีทานกลางวันง่ายๆ แล้วเดินชมเครื่องจักรพร้อมซักถามกันจนเข้าใจพอจะกลับมาเขียนรายงานได้)
ขยะมูลฝอย มีอะไรให้สังเกตและเรียนรู้เยอะจริงๆ
สมัยหนึ่งเราเน้นฝังกลบ และบัดนี้แทบไม่มีที่ไหนที่จะเหลือพื้นที่ให้ฝังขยะอีกแล้ว
ต่อมาเราสนใจโรงเผาขยะ แต่เมื่อเจอความเปียกจากขยะครัวเรือนไทย เตาจำนวนมากก็อายุสั้นกว่าที่ฝรั่งคาด เท่าที่เคยดูมาก็เห็นที่โรงไฟฟ้าขยะที่หนองแขมของกทม.ที่เผาระบบปิด อากาศไม่มีรั่วไหล กลิ่นไม่ออก และเผาทั้งน้ำขยะและก๊าซจากในกองขยะไปด้วยนั่นแหละจึงเห็นศักยภาพและความสำคัญของการออกแบบให้ดีเสียตั้งแต่ต้นจึงจะช่วยได้จริง
ในเมื่อบัดนี้กองขยะขนาดใหญ่ๆของไทยอาจกลายเป็นปุ๋ยได้ด้วยความรู้ด้านจุลินทรีย์ที่มาเป็นสูตรๆ
จุลินทรีย์บางตัวถูกผสมเข้ามาเพื่อเกื้อกูลจุลินทรีย์ตัวอื่นที่มีคุณสมบัติที่กองขยะต้องการ นับว่าสูตรจุลินทรีย์เหล่านี้มีกองหน้า กองกลาง กองหลังพร้อม
และบางกรณี ก็มีการสกัดเอาเฉพาะเอนไซม์ของจุลินทรีย์มาทำให้เป็นผงสำเร็จรูป
น้ำหนักเบา ขนส่งง่าย และใช้น้ำผสมก็ทำงานได้ตามที่ออกแบบ
จึงดูแล้วเริ่มมีความหวังมากขึ้นหน่อย
แต่ครั้นจะหวังให้ทั่วไทยลงทุนมีระบบแบบนี้ครบถ้วนคงอีกนานพอดู
การประกาศอัตราของกรรมการกำกับกิจการพลังงานเกี่ยวกับราคาไฟฟ้าพลังขยะที่รอคลอดก็สำคัญ
แต่ไม่ว่าอย่างไร
เราจะเอาแต่ผลิตขยะโดยไม่คำนึงว่าเมื่อทิ้งแล้วมันจะไปไหนก็ช่างไม่ได้แล้ว
เราต้องเปลี่ยนความเคยชินแล้วทำตัวเราให้คุ้นกับ 3 R คือ
Reduce ลดการบริโภค ลดการใช้สิ่งที่จะสร้างขยะ
Reuse เอาของต่างๆวนกลับมาใช้ซ้ำให้ได้มาก รอบเท่าที่จะทำได้
Recycle เอาไปแปรรูปเปลี่ยนร่างให้มันเกิดประโยชน์ใหม่ให้ได้นานๆ
ขยับจากยุคฝังกลบแล้วเบือนหน้าหนี มาเป็นยุคตามล่าหากองขยะเก่าใหม่เพื่อใช้ประโยชน์จากขยะ โดยจะเอามารีไซเคิล หรือจะเอามาทำปุ๋ย หรือจะเอามาทำเชื้อเพลิง หรือจะเอาพลาสติกมาอบร้อนคืนเป็นน้ำมัน หรือแม้แต่เอาขยะพลาสติกมาหล่อทำก้อนบล้อคก่อสร้าง ก็ควรเร่งทำ เพื่อจะได้ขุดรื้อหลุมฝังกลบเก่าๆที่หมกเก็บไว้มาตลอดกว่าครึ่งศตวรรษให้กลับออกมาก่อนที่มันจะกระทบระบบน้ำใต้ดิน
ส่วนการจัดเก็บขยะ ไม่ให้ตกต้าง ไม่ให้หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในป่า ในคลอง ในเมือง ตามชายฝั่ง และในทะเล ทั้งที่ลอยและจมน้ำไปแล้วก็ควรตั้งใจทำกันเต็มที่ สนับสนุนพลังภาคประชาสังคมให้มาร่วมช่วยเก็บส่งกันเยอะๆ
สมัยก่อนผมเคยสงสัยอยู่ลึกๆว่าแพขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศขนาดย่อมนั้น ถึงแม้ลากเอาเข้าฝั่งได้แล้วจะให้ทำยังไงต่อ เพราะมันใหญ่มาก
แต่ตอนนี้ผมเริ่มคิดว่าเป็นไปได้ ที่วันหนึ่งโลกเราคงมีโรงงานใหญ่บนเรือที่ขับเคลื่อนตระเวนล่าแพขยะ โดยเรือจะกลั่นน้ำมันให้ตัวเองแล่นต่อได้จากขยะพลาสติกในทะเลไปจนกว่าจะเก็บขยะพลาสติกในมหาสมุทรจนหมดไปได้ในสักวันหนึ่งข้างหน้า
สำหรับประเทศไทยวันนี้ เอาเรื่องขยะภายในให้อยู่มือเสียก่อนก็เก่งแล้ว
คัดแยกขยะเปียกแห้งให้ชิน
ลดการก่อขยะที่ไม่จำเป็น
ส่งเสริมโครงการสีเขียวให้มาก
และกล้าระงับผ่อนผันการนำเข้าเศษพลาสติก
เข้มงวดกับการปราบปรามการลักลอบนำเข้าและสำแดงเท็จของขยะทุกประเภท
ไม่เพียงไม่ให้ไทยเป็นถังขยะของสากล
แต่เรายังต้องสามารถจัดการขุดรื้อเอาขยะใต้ดิน และขยะใต้พรมอีกสารพัดในสังคมเราออกมาสะสางย้อนหลังให้มากที่สุด
เร่งออกพรบ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และขยะอันตรายมาใช้งาน
เพื่อเราจะส่งมอบสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นปัญหาเกินเหตุให้คนรุ่นถัดไปมากไปกว่านี้
สำหรับผมแล้ว การดูงานหนนี้ได้ให้ความมั่นใจแก่ผมเพิ่มขึ้นแยะ ว่าขยะมูลฝอยเมืองไทยน่าจะมีทางออกที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้มาก
ใช้ความรู้รอบของฝ่ายจัดการ ผสมกับวินัยใหม่ๆของชุมชน และของครัวเรือนในการคัดแยกขยะตั้งแต่ก่อนทิ้ง เทศบาลมีกติกาจัดเก็บที่แม่นยำ ใช้ขยะมาทำประโยชน์จนไม่มีอะไรตกค้าง สร้างพลังงานที่สะอาดขึ้น แถมสามารถขุดขยะเก่าที่หมกกันไว้ขึ้นมาสะสาง และลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากกองขยะอินทรีย์ทั่วไทยได้มากที่สุด
ทำนโยบายการเงินการคลังภาคสังคมให้สอดรับ
ถ้าแบบนี้ค่อยมีหวังหน่อยครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร