กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด ประสานเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ในช่วงวันที่ 23 ก.ย. – 9 ต.ค.64 เกิดอุทกภัย 33 จังหวัด รวม 214 อำเภอ 1,153 ตำบล 7,793 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 303,881 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 9 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 16 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 17 จังหวัด ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่ระดับน้ำลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะที่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาระดับน้ำยังทรงตัว ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ พร้อมพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือประชาชนต่อไป

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ซึ่งเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. – 9 ต.ค. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กําแพงเพชร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 214 อำเภอ 1,153 ตำบล 7,793 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 303,881 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 9 ราย (ลพบุรี 6 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย และชัยนาท 1 ราย) ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 16 จังหวัด (เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง พิจิตร เพชรบูรณ์ ตาก กําแพงเพชร บุรีรัมย์ นครปฐม ยโสธร สุรินทร์ เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว จันทบุรี และปราจีนบุรี) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 17 จังหวัด 68 อำเภอ 396 ตำบล 2,039 หมู่บ้าน 88,667 ครัวเรือน ดังนี้

1. สุโขทัย ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสำโรง อำเภอคีรีมาศ ระดับน้ำลดลง และอำเภอเมืองสุโขทัย  ระดับน้ำทรงตัว

2. พิษณุโลก ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทอง อำเภอพรหมพิราม ระดับน้ำลดลง และอำเภอบางระกำ ระดับน้ำทรงตัว

3. ขอนแก่น ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูผาม่าน อำเภอชุมแพ อำเภอหนองเรือ อำเภอแวงน้อย อำเภอแวงใหญ่ อำเภอโคกโพธิ์ไชย อำเภอชนบท อำเภอมัญจาคีรี และอำเภอโนนศิลา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ส่วนในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น ระดับน้ำยังสูง

4. มหาสารคาม  มวลน้ำจากจังหวัดขอนแก่นไหลเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และเมืองมหาสารคาม ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตร ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

5. ชัยภูมิ ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอคอนสวรรค์ ระดับน้ำลดลง

6. นครราชสีมา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโนนสูง อำเภอพิมาย อำเภอคง อำเภอจักราช อำเภอแก้งสนามนาง อำเภอประทาย อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชุมพวง และอำเภอเมืองยาง ระดับน้ำลดลง จังหวัดตั้งจุดอพยพในอำเภอโนนสูงและอำเภอแก้งานามนาง ผู้อพยพ 47 คน

7. อุบลราชธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารนิชำราบ ระดับน้ำลดลง จังหวัดจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จํานวน 16 จุด ผู้อพยพ 2,004 คน

8. นครสวรรค์ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอพยุหะคีรี และอำเภอโกรกพระ ระดับน้ำลดลง

9. อุทัยธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองอุทัยธานี ระดับน้ำลดลง จังหวัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จํานวน 2 จุด ผู้อพยพ 28 คน

10. ชัยนาท ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอสรรพยา ระดับน้ำทรงตัว

11. ลพบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอบ้านหมี่ อำเภอพัฒนานิคม และอำเภอโคกสําโรง ระดับน้ำลดลง

12. สระบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่  อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอเสาไห้ อำเภอหนองโดน อำเภอบ้านหมอ และอำเภอดอนพุด) ระดับน้ำลดลง จังหวัดตั้งจุดอพยพ 6 จุด ผู้อพยพ 233 คน

13. สุพรรณบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง ระดับน้ำทรงตัว

14. สิงห์บุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี อำเภอค่ายบางระจัน อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี และอำเภอท่าช้าง ระดับน้ำทรงตัว

15. อ่างทอง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอ่างทอง  อำเภอไชโย อำเภอป่าโมก อำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอสามโก้ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองโผงเผง ซึ่งอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำ ระดับน้ำทรงตัว

16. พระนครศรีอยุธยา น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน อำเภอท่าเรือ อำเภอนครหลวง อำเภอบางปะหัน และอำเภอมหาราช ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล ซึ่งอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำ ระดับน้ำทรงตัว

17. ปทุมธานี น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ริมน้ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก  ระดับน้ำลดลง

ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่ระดับน้ำลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ขณะที่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีระดับน้ำยังทรงตัว ปภ.ร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิอาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เร่งระบายน้ำและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้วได้ประสานให้เร่งสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

 สำหรับประชาชนที่ประสบภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา วันที่ 9 ตุลาคม 2564

รวมระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,577 ลบ.ม./วินาที