ชมรมเพื่อนโดมมอบรางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ศิษย์เก่าผู้มีความเสียสละ “มารุต บุนนาค” พร้อมจัดปาฐกถาพิเศษปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และความหวังฟื้นเศรษฐกิจไทยท่ามกลางโควิด-19

ดร.สันติภาพ  เตชะวณิช ประธานชมรมเพื่อนโดม เปิดเผยว่า ในงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พ.ย.จะมีการปาฐกถาพิเศษ เรื่ององค์กรอัยการกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด

และปาฐกถาพิเศษ เรื่องความหวังการฟื้นเศรษฐกิจท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 โดยนายพิชัย  ชุณหวชิร

ประธานกรรมการบมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น อดีตนายกสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์

จากนั้นจะมีการมอบเข็มเกียรติยศธรรมศาสตร์สามัคคี 2564 โดยรศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีหาวิทยาลัย

ธรรมศาสตร์และดร.สันติภาพ เตชะวณิช ประธานชมรมเพื่อนโดมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีโดย นายกสมาคม

ธรรมศาสตร์ฯผู้รับเข็มเกียรติยศธรรมศาสตร์สามัคคี 2564 ประกอบด้วย

นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน นิติศาสตร์ 2518 อัยการสูงสุด ,นางสาวประไพ กาญจนรินทร์ เศรษฐศาสตร์ 2517 ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นิติศาสตร์ 2529 เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, นางพรพิศ เพชรเจริญ รัฐศาสตร์ 2524, นายจิระพัฒน์ พันธุ์ทวี นิติศาสตร์ 2525 เลขาธิการสำนักงานยุติธรรม ,นายขจิต ชัชวานิชย์ รัฐศาสตร์ 2524 ปลัดกรุงเทพมหานคร

จากนั้นเป็นพิธีมอบรางวัลจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ประจำปี 2564 แก่ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ผู้มีความเสียสละแล

คุณสมบัติเพียบพร้อมเป็นบุคคลต้นแบบ (Role model) นับเป็นการมอบรางวัลนี้ครั้งแรก โดยชมรมฯ ได้รับเกียรติ

จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาควิชาการและภาคประชาสังคม ตลอดจนสื่อมวลชนมาร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหา เสนอ

รายชื่อผู้สมควรได้รับรางวัลแก่คณะกรรมชมรมฯ พิจารณาและได้ลงมติแล้วว่า ศาสตราจารย์พิเศษ นายมารุต

บุนนาค เป็นผู้ที่เหมาะสมมีคุณสมบัติครบถ้วนด้วยประการทั้งปวงที่จะได้รับรางวัล“จิตวิญญาณธรรมศาสตร์”

โดยนายมานิจ สุขสมจิตร ที่ปรึกษาและอดีตประธานชมรมเพื่อนโดม มอบรางวัลโดย ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร  นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีโดย นายกสมาคมธรรมศาสตร์ฯ

นายมารุต บุนนาค (เกิด21สิงหาคม 2467) ผู้ได้รับรางวัลจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ประจำปีพ.ศ.2564

เป็นชาวธรรมศาสตร์ขนานแท้ เริ่มตั้งแต่การเป็นนักเรียนแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) รุ่น 5 และเป็นนักศึกษาที่สำเร็จเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี ๒๔๙๐ หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำนักศึกษาในช่วงปี 2494 กล่าวคือ เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน แล้วทหารเข้ายึดครองพื้นที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นายมารุตกับพวกได้ร่วมกันต่อสู้จนสามารถขอคืนพื้นที่มหาวิทยาลัยได้เป็นผลสำเร็จในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2494 ที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า “วันธรรมศาสตร์สามัคคี” ซึ่งครบรอบ 70 ปีในปีนี้  

เมื่อก้าวออกจากรั้วแม่โดมแล้ว นายมารุตประกอบอาชีพเป็นทนายความ มีสำนักงานทนายความของตนเองที่มีชื่อเสียงและได้รับความเชื่อถือ ทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาว่าความในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนถึงอายุ 90 ปี และมีตำราในวิชานี้ที่ได้รับการตีพิมพ์อยู่เสมอ

ในด้านการทำงานเพื่อประชาธิปไตยนั้น นายมารุตเป็นนักการเมืองในระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้แทนราษฎรที่ได้รับความเชื่อถือ ด้วยเป็นคนทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต และไม่เพียงแต่เป็นรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง หากยังเคยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ที่ได้รับความเคารพนับถือจากเพื่อนนักการเมืองด้วยกัน  ตราบจนปัจจุบัน นายมารุตมีอายุใกล้จะครบศตวรรษแล้ว ก็ยังได้รับยกย่องจากผู้คนในวงกว้างว่าเป็นนักการเมืองตัวอย่างคนหนึ่งของสังคมไทย

ในด้านทัศนคติส่วนบุคคล นายมารุตเป็นผู้ยึดมั่นในความเป็นธรรมในสังคมเป็นอย่างยิ่ง ดังบทสัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ยังกล่าวข้อความถึงนักศึกษาธรรมศาสตร์ในปัจจุบันว่า “การศึกษาของเรานั้น อย่ามุ่งศึกษาเพื่อความเจริญรุ่งเรือง และชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล…เราเรียนรู้ไปเพื่อรับใช้ประชาชน” และแม้อายุมากแล้ว นายมารุตยังติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ไม่ขาด ยังเอาใจใส่ความเป็นไปของบ้านเมืองอยู่เสมอ ทั้งยังเป็นผู้ใหญ่ที่ให้เกียรติผู้น้อย เปิดโอกาสให้คนเข้าไปขอความรู้ได้โดยไม่ถือตัว

จากชีวิตการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม เพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่ และชีวิตทางการเมืองของนายมารุตที่ผ่านมาหลายทศวรรษเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า นายมารุต บุนนาค เป็นผู้ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ และเป็นคนธรรมศาสตร์ต้นแบบที่สามารถให้อนุชนยึดถือเป็นแบบอย่างสำหรับการสืบสานต่อยอดวิถีชีวิตเช่นนี้สืบไป

ในวาระการรำลึกถึงวันธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พ.ย. ชมรมเพื่อนโดมจึงขอประกาศเกียรติคุณมอบรางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ประจำปีพุทธศักราช 2564 แด่นายมารุต บุนนาค ด้วยความเคารพอย่าง

“วันธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พ.ย.กำหนดขึ้นสืบเนื่องจากเกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันเมื่อ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ ภายหลังจากรัฐบาลปราบกบฎแล้ว รัฐบาลทหารในสมัยนั้นซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทำการเข้ายึดพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยสันนิษฐานว่านายปรีดี พนมยงค์มีส่วนหนุนหลัง แต่ใช้ข้ออ้างเพื่อความมั่นคงและรักษาความสงบเรียบร้อย ทำให้นักศึกษาไม่มีที่เรียน  ต้องกระจัดกระจายยืมใช้สถานที่เรียนต่างๆ อีกทั้งมีข่าวลือว่าจะไม่มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์อีกต่อไป

วันที่ 11 ตุลาคม 2494 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เดินทางไปทวงถามคำตอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายใต้คำขวัญ “ รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย ” แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน  กระทั่งต้นเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน นักศึกษากว่า 3,000 คน วางแผนขึ้นรถไฟไปที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยออกข่าวว่าจะไปทัศนศึกษาตามที่นักศึกษามักปฏิบัติกันในยุคนั้น แต่เที่ยวกลับได้นัดหมายให้สโมสรนักศึกษาจัดเช่ารถเมล์ขาวของบริษัทนายเลิศ หลายสิบคัน พร้อมกับขนนักศึกษาทั้งหมดจากหัวลำโพง ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเดินเข้ายึดพื้นที่มหาวิทยาลัยคืนจากทหารได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ โดยมีนายมารุต บุนนาค เป็นผู้นำนักศึกษาในขณะนั้น

จึงได้ถือเอาวันดังกล่าว เป็น “ วันธรรมศาสตร์สามัคคี ” และต่อมาศิษย์เก่าในนามชมรมเพื่อนโดมเริ่มจัดกิจกรรมรำลึก ตั้งแต่พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน

สารประธานชมรมเพื่อนโดม

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2555 สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นชอบให้วันที่ ๕ พฤศจิกายนของทุกปีเป็น วันธรรมศาสตร์สามัคคี และเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ เนื่องมาจากว่า วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ เป็นวันที่ชาว ม.ธ.ก. ได้วางกุศโลบายในการที่จะยึดคืนมหาวิทยาลัยจากกองทัพบก ที่ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราวโดยอ้างเพื่อความสงบเรียบร้อย ภายหลังการปราบกบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 และเห็นว่ามหาวิทยาลัยเป็นขุมกำลังสำคัญของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ ที่มีความขัดแย้งเชิงนโยบายกับฝ่ายทหารตลอดมา ทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่มีที่เรียนเป็นเวลาประมาณ ๔ เดือน

ต่อมาในวันที่ 28 กันยายน 2494 กองทัพบกได้เสนอซื้อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวงเงิน 5 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นที่ตั้งหน่วยทหาร  คณะกรรมการนักศึกษาจึงได้ผลิตใบปลิวและหนังสือพิมพ์ติดตามตึกต่างๆ กระจายทิ้งไว้ตามห้องเรียนต่างๆ มีใจความว่า “ถ้าท่านรักธรรมศาสตร์ เห็นแก่ธรรมศาสตร์ ขอให้เดินกันอย่างสงบไปที่รัฐสภา เพื่อเป็นกำลังใจให้กับ ส.ส. รุ่นพี่ของเราในการเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืนในวันที่ 11 ตุลาคม” ปรากฏว่า ในวันดังกล่าวมีนักศึกษากว่า 3,000 คน เดินจากกระทรวงยุติธรรมไปยังรัฐสภาเพื่อขอมหาวิทยาลัยคืนจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พร้อมชูคำขวัญ”รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” กลุ่มนักศึกษาหญิงเรียกร้องให้จอมพล ป. ลงมาพบที่สนามหญ้าหน้าสภา และนายกรัฐมนตรีมาตอบนักศึกษาว่าจะคืนให้ภายในหนึ่งเดือน ในขณะเดียวกัน ส.ส.เพทาย โชตินุชิต ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ก็ได้ยื่นกระทู้ถามรัฐบาลว่า จะคืนมหาวิทยาลัยเมื่อใด

แต่ผ่านไปหนึ่งเดือนไม่มีท่าทีจากรัฐบาลว่าจะคืนมหาวิทยาลัยให้ กลุ่มนักศึกษาจึงตัดสินใจเข้ายึดมหาวิทยาลัย โดยจัดการนำเที่ยวนครสวรรค์ด้วยรถไฟ ค้างนครสวรรค์หนึ่งคืน แล้วกลับมากรุงเทพฯ เช้ามืดวันที่ 5 พฤศจิกายน 2494 สมทบกับนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งที่รออยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงแล้วจัดรถบัสคันใหญ่ 12 คัน รวมนักศึกษาประมาณกว่า 3,000 คน กรูกันเข้าไปทวงมหาวิทยาลัยคืนจนทำให้ทหารที่เฝ้าอยู่ต้องถอยออกไป เป็นผลให้จอมพล ป. ต้องยอมคืนมหาวิทยาลัยให้นักศึกษา ฉะนั้น จึงเรียกกันว่า “วันธรรมศาสตร์สามัคคี” หรือ “วันคืนสู่เหย้า”

เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ที่เกือบจะเลือนหายไปจากความรู้ของอนุชนคนธรรมศาสตร์รุ่นหลังนี้ ในปี ๒๕๔๒ จึงมีอดีตนักศึกษา นักกิจกรรม กลุ่มหนึ่งรวมตัวกันขึ้นเรียกว่า “ชมรมเพื่อนโดม” โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน ได้เล็งเห็นว่า “วันธรรมศาสตร์สามัคคี” เป็นวันที่มีความหมายต่อชาวธรรมศาสตร์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งหากไม่มีวันดังกล่าวนี้แล้ว ก็คงไม่มีธรรมศาสตร์ในวันนี้ให้ได้เรียน

ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นี้ “วันธรรมศาสตร์สามัคคี” เวียนบรรจบมาครบรอบ 70 ปี ชมรมเพื่อนโดมจึงริเริ่มให้มีการมอบรางวัล”จิตวิญญาณธรรมศาสตร์”ขึ้นเป็นปีแรก โดยเชิญศิษย์เก่าผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายรุ่นและหลากหลายคณะมาร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหา ซึ่งในปีนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมาเป็นประธานกรรมการสรรหา พร้อมกับการจัดกิจกรรมรำลึกเช่นทุกปีเป็นครั้งที่ ๒๒ ณ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้เรื่องราวของนักศึกษาในรุ่นก่อนได้รับการส่งต่อให้กับลูกแม่โดมรุ่นต่อรุ่น และตอกย้ำในจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ไม่เสื่อมคลายไปตามกาลเวลา

และในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิดยังระบาดอยู่เป็นการทั่วไป  จำเป็นที่ต้องมีการจำกัดผู้เข้าร่วมงาน จึงจัดให้มีการถ่ายทอดสดทางสื่อออนไลน์เพื่อให้ชาวธรรมศาสตร์สามารถรับชมได้ทั่วประเทศโดยพร้อมเพรียงกัน

ท้ายสุดนี้  ขอแสดงความยินดีแก่ศาสตราจารย์มารุต บุนนาคที่ได้รับรางวัล”จิตวิญญาณธรรมศาสตร์”และศิษย์เก่าทุกท่านที่ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติธรรมศาสตร์สามัคคีด้วยความจริงใจ

ขอบคุณครับ

                                                                                ดร.สันติภาพ เตชะวณิช

                                                                                ประธานชมรมเพื่อนโดม