ศบค. ปรับระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด นายกฯ ขอสถานประกอบการเร่งทำ COVID Free Setting ผู้ประกอบการต้องฉีดวัคซีน /ตรวจ ATK อย่างจริงจัง เพื่อเตรียมความพร้อม

ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 19/2564 เห็นชอบปรับมาตรการควบคุมโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ปรับจำนวนวันกักตัว หรือพำนักในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว เป็น 5, 10, 14 วัน ปรับการตรวจหาเชื้อหลังการเข้าประเทศ สำหรับ Test and Go เป็น ATK ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 0 จังหวัด ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ 15 ต่อไปอีก 2 เดือน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยนิด้าโพลพบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจต่อมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการให้ความสำคัญระหว่างความอยู่รอดทางเศรษฐกิจกับความปลอดภัยของสุขภาพ พบว่า ประชาชนร้อยละ 58.95 ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสุขภาพ แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังมีความกังวลกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องสร้างความเข้าใจเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย รวมถึงการหายารักษาโควิด และเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล และเตียงรักษาผู้ป่วยในทุกกลุ่มอาการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และร่วมมือ ร่วมใจกัน พาประเทศไทยกลับมาสู่สภาวะปกติ ธุรกิจเดินหน้า และประชาชนปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา” เป็นโครงสร้างหนึ่งภายใต้ ศบค. เพื่อบูรณาการการทำงานที่เกี่ยวกับการเปิดประเทศ และแก้ไขข้อขัดข้องที่อาจจะเกิดขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจ กระตุ้นพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการช่วยกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถประคองตัวต่อไปได้ ทั้งนี้ ขอให้ช่วยกันผลักดันและหามาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนไทยให้มากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรียังขอให้ทุกหน่วยงานมีการถอดบทเรียนจากการดำเนินการและการแก้ไขปัญหารวมถึงการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ของ เพื่อสร้าง Big Data เป็นฐานข้อมูลด้านสุขภาพของประเทศด้วย พร้อมสั่งการให้หาวิธีสร้างมูลค่าให้บัตรฉีดวัคซีน เพื่อให้เห็นว่าถ้าใครฉีดวัคซีน จะสามารถเดินทางได้ทั่วไทย แต่ถ้าไม่ฉีดต้องอยู่บ้าน โดยรณรงค์ให้ประชาชนมารับวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งให้มีการสื่อสารเรื่องจำนวนเตียงรักษาที่มีเพียงพอ ขณะนี้มีการใช้เตียงเพียง 1 ใน 3 และผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขหาสาเหตุของการเสียชีวิต  เน้นให้ยารักษาอย่างทั่วถึงเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต รวมทั้งสื่อสารให้สถานประกอบการเร่งทำ COVID Free Setting ในการเตรียมพร้อมเปิดสถานประกอบการ โดยเฉพาะกิจการสถานบันเทิง ที่ผู้ประกอบการต้องฉีดวัคซีน และมีการตรวจ ATK อย่างจริงจัง เพื่อคู่ขนานไปกับการประเมินสถานการณ์ประกอบการพิจารณาเปิดให้บริการ

ที่ประชุมมีมติที่สำคัญ ดังนี้

เห็นชอบการปรับมาตรการควบคุมโรค สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2564  ดังนี้

-ปรับจำนวนวันกักตัว หรือพำนักในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว เป็น 5, 10, 14 วัน ขึ้นกับกรณี

-ปรับการตรวจหาเชื้อหลังการเข้าประเทศ สำหรับ Test and Go เป็น ATK

-ไม่ต้องตรวจหาเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ก่อนเข้าราชอาณาจักร

-ปรับหลักเกณฑ์สำหรับการได้รับวัคซีนในเด็ก และผู้ที่มีการติดเชื้อมาก่อน

มอบหมาย ศปก.ศบค. ศปก.กก. ททท. กต. สธ. ดศ. มท. สตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ และกำกับติดตามการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ศปก.กก. ททท. สธ. (กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) จัดทำระบบการตรวจหาเชื้อโดย ATK สำหรับประเภท Test and Go

นอกจากนี้ยังมีการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ดังนี้

– การปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

– พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 0 จังหวัด / พื้นที่ควบคุมสูงสุด 23 จังหวัด / พื้นที่ควบคุม 23 จังหวัด / พื้นที่เฝ้าระวังสูง 24 จังหวัด / พื้นที่เฝ้าระวัง 0 จังหวัด / พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 7 จังหวัด

ทั้งนี้ มาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 สำหรับทุกระดับพื้นที่สถานการณ์ คงใช้มาตรการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 37) สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน

– ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ต่อไปเป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2564 – 31 มกราคม 2565

อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า กระทรวงแรงานจะประชุมร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และลูกจ้างกิจการสถานบันเทิง เพื่อพิจารณามาตรการดูแลช่วยเหลือเยียวยาให้กับลูกจ้างกิจการสถานบันเทิง