Foresight การเดินทางท่องเที่ยวหลังโควิด : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

การฟื้นกลับของโลกท่องเที่ยวหลังผ่านยุคโควิด ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในปี2022หรือหลังจากนั้น ผมประเมินว่า จะมีอาการกึ่งสำลักในช่วงต้น เพราะอัดอั้นกันมานาน

ทุกประเภทของแหล่งท่องเที่ยวจะได้รับแรงกระแทกของการกลับมาปรากฏตัวของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มทุกประเภทแบบมีกระฉอก

เพราะจะเตรียมตัวมากแค่ไหนก็จะยังมีกระฉอก ทุกพื้นที่ยังมีความกังวลที่จะลงทุนปรับปรุงระบบใหญ่ ทั้งเพราะไม่มีงบ ไม่มีลูกจ้าง และไม่มั่นใจว่าโรคระบาดจะปะทุขึ้นอีกเมื่อไหร่

แต่ทุกพื้นที่ก็อาจประสพกับการกระฉอกในระลอกแรก

ไม่ใช่เพราะมามากล้น แต่เพราะมาพร้อมเวลากัน เหมือนเวลาที่เราเปิดก้อกน้ำ แล้วความดันค้างท่อพ่นน้ำปริมาณเท่าเดิมออกมาแต่ด้วยความดันสูง จึงทำให้น้ำกระฉอกออกจากขันที่นำมารอง ทั้งที่อีกอึดใจเดียว เมื่อความดันในท่อกลับสู่ภาวะปกติ น้ำที่ไหลออกมาก็จะอยู่ในขันรองรับอย่างไม่กระเด็นกระจายอย่างระลอกแรก

จังหวะกระฉอกแบบนั้น จะเป็นอีกหน้าต่างทองคำ( golden opportunity)ที่จะช่วยปลุกตื่นให้ทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้เที่ยวและผู้รับ สะท้อนใจว่า ในขณะที่กำลังดีใจที่ได้มีการท่องเที่ยวคืนมา แต่ก็ต้องเร่งตระหนักต่อความยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยงต่อผลลบที่จะมีมาจากความแออัดที่ยังไม่จัดระบบนั้นด้วย

ในช่วงที่มีโควิดระบาดรุนแรงอยู่นั้น ดูเหมือนว่า ฝ่ายรอรับลูกค้าจะไม่ได้ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือประกาศการปรับปรุงระบบอะไร เพราะความกดดันเปลี่ยนไปเป็นความเงียบเหงาทางการตลาดเสียมากกว่า

นั่นคือฉากทัศน์แรก ที่ผมคาดไว้

ในฉากทัศน์ที่สอง เมื่อภาวะการคืนสู่ความคึกคักจางลง  ความconcern ด้านสิ่งแวดล้อมก็ดี การจัดการเรื่องคิวรอคอย การออกแบบกิจกรรมให้สอดรับกับยุค workation และ work from anywhere จะทำให้เกิดความพยายามปรับตัวขนานใหญ่

จังหวะที่สองนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ เครือข่ายการเงิน การลงทุน และสินเชื่อต่างๆจะสามารถเอื้อเฟื้อได้อย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การยกระดับมาตรฐานใหม่ๆ การพยายามปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก และการรื้อแก้ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการกำกับดูแล และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นคู่ขนานกันไป ( ทั้งที่จริงผมอยากให้ทำไปล่วงหน้าในระหว่างโควิดยังระบาด เพราะเป็นช่วงที่ไม่มีแขกนั่งเบียดกันในห้องรับแขกมากนักอยู่แล้วก็ตาม)

นักเดินทางอาเซียน นักเดินทางจากเอเชียใต้และกลุ่มมุสลิมซึ่งยังเข็ดขยาดกับสภาพที่โลกตะวันตกยังมีทัศนคติแบบ’’แยกขาวแยกแขก’’ จะพอใจที่จะบ่ายโฉมการท่องเที่ยวออกมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พวกเขารับรู้ว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้คนกลุ่มน้อยนิดที่ไร้พลังต่อรอง

แต่นั่นก็จะสายไปสำหรับฝ่ายเมืองผู้ต้อนรับที่ยังได้ทำการบ้านเพื่อจะรู้จักเบื้องลึกของวัฒนธรรมของนักเดินทางกลุ่มใหม่ที่มาถึงหน้าบ้าน

แล้วเราก็อาจดูผิดดูถูกอะไรต่ออะไรโดยไม่ตั้งใจไปจนเสียความรู้สึกระหว่างผู้มาเยือนได้อีก ซึ่งดูจะเป็นความซ้ำๆซากๆก่อนจะการเรียนรู้อะไรใหม่ของสังคมที่ไม่ได้ใช้สัญชาตญาณแบบ Data driven หรือสังคมที่ใช้ความรู้ มากกว่าความรู้สึกในการขับเคลื่อน

ส่วนช่วงที่สาม คือเมื่อระบบการเดินทางระหว่างพรมแดนเปิดรั้วและเปิดบริการแนวใหม่ เช่นรถไฟระหว่างประเทศ การเปิดใช้เทอมินัลใหม่ของสนามบิน การเปิดสนามบินใหม่ๆทั้งในไทยหรือที่ติดชายแดนไทย

จะเกิดการเสริมใหม่ของบริการและกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ใหม่ๆอย่างที่ยังไม่เคยมีมาในอดีต

เช่นผู้สูงอายุจากจีนที่พอใจกับการจัดคณะเดินทางเปลี่ยนมานั่งรถไฟจีน-ลาว เพราะการนั่งรถไฟนั้น สามารถลุกเดินสนทนา ตั้งวงระหว่างเดินทางได้ พวกเขาอาจมาพร้อมลูกหลานว่านเครือหรือเป็นกลุ่มสูงวัยทั้งกลุ่ม ที่ทำให้เมืองตามริมน้ำโขงของไทยเกิดอาการกระหายอยากได้พวกเขาให้ข้ามมาเยือนประเทศไทย แต่ไม่ได้เตรียมระบบอะไรไว้รองรับ

หรือสนามบินเบตงจะทำให้ชาวจีนเผ่าจ้วงอีกกลุ่มอยากมาสัมผัสและเชื่อมกับชาวเบตงเดิมซึ่งสืบสายมาจากคนจีนเผ่าจ้วงที่อพยพออกมาเมื่อเกือบศตวรรษที่ผ่านมา อันจะกลายเป็นนักเดินทางหน้าใหม่เอี่ยมของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่โดดเด่นขึ้นมา

ช่วงโควิดระบาดได้ผลักให้ลูกค้าแทบทุกคนชินกับความสามารถใหม่ที่เขาต้องใช้ดิจิทัลในการใช้ชีวิต แต่สิ่งที่เราใช้ในระดับระบบย่อย ยังไม่ได้ปรับตัวให้ดิจิทัลเชื่อมไหลอย่างไม่สะดุด จึงอาจทำให้กลุ่มอะนาลอกยังคงพยายามยัดเยียดบริการแบบเดิมๆไปอย่างตกยุค

แต่อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้จะให้โอกาสการริเริ่มการวางผังเมืองใหม่ เกิดความพยายามวางรูปแบบการท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ ซึ่งในเวลาเดียวกันก็จะกดดันให้ต้องพยายามหาอัตลักษณ์เพิ่ม ซึ่งจะว่าไปก็คือกลายเป็นเรื่อง รอ Demand push ทั้งที่ควรจะสามารถทำแผนใหญ่ให้หลายๆอย่างเป็น Supply Pull เพื่อจะได้ไม่กระฉอกหรือสำลัก

แนวทางของการท่องเที่ยวที่ค้นสร้างจากมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น ค้นสร้างจากประวัติศาสตร์เมือง การใช้สตอรี่เป็นแก่นยังจะเกิดขึ้นอีกมาก

การพยายามบริหารกิจกรรมโดยแสดงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะละเอียดอ่อนจะมีมากขึ้น อารยสถาปัตย์จะถูกพัฒนาอย่างเอาใจใส่มากขึ้น

การผสมผสานใช้ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี กีฬา และการถนอม รวมทั้งซ่อมแซมสุขภาพ จะยิ่งถูกนำมาใช้สร้างมูลค่าและราคาให้กับกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อเสริมประสบการณ์ใหม่มากขึ้น

อาหารถิ่น ในมาตรฐานสุขอนามัยสากลจะมีบทบาทมากขึ้น

การท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับบรรยากาศกึ่งผจญภัยในธรรมชาติเช่น ลงพายเรือลงแพยาง จักรยานน้ำ หรือเดินลุยลำธาร หรือไต่เดินบนราวเขาพอให้ได้อารมณ์ธรรมชาติ แต่มีระบบป้องกันภัยอย่างได้มาตรฐานจะมีมากขึ้น

แนวโน้มการเดินทางด้วยการมีตั๋วเดินทางราคาถูกพิเศษล่วงหน้าจะเกิดขึ้นอีก เพราะผู้ประกอบการจะเอาคูปองอนาคตมาวางขายเพื่อระดมเงินสดไปใช้กอบสร้างฟื้นฟูกิจการก่อน

โดยสรุป  ในวิกฤตจะสร้างโอกาสให้เกิดการปรับฐานกันได้ใหม่ได้อย่างกว้างขวางเสมอ

เพียงแต่การปรับฐานหลังโควิดนั้นยังมีวิกฤตที่เป็นคลื่นตามหลังมาอีกสองลูกใหญ่ คือคลื่นเศรษฐกิจฝืดเคืองที่จะกวาดโครงสร้างเก่าออกอีก ตามด้วยปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้การปรับฐานครั้งนี้ที่หากทำไปเพียงเพื่อแข่งขันได้แต่ไม่ได้ทำเพื่อการเปลี่ยนฐานการพึ่งพาไปเป็นมิตรกับสภาพธรรมชาติ ย่อมจะทำให้ผู้ประกอบการเผชิญกับความเสียหายอย่างรุนแรงอีกครั้งต่อไป

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

18 มกราคม 2022