กระบี่-ลันตา กับ ท่องเที่ยว Blue Carbon

ความเดิมตอนที่แล้ว ผมเล่าถึงงานวิจัยสนามที่ทีมนักวิจัยเข้าไปทำกับชุมชนและคนในวงการท่องเที่ยวที่ฝั่งเมืองกระบี่ เพื่อสนับสนุนให้กระบี่ทะยานต่อจากกระบี่ Go Green ไปสู่ ท่องเที่ยวกระบี่แบบ Zero คาร์บอน

ไม่ง่ายแน่…แต่มีความพยายามกันจริงจังล่ะ

ข้อเขียนของผมตอนนี้ จะพาออกไปที่เกาะลันตาครับ

แต่ไหนแต่ไรมา ใครจะไปเกาะลันตาต้องลงแพขนานยนต์แล้วขึ้นที่เกาะลันตาน้อย แล่นรถไปอีกฟากของเกาะลันตาน้อย เพื่อไปลงแพขนานยนต์อีกลำเพื่อข้ามไปให้ถึงเกาะลันตาใหญ่อีกที

ธรรมชาติสวยสงบครับ

ผู้ที่ยังไม่เคยไปเกาะลันตา ให้นึกภาพแผนที่ประเทศไทยแล้วนึกตำแหน่งที่ตั้งของเกาะภูเก็ตไว้

ทีนี้มองแผนที่ลงใต้ไปอีกนิด จะเจอเกาะลันตายื่นจากแผ่นดินใหญ่ไปในทะเล คล้ายๆกับที่เกาะภูเก็ตยื่นลงไปในอันดามันนั่นแหละ

เพียงแต่เกาะภูเก็ตใหญ่กว่าเกาะลันตาอีกสักเท่านึง

เท่าที่ประเมินด้วยสายตาวันนี้ เกาะลันตายังคล้ายเกาะภูเก็ตเมื่อสัก30ปีก่อน

ถนนรอบเกาะมีสายเดียว ทางไม่กว้าง และบางช่วงผิวทางเก่าไปตามสภาพ

แต่ด้วยบัดนี้มีสะพานใหม่เชื่อม ระหว่างเกาะลันตาใหญ่กับเกาะลันตาน้อยแล้ว การลงแพขนานยนต์จึงหดหายไปหนึ่งทอด

ส่วนสะพานที่จะข้ามมาจากแผ่นดินใหญ่นั้น ฟังว่าจะเสร็จเปิดใช้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แปลว่าที่ดินราคากระโดดไปไกลแล้ว การลงทุนสร้างอาคาร และขยายถนน สร้างซอยเพิ่ม สร้างอพาร์ตเมนต์รองรับแรงงาน การมาของตลาดนัดจากนอกเกาะ การมีร้านซ่อมท่อไอเสีย  สถานบันเทิง เผลอๆจะมีผับบาร์โผล่ปุบปับเอาง่ายๆ

ดังนั้นอบายมุข ขยะ น้ำทิ้ง และเศษวัสดุก่อสร้าง ซากปรักสารพัดคงจะถูกผุดไว้เป็นอนุสรณ์ประกอบการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนถ้าไม่ระวัง

ร้านอาหารติดทะเลจะปักเสาเพิ่มแผ่นกระดานตั้งโต๊ะอาหาร ยื่นลึกลงทะเลไปไกลขึ้นเรื่อย เพื่อชิงวิวว่าของตัวสวยกว่าใคร

ดูจะเป็นรูปแบบที่เราเห็นกันมาเสมอกับแหล่งท่องเที่ยวที่ไปสะดวกขึ้นมากๆ

นักท่องเที่ยวคุณภาพคงหดวูบ

ผมไม่ต้านสะพานที่จะช่วยชาวเกาะออกมาโรงเรียน มาห้องฉุกเฉินบนฝั่งได้สะดวกขึ้นเลย

แต่อยากชวนให้มี’’ธรรมนูญเกาะลันตา’’โดยความตกลงกันของชาวเกาะ เพราะไม่งั้นข้อขัดแย้งระหว่างคนย้ายเข้ามาหากิน กับคนท้องถิ่นดั้งเดิมต้องปะทุแน่

ยิ่งที่นี่มีทั้งชาวอูรักลาโว้ย คนจีนฮกเกี้ยน พี่น้องอิสลามอยู่ด้วยกันมานาน

ธรรมนูญของเกาะควรมีการตกลงแบ่งโซนที่ชี้นำรูปแบบการพัฒนาต่างๆไว้  มีข้อบัญญัติท้องถิ่นรองรับ และทำให้เป็นประกาศเปิดเผย

กำหนดความสูง สีและวัสดุที่ทำอาคาร การติดป้าย  รูปแบบหลังคา คุมเรื่องถังบำบัดน้ำทิ้ง กำหนดวิธีจัดการขยะ ควบคุมกิจกรรมที่ใช้เสียง แสงหรือการสั่นสะเทือนสูง เช่นคอนเสิร์ต หรือยิงพลุ ควงกระบองไฟ  การแสดงโชว์ การควบคุมดูแลเรื่องเรือเสียงดัง คุมกิจกรรมที่กระทบป่าชายหาดและชายเลน ฯลฯ

ควรระบุกันให้ดี

เพราะป่าที่เกาะนี้สมบูรณ์ มีสัตว์ป่าประจำถิ่นอย่างลิง อย่างปูสวยๆ นกเงือก และนกย้ายถื่นตามฤดูกาลจากออสเตรเลีย มีแนวปะการัง และหญ้าทะเลที่ดี

ถ้าธรรมนูญถูกสร้างขึ้นดีพอ ชาวบ้านรู้สึกเป็นเจ้าของ มีภาคท้องถิ่นและนายอำเภอ ตลอดจนสภาเทศบาล ออกข้อกำหนด ข้อบัญญัติรับรอง

เราจึงจะพอพูดกันถึงเรื่องจะรักษาการ Go Green และการไปสู่  Zero คาร์บอนได้ต่อไป

ผศ.ดร.จิตศักดิ์ พุฒจร และ ผศ.ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ นำคณะนักวิจัยและผมไปพบกับคุณนราธร หงษ์ทอง ประธาน ‘’ชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทุ่งหยีเพ็ง’’ ที่บ้านบวก บนเกาะลันตา ได้เห็นความสร้างสรรค์ในการใช้ใบไม้ใหญ่ปูแทนแผ่นพลาสติกรองจาน  ทานจบรวบใบไม้ใหญ่พร้อมเศษก้างหรือกระดูกเหลือจากการทานไปลงหลุมทำปุ๋ยอินทรีย์ได้เลย

ชาวบ้านทำชาใบลำเพ็ง และนำใบขลู่เสิร์ฟมาให้จิ้มทานกับน้ำพริกและกะปิที่มีรสอร่อย  มีกิจกรรมพาทำด้านศิลปะ และการทำคลาสให้เรียนด้านอาหาร ทำชาดื่มกันอย่างน่ารักน่าลองทำ

กิจกรรมไฮไลต์ นอกจากอาหารสร้างสรรค์ของที่นี่  คือการที่ชุมชนจัดเรือยืนแจว ดูคล้ายคนยืนแจว กอนโดล่าในเวนิส ใช้เรือที่เคยขนไม้ฟืนจากโกงกางมาใส่หลังคาและประดับผ้าม่านโปร่ง ดูคลาสสิก เรียบง่ายให้นักท่องเที่ยวนั่งออกจากท่าที่ป่าชายเลน 

ทริปสำคัญต้องออกตั้งแต่ตีห้า!!

ใช่ครับ ออกตีห้า เพื่อไปดื่มด่ำกับความเงียบสนิทของคลองน้ำเค็มก่อนถึงทะเลยามที่มืดสนิท

ทีแรกผมไม่สู้จะเข้าใจ สงสัยว่าจะตื่นมาลงเรือเเจวไปดูความมืดทำไม

แต่เมื่อนักวิจัยยืนยันว่า รับรองจะประทับใจแน่

เราเลยยอมตื่นมาเดินงัวเงียเป็นแถวตามแสงไฟฉาย บนทางเดินแคบๆในป่าชายเลนที่มืดสนิท ลงเรือแจวทีละลำจนครบทุกคน

แล้วบังที่ปกติเป็นชาวประมง แต่วันนี้มาในชุดยาวของชาวไทยมุสลิมสีสุภาพ ก็ลุกยืนขึ้นจับพายแจวพาออกจากท่าไปอย่างเงียบกริบ

มีเพียงเสียงพายกระทบน้ำเบาๆ…

เราทุกคนสงบนิ่ง เพราะนานทีจะได้อยู่ในที่เงียบและมืดสนิทขนาดนี้ คุณดวงกมล จันสุริยวงศ์ อดีตนายกสมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัยนั่งคู่กับผมและ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชนณ์และคุณนราธร หงษ์ทอง

แปลว่าลำนึงบรรทุกสัก4 -6 คนกำลังดี

คุณจ้อบ นิธิ สมุทรโคจรและทีมถ่ายทำรายการก็อีกลำ

นักวิจัยชายหญิงกระจายลงเรือ ชื่นชมบรรยากาศกันไปเงียบๆ

ออกจากท่ามาได้เพียง15นาที ฟ้าเริ่มสว่าง นกร้อง ลิงในป่าเริ่มเคลื่อนไหว และแสงขอบฟ้าละเลียดแทงเมฆออกมาเรื่อยๆ

เรายิ้มพยักหน้าให้กันอย่างเข้าใจ

เรือพามาอยู่กลางอ่าวอันเวิ้งว้างที่ไร้คลื่นลม แต่ก็ไม่ร้อน เพราะนี่คืออ่าวที่ถูกล้อมไว้ด้วย3ด้านของเกาะ

ถ้าจะออกทะเลใหญ่ ต้องพายไปให้สุดทางแล้วจึงเลี้ยวเรือออกไปเจอคลื่นจริงของอันดามัน

ใต้น้ำเป็นแหล่งหญ้าทะเล ขอบอ่าวน้ำเค็มนี้เต็มไปด้วยป่าชายเลนอันสมบูรณ์

มีลิงอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ คอยจับปูตามชายเลนขึ้นไปกิน

ฝีพายจัดรูปขบวนใหม่ จากที่ยืนแจวตามกันมาเป็นหน้ากระดาน ก็ปรับขบวนเป็นวงล้อม แล้วพายเข้าให้หัวเรือติดกัน ผมไต่ไปหัวเรือรับเชือกมาโยงผูกไว้

เราเริ่ม ‘’สุมหัว(เรือ)คุยกัน’’ โดยเรียนเชิญรศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน เล่าเรื่อง การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของป่าชายเลนและหญ้าทะเล อธิบายเรื่อง Blue Carbon ทุกคนมีที่นั่งริงไซด์ ไม่ต้องใช้ไมโครโฟน เพราะไม่มีลม ไม่มีเสียงคลื่น ไม่มีเสียงใดๆรบกวนการบรรยาย เรือนิ่ง ไม่โยนตัวไปมา

บังผู้พายท้ายเรือคล่องแคล่ว ย่อตัวลงนั่งดึงถาดชงชากาแฟที่เตรียมไว้ออกมาเริ่มชงเสิร์ฟให้เราได้ดื่มไปฟังไป

อาหารเช้าในกระทงใบปาล์มสาน  บรรจุข้าวเหนียวปลากุเลาแดดเดียว และข้าวต้มมัดถูกส่งต่อๆออกมาให้ทุกคน’’ชิมไปชมไป’’

ไม่มีใครบ่นว่าต้องตื่นเช้า เพราะกำลังเพลินกับการ ‘’อาบอรุณ กลางอ่าวน้ำเค็มของอันดามัน’’ ท่ามกลางป่าเขียวเข้ม และแสงตะวันอ่อนๆ

ฟังจบ รศ.ดร.กฤษณะเดช  เจริญสุธาสินี จาก ม.วลัยลักษณ์ แสดงจุดบนจอแท็บเล็ตให้เห็นว่า GPS ที่ติดบนเรือกลางน้ำอย่างเราก็ปรากฏพิกัดให้ค้นเจอได้แม่นยำเหมือนที่ติดเรือข้ามฟากตอนขานั่งรถข้ามมาวานก่อน

จากนั้นผมคลายเชือกผูกขบวนเรือ แล้วหมุนหัวขบวน พายมุ่งเข้าที่ตั้งบนฝั่ง

ผมเปลี่ยนไปลงเรือแคนูเล็ก จับพายคู่กับบังหนุ่มชาวประมงนักจับปลากระบอก บังพายแคนูเก่งมาก แม้ไม่ต้องเหลียวมามองจังหวะพายของผมเลย แต่บังฟังเสียงการจ้วงน้ำก็สามารถรู้ว่าควรจะลงพายคู่หน้าอย่างไรจึงจะทำให้เรือพุ่งไปข้างหน้า และประคองทิศทางช่วยผมได้

ด้วยความที่แคนูกินน้ำตื้นกว่า เราจึงสามารถพายเข้าไปใกล้ป่าชายเลนได้ใกล้ เห็นทางน้ำของป่าชายเลนที่แหวกเป็นร่องลึกแคบๆ แม้เอาเรือเข้าไม่ได้ เดินเท้าเข้าก็น่าจะยากลำบากมาก  การเพ่งมองลึกๆเข้าไปจะเห็นความน่าพิศวงของระบบนิเวศน์ที่ซ่อนอยู่ในนั้น ว่ามีสิ่งมีชีวิตมากมายกำลังทำกิจกรรม ทั้งที่ใต้เลน ใต้น้ำและใต้ร่มไม้ และด้วยความแน่นของพวงราก นักท่องเที่ยวคงไม่สามารถเหยียบเข้าไปรบกวนในย่านนั้นมานานแล้ว

ที่นี่จึงถูกมองว่า น่าจะปล่อย’’คาร์บอนเป็นลบ’’ด้วยซ้ำ

ตลิ่งบางส่วนมีต้นไม้ขนาดใหญ่คว่ำล้มลงมา ซึ่งบังบอกว่าคลื่นของเรือหางยาวที่แผดเสียงก้องจะออกไปหาปลาและที่พานักท่องเที่ยวชมป่าชายเลน กระแทกชายเลนที่อ่อนนุ่มจนดินทะลายออกมาเกินกว่าที่ต้นไม้แถวนอกสุดจะยึดอะไรไว้ จึงมีอันต้องล้มไปอย่างน่าเสียดาย

ชาวชุมชนบอกว่าอยากมีกติกาที่สร้างเขตกำหนด งดเร่งเครื่องยนต์ หรือให้ดับเครื่องแล้วใช้พายแทน เพื่อลดการรบกวนของเสียงและคลื่นต่อสรรพสิ่งในนิเวศน์ป่าชายเลน รวมทั้งอยากให้เข้มงวดเด็ดขาดกับพวกเรือคราดหอยที่ขูดก้นอ่าวจนหญ้าทะเลเสียหายไปแบบฟื้นฟูได้ยาก

นี่ก็ควรนำไปบรรจุในธรรมนูญชุมชนของเกาะด้วยเช่นกัน

หลังขึ้นสู่ฝั่ง กลุ่มแม่บ้านอิสลามที่ผ่านหลักสูตรการอบรมนวดฝ่าเท้าทยอยมาเปิดบริการอยู่หลายคน พวกเราจึงไม่ลังเลที่จะอุดหนุนกันจนเต็มทุกเก้าอี้

บรรยากาศดี ไม่มียุงมาหามเลย

นวดฝ่าเท้าเสร็จก็เดินขึ้นสะพานโค้งๆข้ามคลอง เพื่อขึ้นรถกลับที่พัก มีสินค้าผ้าทอชุมชนสีสวยๆวางแผงให้ได้เลือกอุดหนุน

ผมเลือกได้ผ้าพันเอวลายสวย ราคาย่อมเยาไปฝากคุณนายเป็นของกำนัลเสมือนมีวีซ่าเข้าบ้านเรียบร้อย สบายใจ

วันนั้นคณะนักวิจัยกลับออกจากเกาะลันตาด้วยแพขนานยนต์อีกครั้ง

ไม่แน่ ลืมไปสักพัก นี่อาจเป็นทริปลงแพขนานยนต์ที่เกาะลันตาครั้งสุดท้ายของพวกเราหลายคน เพราะทอดเวลาไปอีกไม่กี่ปี ที่นี่จะมีสะพานใหญ่มาแทนแล้ว

เราขึ้นฝั่งแบบเผื่อเวลาก่อนไปสนามบินนานพอควร เราจึงถือโอกาสเยี่ยมแหล่งน้ำพุร้อนเค็มคลองท่อม ที่พบเพียงไม่กี่แห่งในโลก

เราเดินสำรวจพร้อมรับฟังข้อมูลที่คุณวัฒนา สินธุเจริญ ปลัดเทศบาลตำบลห้วยน้ำขาวมาพาเดิน ท่านตั้งข้อสังเกตว่าระดับน้ำจากน้ำพุร้อนเค็มอันมีคุณค่านี้ลดระดับไปอย่างไม่ปกติ สันนิษฐานว่ามีการสูบน้ำในพื้นที่เอกชนที่เอามาทำสถานให้บริการอาบน้ำพุร้อนกันอย่างเกินขนาด

แต่ท้องถิ่นทำอะไรไม่ได้เพราะการสูบน้ำระดับลึกไม่ถึง10เมตร ไม่เข้าพรบ.น้ำบาดาล!!

ผมยังสังเกตด้วยว่า การใช้น้ำพุร้อนแบบวนคืนกลับยังไม่มี เพราะเห็นปล่อยให้น้ำไหลผ่านบ่อแช่แล้วทิ้งลงคลองข้างห้องสุขาไปเสียเฉยๆ เข้าใจว่าตลอดทั้งวันทั้งคืนอย่างน่าเสียดายด้วย

น่าเสียดายของดีระดับโลกที่สามารถเอามาทำเครื่องสำอาง ทำสารพัดผลิตภัณฑ์สปาราคาสูงได้อีกมากหลาย

แปลว่ายังน่าจะไม่สมบูรณ์ทั้งแผน ขาดทั้งการควบคุมดูแล ขาดทั้งการประเมินและเปิดเผยชุดวิเคราะห์หรือเปล่า เราเห็นการก่อสร้างค้างคาอยู่  ดูแล้วอดห่วงเรื่องการจัดการความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หายากนี้ไม่ได้

คงต้องไล่ติดตามซักถามกันอีกเเยะ ว่าจะใช้พรบ.ทรัพยากรน้ำมากำกับกรณีนี้ได้ไหม

ก่อนลาจากกระบี่ คุณวิชุพรรณ ภูเก้าล้วน นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ พาไปพบกลุ่มนักเรียนในพื้นที่ ของสพฐ. ที่ฝึกตั้งแต่ปลูก คัดเมล็ดกาแฟมาคั่ว และหัดชงกาแฟที่ปลูกในท้องถิ่นเพื่อเตรียมปั้นเป็นรายได้เสริม

น้องดอลลาร์ เจ้าของร้านกาแฟรักษ์โลกนำเสนอประสบการณ์แก้ปัญหาขยะพลาสติกและมูลฝอยชุมชน ซึ่งแสดงว่าน้องเยาวชนต้องการก้าวสู่ Zero คาร์บอน

ผมเล่าว่า ครูดีอีกคนที่เราควรเชิญมาเล่าให้เราฟัง คือพนักงานเก็บขยะของพื้นที่

เขาจะสอนและนัดแนะกับเราได้หลายอย่างมากเสมอ

การได้ฟังกันและกันอย่างตั้งใจและให้เกียรติ

จะทำให้มีแรงบันดาลใจที่ทุกฝ่ายจะเสริมกันรักษานิเวศน์ที่ดีให้กระบี่ได้อย่างมีพลังอีกมาก

เข้าใจให้เกียรติกันและยอมรับข้อจำกัดของกันและกัน

ขอเชียร์ให้พลังของการท่องเที่ยวกระบี่ทั้งจังหวัดทะยานต่อได้เรื่อยๆจนถึงจุดหมายZero Carbonครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

ประธานอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน วุฒิสภา