เลขานุการ รมว.อว.ลงพื้นที่พบผู้ประกอบการ “กิจการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช” ชูพัฒนา “แอปเปิล สายพันธุ์ฟูจิ” ให้ปลูกได้ในไทย

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่พบผู้ประกอบการ ที่ศูนย์เกษตรเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืช อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ดำเนินงานโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย น.ส.สาวิตรี ศรีพงษ์ “ผลิตภัณฑ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช” ผู้ประกอบการบริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดซึ่งได้ดำเนินกิจการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช โดยการนำชิ้นส่วนต่างๆ ของพืชที่มีชีวิต อาทิ ใบ ดอก เมล็ด ก้าน ใบ และลำต้นของพืช มาเลี้ยงในสภาวะปลอดเชื้อด้วยอาหารวิทยาศาสตร์ที่สังเคราะห์ขึ้นพร้อมด้วยการควบคุมสภาพแวดล้อม ทั้งแสงและอุณหภูมิ เพื่อให้ต้นพืชเจริญเติบโตเป็นต้นอ่อนและทำการคัดสรรต้นพืชที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง เพื่อทำการกระตุ้นต้นพืชให้เกิดรากจนสามารถนำไปอนุบาลในโรงเรือน เพื่อให้ต้นพืชเจริญเติบโตแข็งแรง สมบูรณ์ก่อนจะจัดจำหน่ายให้แก่เกษตรกรและกลุ่มลูกค้า ณ ศูนย์เกษตรเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืช บ้านโนนสำราญ ตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม

รศ.(พิเศษ)ดร.ดวงฤทธิ์  กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การสนับสนุน บริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  ผ่านกลไกการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 มหาวิทยาลัย คือ  1.ม.ขอนแก่น 2. ม.มหาสารคาม 3.ม.เทคโนโลยีสุรนารี และ 4. ม.อุบลราชธานี โดยบริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ฯ ได้พัฒนาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหลากหลายสายพันธุ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เป็นพืชเศรษฐกิจ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ได้พืชจำนวนมาก ภายในระยะเวลาอันสั้น และมีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการทั้งของกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มพ่อค้าต้นพันธุ์พืชโดยได้ดำเนินกิจการภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อให้ได้พืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปลอดเชื้อที่เกิดจากพืช ทำให้เกษตรกรได้รับพืชพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพ บริษัทยังได้คิดค้นการนำนวัตกรรมมาใช้กับพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยคิดค้นสารเคมีในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้เนื้อแข็งให้สามารถแตกยอดและเจริญเติบโตได้ดี และได้ทำการทดลองนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยการนำนุ่นมาทดแทนวุ้นในอาหารสังเคราะห์ในรูปการปลูกพืชที่คล้ายการปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์

เลขานุการ รมว.อว.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ บริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  ได้เข้าร่วมหลักสูตรผู้จัดการนวัตกรรม รุ่นที่ 1 ในแผนงานการสร้างผู้จัดการนวัตกรรม (Certified Innovation Manager Platform) ภายใต้โครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่มุ่งเน้นการผลักดันให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ และตัวแทนจากภาคเอกชน ในการนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการช่วยพัฒนานวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ เกษตรกรในการสร้างธุรกิจฐานองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในพื้นที่ แผนงานดังกล่าวก่อให้เกิด 4 ภาคีเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชนท้องถิ่น และสถาบันอุดมศึกษา ส่งผลให้บริษัทฯ ได้วิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์แอปเปิล สายพันธุ์ฟูจิ ซึ่งประเทศไทยได้นำเข้าสายพันธุ์นี้มาจำนวนมากที่สุด และเป็นที่นิยมให้สามารถเพาะปลูกได้ในเขตภูมิภาคของประเทศไทยและเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ ผ่านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมันสำปะหลัง เพื่อแก้ปัญหาโรคพืชในมันสำปะหลัง คือโรคไวรัสใบด่างในมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรได้มีพันธุ์มันสำปะหลังที่ปลอดโรค ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพในจำนวนที่เพิ่มมาก สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม