ส่องนก ชมผีเสื้อ : ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ป่าแก่งกระจาน (1)

ส่องนก ชมผีเสื้อ : ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ป่าแก่งกระจาน (1) โดยวีระศักดิ์ โควสุรัตน์

เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก (ทุกวันที่5 มิถุนายนของแต่ละปี) ครั้งนี้ ผมไปร่วมกิจกรรมเดินป่าส่องดูนก-ชมผีเสื้อที่อุทยานมรดกโลกแห่งล่าสุดของไทยครับ

แก่งกระจาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าที่มีอาณาเขตต่อเชื่อมกันยาวถึง 200 กิโลเมตร นับจากส่วนเหนือสุดจนถึงส่วนใต้สุดของกลุ่มป่า มีเขตติดเชื่อมกับผืนป่าของเมียนมาร์ แค่ในฝั่งไทยฝั่งเดียว ผืนป่ากลุ่มนี้ก็กินพื้นที่ข้าม3จังหวัด คือราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์แล้ว

กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นโดย สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ( Bird Life Partner)การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และฝ่ายบริหารของ เพลาเพลินรีสอรท์ แก่งกระจาน (เจ้าของเดียวกับ เพลาเพลินที่บุรีรัมย์นั่นเอง)โดยได้รับการอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ผมเคยเดินป่าบ่อยก็จริง แต่ไม่เคยได้เดินป่าเพื่อส่องนก หรือชมผีเสื้อ ดังนั้นพอจัดเวลาว่างได้ และทราบมาว่านี่คือการจัดระดับเยาวชน ซึ่งน่าจะแปลว่า เดินง่าย ไม่ต้องมีพื้นฐานก็ร่วมได้ ผมจึงสมัครเข้าร่วมกิจกรรมพร้อมครอบครัว3 คน พ่อแม่และลูกชายคนเดียวของเราในนาทีสุดท้าย

คณะของเราอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพ่อแม่และลูกในวัยเรียนหลายครอบครัว เราเริ่มกิจกรรมกันด้วยการเข้าห้องรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดูนก ชมผีเสื้อ ในช่วงก่อนเข้านอน ที่รีสอร์ตเพลาเพลิน (ซึ่งปรับปรุงให้เป็นศูนย์ให้ความรู้เกี่ยวกับนกอย่างตั้งใจ) ผู้บรรยายและพาเดินเข้าป่าในเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น คือ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ผู้สอนวิชากฏหมายรัฐธรรมนูญ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดีกรีกฏหมายจากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา และจากมหาวิทยาลัยบริสตอลจากอังกฤษ

งง ใช่มั้ยครับ….อิอิ เหมือนผมเลย

เฉลยครับ… ดร.เข็มทองดูนกเป็นงานอดิเรกมากว่า 20ปี เป็นกรรมการสมาคมฯและชมรมนักนิยมดูนกมาหลายสมัย ปัจจุบันอาจารย์ขยายความชำนาญไปถึงผีเสื้อกลางวัน ผีเสื้อกลางคืน มอธ งู สัตว์เลื้อยคลาน

ซักถามอาจารย์จึงได้ความว่ามาจากฐานที่รักสนใจในธรรมชาติและระบบนิเวศน์มาก่อน พอส่องนกแล้วก็เพลินจนอยากรู้ไปเรื่อย และยังสามารถนำชมเป็นภาษาอังกฤษได้เสียอีก

น่าทึ่งนะครับ

ผมฟังการบรรยายสรุปอย่างตั้งใจ พยายามจำมาเล่าต่อได้ดังนี้

เพราะป่าแก่งกระจานมีขนาดใหญ่มาก อยู่บนแผ่นดินทวีปที่กว้างใหญ่อย่างเอเชีย อยู่ติดทะเลอ่าวไทยและไม่ไกลจากทะเลอันดามัน ที่นี่จึงเป็นทั้งที่อยู่ของสารพัด’’นกถิ่น’’ และเป็นที่พักของ’’นกอพยพ’’ที่ต้องเดินทางไกล ทั้งที่มาจากตอนเหนือของโลก และที่มาจากทางใต้ของเส้นศูนย์สูตร

นกที่พบในไทยมีราว พันชนิดเศษๆ แต่ถูกพบได้ที่ป่าแก่งกระจานถึง500ชนิดเศษๆ และยังพบชนิดใหม่ๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ว่าแล้ว ทีมสนับสนุนจากสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งโดย ดร.บุญส่ง เลขะกุล ผู้บุกเบิกกิจกรรมดูนกในไทยมาเมื่อ50ปีที่แล้ว (ปัจจุบันสมาคมนี้ก็ยังคงเป็นสมาคมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยด้วย )ก็พาพวกเราฝึกเดินฟังเสียงป่าในยามค่ำมืด

เพื่อให้เราเข้าใจว่านกหลงทิศตอนกลางคืน หรือเล็งทิศทางตอนบินอพยพไกลๆข้ามทวีปยามค่ำคืนด้วยแสงดาว และความมืดที่ควรมีที่พื้นโลกนั้นมันเป็นยังไง!!

ที่นี่ห่างจากเมือง ติดแม่น้ำเพชรบุรี กลางคืนจึงมืดได้ใจ แสงดาวสว่างขึ้นถนัดตา

นกจากพื้นที่หนาวเย็นแถวรัสเซีย และจีนบินลงใต้ทุกปี
และในทางกลับกัน นกจากภูมิภาคที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรก็บินขึ้นเหนือมาในแผ่นดินทวีปเช่นกัน (แต่ไม่ไปหาเขตหนาวหรอกนะครับ …แค่จากเกาะในทะเลใต้มาเยี่ยมฝั่งบนแผ่นดินทวีป)

แสงสว่างของดวงอาทิตย์ในแต่ละช่วงของปี ที่กลางวันยาวขึ้น หรือสั้นลงในแต่ละช่วง มีผลต่อสัญชาตญาณ ที่ส่งปฏิกิริยาต่อสมองนกหลายประเภทที่รู้ว่าจะต้องออกบินมุ่งหน้าไปในทิศทางใด เป็นเช่นนี้มานับแสนนับล้านปีแล้ว

นกในกรงเองก็ยังได้แรงกระตุ้นจากแสง ที่อาจทำให้นกกระวนกระวายและบินพุ่งชนกรงในทิศทางที่สมองนกสั่งให้ต้องไป เมื่อเงื่อนไขนั้นตรงกับโปรแกรมในสัญชาตญาณของมัน

นกมักออกบินเดินทางไกลเวลากลางคืนเพื่อไม่ต้องสู้กับแดดที่ร้อนเกินไปในเวลากลางวัน เลี่ยงนกนักล่าที่มีเเยะในระหว่างวัน แล้วนกอาศัยแสงดาว นำทางในเวลากลางคืน

การที่พื้นดินมืด จึงจะทำให้นกเล็ง’’ดาว’’ได้ถนัด

แสงของเมือง แสงจากอาคารกรุกระจก ทำให้นกสับสนว่าตกลงท้องฟ้าคือข้างบนหรือข้างล่าง มีผลให้นกหลงทิศ บินจนงง แล้วหมดแรงไปก็มาก

กระจกติดอาคารสูงจำนวนมากทำให้นกแยกแยะไม่ออก และบินชนพร้อมกันเป็นฝูง ทั้งกลางวันและกลางคืน ร่วงมาตายแทบจะรายวัน

นกที่บินทางไกลข้ามทะเลจะมีอาการขาดน้ำได้ และนั่นทำให้การมีแหล่งน้ำจืดที่สะอาดให้นกดื่มได้ ช่วยให้นกไม่ร้อนหรือกระหายน้ำจนตาย

นกที่จะเดินทางไกลมากๆ จะตุนไขมันในตัวไว้เต็มที่ เพิ่มมวลกายขึ้นได้อีกถึง60%!!
บางตัวลดขนาดสมองตัวเองลงเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บไขมันสะสมได้ด้วย

อันนี้แปลกดี

และในความยาวของการบินนี้ บางพันธุ์เคยถูกพบจากระบบจีพีเอสที่ติดที่ขานกไว้ รายงานว่านกเล็กเหล่านั้นสามารถออกบินจากถิ่นอาศัยในอลาสก้า ซึ่งใกล้ขั้วโลกเหนือ บินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเฉียงลงไปจนถึงนิวซีแลนด์เฉียดขั้วโลกใต้จนได้ แม้ไม่มีที่ให้มันลงหยุดพักระหว่างทางเป็นเวลานานมากๆก็ตาม มันใช้วิธีกระพือปีกบินแล้วร่อน บินแล้วร่อนไปเรื่อยๆเพื่อถนอมพลังงาน และเมื่อไขมันถูกดึงออกมาใช้แปรเป็นพลังกระพือปีกไปจนหมด กระเพาะของมันจะเริ่มกินตัวเองเพื่อแปรเป็นพลังงานเช่นกัน

นกบางกลุ่มบินหากินเรี่ยพื้น ดังนั้นตาข่ายที่ชาวบ้านติดต่ำๆกันค้างคาวมาแทะผลไม้ จึงอาจสังหารนกได้ทั้งฝุงในเพียงไม่กี่วัน!!

นกที่มากินข้าวในนานั้น ปกติจะไล่กินแมลงศัตรูพืชไปด้วยเสมอ ผลคือนกมีส่วนช่วยรักษาผลผลิตในนามากกว่าที่มันจะทำลาย แถมถ้าหากนกอยู่กับแปลงนาได้อย่างปลอดภัย ไร้ยาฆ่าแมลง หรือเคมีต่างๆ ผลผลิตของนาแปลงนั้นกลับจะได้ราคาดี เพราะผู้บริโภคจะมั่นใจยิ่งกว่าตรารับรองคุณภาพทางการเกษตรใดๆ

ข้าวตรานกกะเรียนแดงที่บุรีรัมย์ ชื่อจริงคือข้าวสารัช (เพราะนกกะเรียนแดงมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sarus Crane)เป็นบทพิสูจน์ที่ดีของเรื่องนี้ หลังจากกรมอุทยานฯนำนกกะเรียนพันธุ์ไทยที่เคยจะสูญพันธุ์ไปปล่อยแถวนั้นแล้วขอร้องชาวบ้านว่าถ้าอยากให้นกกะเรียนได้ฟื้นฟูจำนวนและอยู่ได้ ต้องงดใช้สารเคมีทุกชนิด เพราะนกกะเรียนอ่อนไหวต่อสารเคมีมากๆ

ชาวบ้านเปลี่ยนมาทำเกษตรปลอดภัยไร้สารเคมี นกกะเรียนสมบูรณ์ออกลูกเป็นฝูงใหญ่ บินไปมา เดินเล่นกลางทุ่งนาอย่างสบายใจ

ต่อมานักดูนกแห่มาเยี่ยมส่องนกกะเรียนกันเป็นการใหญ่
ชาวบ้านเลยมีอาชีพเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ได้ตังค์จากการขายข้าวอินทรีย์ และได้ตังค์จากค่านำชมนกกะเรียน!!

นกเลยเลี้ยงคน เพราะคนยอมเลี้ยงนก นี่ไง

นกนำเมล็ดพันธุ์ออกเดินทางกระจายไปได้ไกล ช่วยทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพไปตามพื้นที่ต่างๆ ถ้าไม่มีนก พืชหลายอย่างจะกระจุกตัว และพอเป็นโรคตายหรือไฟป่าเผาวอด ก็อาจไม่เหลือสายพันธุ์ให้โลกได้ใช้อีก เมล็ดพืชหลายอย่างไม่อาจงอกได้ ถ้าตกลงใต้ต้นแม่ เพราะบ่อยครั้งจะมีระบบป้องกันการเกิดของพืชใหม่ที่จะมาแย่งอาหาร บางครั้งต้นแม่บังแสงแดดจนต้นอ่อนสังเคราะห์แสงไม่ได้

มูลนกอาจสร้างความสกปรกแก่เมือง ปล่อยทิ้งไว้ก็อาจเกิดการสะสมของเชื้อโรคก็จริง แต่นกนอกเมืองคือพนักงานหว่านปุ๋ยชั้นดีให้พืชพรรณต่างๆสามารถงอกงามได้แม้ในที่ทุรกันดาร ดินไม่สมบูรณ์

ขาของนกไม่มีกล้ามเนื้อ มันจึงไม่ค่อยประสบปัญหากับความหนาวเย็น
สาเหตุที่มันบินลงใต้ในหน้าหนาวไปเขตอบอุ่นก็มักเป็นไปเพื่อการหาอาหารทีีง่ายกว่า

นกในเมืองมีภัยจากฝุ่น ความร้อน การขาดน้ำ การบินชนอาคาร การโดนเศษเส้นผม เส้นด้ายที่ไปพันถูกนิ้วเท้ามันแล้วเอาไม่ออก เส้นผมเส้นด้ายเหล่านี้รัดนานจนนิ้วเท้าของนกขาด พิราบควรมีสามนิ้วหน้า กับหนึ่งนิ้วหลัง แต่พิราบเมืองจำนวนไม่น้อยที่นิ้วหน้ามีเหลือเพียงสองนิ้วเท่านั้น

เราจึงกลายเป็นผู้ทำให้นกพิการโดยไม่ตั้งใจเป็นจำนวนไม่น้อย ไม่นับนกถูกไฟป่าคลอกตายทั้งรัง ถูกควันไฟรมจนตกลงมาตายนับหมื่นนับแสนในป่า ไม่นับที่โดนรถชนขณะบินต่ำ โดนเครื่องบินชนกลางอากาศ และที่ต้องตายจากหนังสติ๊กและการล่าค้าสัตว์ป่าหายากอีกนับไม่ถ้วน

แม้นกหายากหลายชนิดยังไม่ถึงกับสูญพันธุ์ แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะขยายพันธ์ไม่เพียงพอที่จะทำภารกิจตามธรรมชาติที่เรายังไม่เข้าใจ

และถ้าขาดนกไปเมื่อไหร่ เราก็อาจจะขาดการเกิดใหม่ของต้นไม้อ่อนสารพัดอย่าง รวมถึงเรื่องอื่นที่เรายังนึกไม่ถึง

เล่ามาเสียตั้งยาว

ยังไม่ได้ออกเดินป่าส่องนกสักตัว

รออ่านต่อในภาคสองนะครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา