“วีระศักดิ์”ชี้ทางรอดหากโควิด-19 อยู่นาน

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : บทวิเคราะห์ต้นแบบใหม่ๆของสังคม ถ้าโควิดจะคาอยู่เป็นปี!!

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา

ล่าสุด โรงชำแหละสุกรที่รัฐเซาท์ดาโกต้าซึ่งเป็นหนึ่งใน7โรงผลิตเนื้อสุกรที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐยอมถูกปิดลง..หลังถูกเปิดโปงว่ากดดันให้แรงงานผิวสีไม่ให้ลางานแม้หลายคนจะติดเชื้อไปแล้วก็ตาม

คำถามเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารจึงดังขึ้น พอๆกับคำถามด้านความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค..และความรับผิดชอบต่อลูกจ้างของสถานประกอบการ

..เมื่อเร็วๆนี้ นักวิเคราะห์อนาคต นักออกแบบ นักเทคโนโลยี และผู้ออกแบบนโยบายสาธารณะหลายประเทศทั้งในยุโรป และสหรัฐรวมตัวนัดคุยออนไลน์กัน90คน เพื่อสำรวจประเมินโดยใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาจากมหาวิทยาลัย MITประกอบ การรวมความคิดเห็น

ว่าถ้าโควิด19ต้องอยู่กับสังคมโลกไปแบบยาวข้ามปี..จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมฝรั่งบ้าง

ไม่ว่าโควิดจะระบาดซ้ำด้วยความถี่ห่างอย่างไร..ถ้ายังไม่ได้รับวัคซีนถ้วนหน้าหรือยารักษายังเป็นได้แค่ยาบำบัดอาการ….

ขอย้ำว่านี่คือฝรั่งคิดกันเอง

เอเชียไม่ได้ไปร่วมออกไอเดียอะไรด้วย

แต่เมื่อผมศึกษาดูแล้วเห็นว่าเราอาจเลือกฟังข้อมูลมาใช้เท่าที่เราเห็นประโยชน์ก็คงพอได้บ้าง

จึงขอสรุปมาเล่าสู่กัน ในวันที่เราท่านก็ล้อคดาวน์ เฝ้าอยู่ในที่ตั้งกันถ้วนหน้าอย่างวันนี้

ข้อค้นพบแรกที่ฝรั่งนักวิเคราะห์เห็นพ้องคือ โควิด19ได้เล่นบทเตะกวาดแบบ”ตาเถรกวาดลาน” คือเตะรวบเข้าที่ข้อเท้าจนปัญหาเดิมที่สั่งสมมา4ประการหงายผลึ่งแตกโพละ..หัวฟาดพื้นไปพร้อมๆกัน

โพละ แรกคือ ฝรั่งเข้าสู่ภาวะการว่างงานหมู่แบบพรวดเดียวในวันที่งานเดิมก่อนโควิดก็หายากอยู่แล้ว เพราะถูกบังคับเพิ่มจากล้อคดาวน์ให้หมดงานพร้อมกัน

ต่างจากสงครามโลกที่ฝรั่งทุกคนต้องหยุดงานเดิมเพื่อไปรับงานป้องกันประเทศ..ไม่ไปแนวหน้าก็มาทำงานแนวหลัง

แต่หนนี้ให้อยู่ในที่ตั้ง..ไม่มีใครทำตัวเป็นผู้ว่าจ้าง

โพละ ที่สองคือ..จู่ๆทุกเส้นเขตพรมแดนก็มีการเข้มงวดจน มด ก็ลอดไปมาแทบไม่ได้พร้อมกันหมด..ล้อคทั้งด่าน..ล้อคทั้งนโยบาย..

และที่แรงกว่า..คือ”ล้อคทั้งหัวใจ”ด้วยด้วยทัศนคติ..GU ต้องรอดกันก่อน…

ซึ่งก่อนโควิดมาก็ข้ามแดนยุ่งยากอยู่พอควรเพราะปัญหาของการก่อการร้ายระบาดอยู่ก่อนแล้ว

ทำให้จู่ๆก็มีผู้ติดรออยู่ตามด่านทุกประเทศพร้อมกันแบบตื่นๆ..และหางานยากขึ้นในทุกด้านของเส้นแบ่งแดน

โพละ ที่สามคือ โลกก่อนโควิด19ก็เครียดมากอยู่แล้ว..ฝรั่งกำลังอ่อนล้าจากเรื่องเศรษฐกิจสังคมการเมือง ความรุนแรง ความขัดแย้ง…แล้วจู่ๆก็ถูกทับลงมาด้วยการระบาดใหญ่ที่ไม่ละเว้นใครทั้งนั้น

ความเครียดจึงถูกบีบจนสติหลุดออกมา ใช้การทำลายตนเอง ใช้การปิดตัวเองจากสังคมเป็นทางออกหรือทำให้ความเอื้อเฟื้ออาทรของสังคมถูกจำกัดลง..มีการเลือกปฏิบัติอย่างน่ากลัวเกิดขึ้น..และน่าอับอายมาก

ข้อสังเกตที่สี่ แม้จะไม่แตก โพละ แต่ตื่นกังวลคือ ทางการของฝรั่งได้ใช้เทคโนโลยีสอดแนมพฤติกรรมกันเองมากขึ้น อย่างไม่เคยมีมาก่อน

จากตรวจจับโลหะ ตรวจของเหลวมาจนถึงเวลานี้ตรวจอุณหภูมิรายคน
และไม่ได้ทำเฉพาะตอนขึ้นเครื่องบิน..แต่ตรวจแม้แต่ตอนจะเข้าร้านรวง..เข้าอาคาร …ขึ้นรถไฟฟ้า ก็ตรวจกันด้วยเทคโนโลยี..และติดตามกันทางเทคโนโลยีด้วย อันนี้คนเอเชียดูจะไม่ค่อยหวั่น แต่สำหรับฝรั่งแล้ว ฝรั่งตกใจน่าดูครับ

และทีนี้ นี่คือข้อสรุปที่มีตามมา…ของวงวิเคราะห์นี้

นั่นคือ สรุปกันว่าภาคเศรษฐกิจทุกมิติ….ต้องมีการจัดระบบระเบียบใหม่หมดจด..เพื่อให้เกิดสังคมที่พอจะออกแบบได้ และควรเร่งทำก่อนจะเละมากจนแก้ไม่ทัน

มีตัวแบบจำลองที่ฝรั่งคิดให้เห็น สักสามแบบ

แบบแรกคือเลือกที่จะ “ปล่อยกลไกตลาดให้มันจัดตัวเองไป” ฝรั่งตั้งชื่อแบบจำลองแรกนี้ว่า” Piramid”
ซึ่งมีผู้อยู่บนยอดปิรามิดน้อยราย มีฐานไล่ลำดับทับเรียงเอาเปรียบกันลงมาเรื่อยๆจนถึงข้างล่างสุด

นั่นคือกลุ่มผู้มั่งมีจะเข้าช้อนซื้อสินทรัพย์จากผู้เดือดร้อนในราคาถูกๆ

ถ่างความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่เดิมให้หนักขึ้นไปอีก

ผลของมันคืออีกไม่นาน สังคมที่ถูกเอาเปรียบจะหา”แพะมารับบาป”เพราะความโกรธ

กลุ่มการเมืองในสังคมฝรั่งจะผุดกลุ่มใหม่ๆมากมายมาชี้นิ้วและนำม้อบออกมาเพื่อหา”แพะ”

กลุ่มมาเฟียติดอาวุธในมุมมืดจะแสดงตนทั้งเพื่อคุ้มครองและฉกฉวย

แน่นอนว่าทุกรัฐที่ปล่อยไปจนต้องตกอยู่ในสภาวะแบบนั้นจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องใช้กำลังของรัฐที่เหนือกว่าเข้าปรามและควบคุม และอาจมีการปะทะ เกิดความรุนแรงเพื่อให้สังคมอยู่ในความสงบนิ่งทั้งทางออนไลน์และนอกออนไลน์
ซึ่งรัฐเหล่านั้นจะจำต้องล้วงข้อมูลบุคคลออกมาวิเคราะห์และจำแนกความเสี่ยงกันยุ่งนุงนัง

สังคมจะเกิดความกดดันและการแกะแก้ที่ซับซ้อนเพราะทุกอย่างจะไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน

และกว่าจะสงบลงได้ก็จะนาน

นี่คือแบบแรก

แบบที่สอง ฝรั่งเรียกว่า”การปรากฏขึ้นของผู้ชี้นำที่น่านับถือ” อันนี้ฝรั่งเลือกใช้ศัพท์แทนด้วยคำว่า “the leviathan ”

โดยแนะว่ารัฐบาลฝรั่งอาจต้องเลือกใช้อำนาจเข้าควบคุมกิจการเท่าที่จำเป็น เพื่อบริหารให้เจ้าใหญ่ในตลาดต้องกระจายทรัพยากร กระจายสินค้าและของจำเป็นให้ไปถึงมือภาคประชาชนอย่างเป็นธรรม จากนั้นรัฐก็ลงทุน(อาจจะจากเงินกู้ยืมแบบต่างๆ)เพื่อนำมาเล่นบท”ผู้ว่าจ้างงานสาธารณะรายใหญ่”
ทำให้ประชาชนมีงานทำ ได้ค่าตอบแทนตามสมควร และงานที่จ้างจะเน้นที่ความยั่งยืนของอนาคตและหรือเป็นความจำเป็นพื้นฐาน เช่นได้ความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้ความเอื้ออาทรดูแลกันในสังคม ดูแลคนอ่อนแอ ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างน่าหดหู่

แนวนี้ผู้วิเคราะห์ชี้ว่าต้องอาศัยผู้นำที่เสียสละสูงมาก..สร้างศรัทธาเชื่อมั่นให้คนในสังคมเห็นว่าไม่มีใครได้เปรียบและทุกคนจะเริ่มยอมเหนื่อยยากไปด้วยกันจนกว่าสถานการณ์จะจบลง

อย่างไรก็ดี..แนวทางนี้ตอนจบ..ทุกคนจะต้องยอมเจออีก”ก้อก”..นั่นคือการร่วมชำระหนี้สาธารณะก้อนโตไปด้วยกัน..

แปลว่าภาษีของฝรั่งในวันที่ฟ้าสว่างจะต้องสูงขึ้นและฐานต้องกว้างขึ้นอย่างมาก

แนวนี้เน้นปลุกระดมการรับผิดชอบร่วมกัน

แนวทางที่สาม..รักษาบ้านเมืองด้วยการดูแลชุมชนให้เข้มแข็ง..ฝรั่งเรียกแนวนี้ด้วยคำว่า” the village ”

วิธีนี้คือการส่งมอบความไว้วางใจให้ชุมชนได้จัดการตนเอง..ชุมชนจะเร่งสร้างระบบภายในที่พึ่งพากันเอง ทั้งการเงิน การดูแลความมั่นคงทางอาหารและการได้รับปัจจัยสี่

หลายอย่างของชุมชนอาจมีการฝ่าฝืนกฏหมายและกติกากลางไปบ้าง..แต่ไม่ใช่เพื่อฮุบมาเป็นของคนใดคนหนึ่งแต่เพื่อชุมชนต่างหาก(ซึ่งจะมีทั้งที่เหมาะและไม่เหมาะ..เช่นอาจตกลงยึดที่ป่า ลำน้ำหรือที่สาธารณะมาใช้ประโยชน์ชุมชนในระดับที่มากเกินไป )

ในทางเลือกนี้ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ชุมชนเข้มแข็งขึ้น ทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ
การปะทะประลองกำลังกันในระดับท้องถิ่นจะเกิดขึ้นมากมาย..แต่ในที่สุดจะสงบลงตามระดับการต่อรองที่ยอมรับกันเองได้ต่อไป

แต่ทั้งหมดนี้จะอยู่ได้อย่างเปราะบาง เพราะชุมชนส่วนมากมักไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะต้านภัยจากภายนอกได้นานนัก

อีกทั้งจะก่อให้เกิดการเข้ารวมกลุ่มย่อยๆเพื่อให้กลุ่มตัวเอง”รอด”ด้วยการขีดกั้นกันผู้อื่นไม่ให้เข้าใกล้

ชุมชนอาจดูเข้มแข็ง..แต่สังคมประเทศอาจจะต้องร้าวลึก

นี่เท่าที่ฝรั่งสรุปดูกันเองและกำลังคิดกันต่อว่าพวกเค้าจะรับฟังกันต่อยังไง

ผมเองก็เห็น…ว่าการล้อคดาวน์ในแต่ละระดับที่นานพอ..ย่อมทำให้”มนุษย์”ทุกคนปรับตัว
แม้ว่ามากหรือน้อยอาจต่างกัน

แต่ปรับตัวแน่

และเมื่อปรับตัวนานพอก็จะกลายเป็นบุคลิกใหม่..เป็นมารยาทสังคมใหม่..

การออกแบบร่วมกัน..ว่าจะผสมผสานทางเลือกข้างต้นอย่างไร

จึงเป็นโจทย์สำคัญที่เราคนไทยและเพื่อนๆรอบบ้านอาจนำไปขบคิดต่อ

ที่จริงเมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ ก็คงพอบอกตัวเองได้ ว่าเรายังพอมีจังหวะ และยังไม่ช้าไป

ในการรื้อชุดความคิดเกี่ยวกับ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ การกำหนดบทบาทของกันและกันในท่ามกลางโควิด ที่จะร่วมกันรับผิดชอบต่อส่วนรวม รับผิดชอบต่อการเปิดและการคลายล้อคลงตามจังหวะเมื่อเหมาะสม. …และพร้อมรับการต้องปิดล้อคดาวน์ใหม่ไปอีกเป็นจังหวะ …เป็นระยะ

หากคิดล่วงหน้าไปเรื่อยๆเผื่อวันที่หมดภัยโควิดเพราะมีวัคซีนหรือมียารักษาที่หากันได้ง่ายแล้ว

หากใช้เวลานี้เรียนรู้พัฒนาสูตรทางเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่ๆไปด้วยกัน

เราจะสามารถร่วมกันสร้างหรือผสมสูตรแห่งความสมดุลย์อย่างไร..ที่จะเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย..และใช้เป็นฐานสร้างโอกาสให้อนาคตประเทศได้นานๆ ทั้งระหว่างล้อคดาวน์และเมื่อหลังโควิดก้าวผ่านไป

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนปลอดภัย..และเราต้องไม่ทิ้งกัน

ใช้ชีวิตที่ฝึกความรู้จักพอ แล้วชักชวนกันมาร่วมสร้างสรรค์ประเทศไทยกันครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา

กรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ของวุฒิสภา

๑๙ เมษายน ๒๕๖๓

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา