การปฏิรูปประเทศที่เรากำลังจะได้สัมผัสจากรากจนถึงใบ: ตอนที่3
กรณีตัวอย่างที่อุทยานแห่งชาติทับลานกับกฏหมายอุทยานฉบับใหม่2562
อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานไซส์ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ
มีขนาดพื้นที่เป็นรองแค่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเท่านั้น
ใหญ่กว่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แถมเชื่อมติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และนับเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่มรดกโลกป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ที่ยูเนสโกรับรองไปตั้งนานแล้วด้วย
ด้วยความที่อุทยานนี้ใกล้แนวชายแดนจึงมีที่มาที่ไปย้อนไปถึงยุคสงครามรบพุ่งในกัมพูชาและยังมีประวัติเชื่อมเกี่ยวกับกลุ่มจับอาวุธของพลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย
เกร็ดลึกบางตอนของเรื่องนี้ต้องฟังเอาจากพลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์ อดีตราชองครักษ์พิเศษที่ตามเสด็จในหลวงร.9นานถึง30ปี!!และเคยเป็นแม่ทัพภาคที่สอง
ที่นี่จึงมี…ราก!!..ที่ยาวกว่าเรื่องนิเวศของพืชและสัตว์ป่า
ทุกอุทยานในไทยเผชิญปัญหาพิพาทกับชาวบ้านหลายๆแบบ
พื้นที่กว้างใหญ่ เจ้าหน้าที่มีน้อย
อุทยานทับลานมีความท้าทายในการรักษาครบทุกแบบ…เจอทุกอย่าง
ปัญหาขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน ระหว่างชาวบ้านที่ชายขอบป่ากับเจ้าหน้าที่รัฐ..จึงสะสมมาพูนไว้ได้กองใหญ่..นานกว่าสามสี่สิบปี
เรื่องนี้โทษเจ้าหน้าที่ป่าไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เคยได้เป็นคนออกกฏหมาย
และไม่ได้เป็นคนขีดเส้นในแผนที่ท้ายกฏหมาย
ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หัวหน้าอุทยานทับลาน ร่วมทีมกับเจ้าหน้าที่หลายๆฝ่าย สำรวจการครอบครองที่ดิน ตามพื้นที่ชายขอบในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ไปแล้ว86.71%
พบว่ามีราษฏรแจ้งการครอบครอง 15,540ราย 23,846แปลง
เหลืออีก35,074ไร่ ที่ยังไม่ยอมแจ้งการครอบครอง คิดเป็น13.29%
โดยในนี้จำแนกคร่าวๆได้ว่ามี ที่ดินที่ราษฏรยังไม่ยอมเข้าร่วมการแจ้งการครอบครอง มีที่ดินที่อ้างเป็นที่ราชพัสดุ ที่ดินที่อ้างการเป็นสปก. ที่ดินที่อ้างว่ามีเอกสารสิทธิ ที่ดินซ้อนทับกับเขตป่าไม้ ที่ดินที่อ้างว่าเป็นสวนป่า รวมทั้งที่ดินที่มีการจับกุมดำเนินคดีอยู่เดิม ฯลฯ
…นุงนังมานาน ….
ถ้าว่าตามตัวบทกฏหมายเดิม แบบไม่มีพรบ.อุทยานฉบับ2562
ก็คงต้องมีคดีจับกุม มีคดีแจ้งเอาผิดกันไปเรื่อยๆอีกราว สามหมื่นคดี!!
นี่อุทยานเดียวนะครับ
ลองคิดดูว่าจะมีกี่แสนกี่ล้านคดีที่หากท่องตัวหนังสือเดิมลุยดะไปในอุทยานแห่งชาติที่เหลืออีก 130แห่ง
จะมีกี่ล้านครอบครัวผู้ถูกดำเนินคดีที่ต้องระทมใจไปตลอดกระบวนการทางคดี
คำว่า ครอบครัวระทมนั้น ผมยังไม่นับรวมครอบครัวเจ้าหน้าที่ ที่ต้องระแวงระวังความโกรธเคืองคับแค้น จากผู้ถูกดำเนินคดีด้วยซ้ำ
นี่คือสภาพจิตของคนไทยนับแสนนับล้าน ที่ไม่รู้จะหาทางออกกันยังไงมาครึ่งศตวรรษ
แต่อีกเพียงไม่ถึง 3สัปดาห์นับจากวันนี้
ปัญหาพิพาทที่คากันมาจะได้เข้าสู่กระบวนการสะสางแบบอ้างอิงกฏหมาย “คนอยู่กับป่า”ได้จริงๆจังๆเสียที
21 กรกฎาคม 2563นี้ จะเป็นวันที่อุทยาน” ทุกแห่ง”ของไทย จะต้องทำการสำรวจการถือครองที่อยู่ที่ทำกินของราษฏรในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ”ทุกแห่ง”ให้แล้วเสร็จ..ตามความในมาตรา64อันเป็นบทเฉพาะกาลของพรบ.อุทยานแห่งชาติ 2562
ผลคือ กรมอุทยานจะสามารถเสนอข้อมูลนี้ให้คณะกรรมการอุทยานตามกฏหมายนี้ ซึ่งรัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชาเป็นประธานโดยตำแหน่งให้ทราบ..
และจะสามารถจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยาน สำหรับพื้นที่พิพาทในเขตอุทยานให้ผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้สำรวจไว้หนนี้เข้าร่วมเพื่ออยู่ต่อไปได้ อย่างชอบด้วยกฏหมายเป็นครั้งแรกในชีวิต!!
โดยต้อง “มิได้สิทธิในที่ดินนั้น ”
ขีดเส้นใต้คำนี้ได้หลายๆเส้น
เพราะนี่คือคำในมาตรา64
โดยกฏหมายใหม่นี้ให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาและคุณสมบัติของผู้อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนที่จะสามารถอยู่ภายใต้โครงการ
รวมทั้งจะกำหนดหน้าที่ผู้อยู่อาศัย ในการอนุรักษ์ดูแลระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในเขตพื้นที่ ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขว่าคนที่อยู่ในเขตนี้ จะอยู่ได้คราวละเท่าไหร่ แต่กฏหมายระบุไว้ว่ายังไงก็จะอนุญาตได้ไม่เกิน20ปี ในแต่ละคราว
ใช่ครับ ยังมีอะไรท้าทายในการจัดการต่ออีกมาก กว่าจะจบลงให้งดงามได้
คงไม่หมายความว่าจะไม่มีคดีอะไรเหลือกันแล้ว แต่คงเบาบางลงไปแยะแน่
นี่จึงเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญยิ่งสำหรับทุกฝ่าย ทุกคน ที่จะไม่ต้องถูกบังคับให้ ประจัญบานกันเป็นหมื่นเป็นแสนคดี
เพียงเพราะ กฏหมายอุทยาน 2504 ไม่เชื่อเด็ดขาด เรื่อง คนอยู่กับป่า
มาตรา63 ในบทเฉพาะกาลบอกต่อไปว่า คณะกรรมการอุทยานนี้สามารถจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาออก พระราชกฤษฏีกาอนุญาตให้ “คนอยู่กับป่า” ได้
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
ทำไมคำในมาตรา64 ของบทเฉพาะกาลของพรบ.ฉบับนี้จึงสามารถผุดเข้ามาเป็นกฏหมายจนได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ การอาศัยอยู่ในอุทยาน ไม่มีทางต่อรองทางกฏหมายได้เลย
รัฐบาลแต่ละยุคในอดีตที่ผ่านๆมา กว่าห้าทศวรรษ แม้อยากช่วยลดความขัดแย้ง แต่ทำได้อย่างมากแค่”หรี่ตา ” จะอ้างกฏหมายอะไรก็ไม่ได้เพราะไม่มีช่องในกฏหมายอุทยานให้เจรจาเลย
แต่แล้วบทเฉพาะกาลนี้ถูกบรรจุเข้ามาในพรบ.อุทยานแห่งชาติ2562ได้เพราะบรรยากาศและเป้าหมาย”การปฏิรูปประเทศ”
ที่เริ่มทำกันในภาวะพิเศษเมื่อห้าปีที่ผ่านมา..
หลังจากที่เคยมีการเรียกร้องหาทางออกในเรื่องนี้มากว่า30ปีก่อนหน้า
ผมเคยช่วยงานกับคณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.)สมัยดร.คณิต ณ นครเป็นประธาน ในช่วงที่กีฬาสีรุนแรงสูง
เคยติดตามงานย้อนไปแม้แต่สมัยที่ ดร.มรว.อคิน ระพีพัฒน์ และ อ.เสน่ห์ จามริก ทำงานวิจัยท้องถิ่นพัฒนาก็เคยเห็นเรื่องข้อพิพาท ข้อเสนอลดความเหลื่อมล้ำแก้ความยากจน คนอยู่กับป่า มานานแล้ว แต่ติดที่กฏหมายนี่แหละ
และที่ผ่านมา ไม่มีฝ่ายนโยบายการเมืองยุคไหน แกะ และแก้ไขอะไรในกฏหมายได้
ในช่วงที่ร่างพระราชบัญญัตินี้เข้าสู่สภาเพื่อตราเป็นกฏหมาย
ในชั้นกรรมาธิการของสนช.
มีพลเอกจีระศักดิ์ ชมประสพ ซึ่งเคยเป็นแม่ทัพภาคที่สอง และรู้เรื่องชาวเผ่าปกาเกอะญอ 7 หมู่บ้านในฐานะ ผู้สนใจเรื่องคนอยู่กับป่า มาช่วยคัดท้ายรับไม้ต่อเชื่อมกับมือจากรัฐมนตรีสุรศักดิ์ จนร่างกฏหมายผ่านออกมาแบบไม่ให้เกิดเพี้ยนเบนไปจากเจตนาตั้งต้น
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีปลายปี2561 พลเอกสุรศักดิ์ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอธิบายเรื่องคนอยู่กับป่า และอุปมาข้อกฏหมายและมติครม.เก่าที่จำแนกคนในเขตป่า ว่า ไทยต้องมีรถไฟอีก5 ขบวน เพื่อนำพื้นที่ปัญหาเหล่านี้ออกมาดำเนินวิธีทางนิติบัญญัติต่างวิธีกันไป
เป็นที่มาของมติครม.26 พย. 2561 จำแนกวิธีจัดการเรื่อง คนในพื้นที่ป่า 5 แบบ ตั้งแต่พื้นที่ป่าสงวนในชั้นคุณภาพลุ่มที่1-5 พื้นที่ในเขตป่าอนุรักษ์ พื้นที่อุทยาน พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไปจนแม้แต่พื้นที่ป่าชายเลน
นับว่าครอบคลุมปัญหาการทำนโยบายที่ดินแห่งชาติมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
มติครม.นี้จึงเป็นการนำร่องก่อน เข้าสู่การแก้ไขกฏหมายระดับพระราชบัญญัติ ถึง 13 ฉบับที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเข้าสู่สภาเป็นชุดใหญ่ในช่วงนั้น
สมาชิกสนช.ในช่วงดังกล่าวก็ร่วมมือสนับสนุนหลักการของชุดกฏหมายกันอย่างเข้าใจ
จุดนี้จึงเป็นไฮไลท์สำคัญของประวัติศาสตร์การปฏิรูปประเทศได้ในความเห็นของผม
เหตุการณ์ผ่านจากวันนั้นมาถึงวันที่กฏหมายอุทยานฉบับใหม่มีผลใช้บังคับครบตามเงื่อนเวลา 240 วันตามบทเฉพาะกาล
แล้วนามบุคคลที่ผมเอ่ยมาทั้งหมดข้างต้นในตอนที่3นี้ รวมทั้งผมเอง ก็จึงได้โคจรมาพบกันใหม่อีกในฐานะสมาชิกกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ร่วมกันในปัจจุบัน
โดยมีพลเอกสุรศักดิ์ กาญจรัตน์ เป็นประธาน
สำหรับผมนั้น นับว่าโชคดีมากที่ได้เห็นความพยายามของแนวคิด คนอยู่กับป่า มาตั้งแต่ยุคที่ยังทำงานที่บ้านพิษณุโลกสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัฐบาลนายกฯบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นครม.แรกที่มีมติเห็นชอบในหลักการของ ป่าชุมชน (โดยผมในฐานะรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามเสนอนายกฯบรรหารนำเรื่องเข้าครม. ตามงานศึกษาของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณในเวลานั้น)
แล้วเมล็ดพันธุ์เรื่องคนอยู่กับป่าก็ถูกบ่มเพาะรอวันลงดินได้ ในยุค ปยป.(ปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการปรองดอง)จนงอกเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้าน แข็งแรง มีกฏหมายระดับพระราชบัญญัติค้ำยันมั่นคง
และต้นไม้ใหญ่นี้กำลังจะ”ระบัดใบ”ในอีกไม่ถึง3สัปดาห์ข้างหน้า
อยากชวนคนไทยเรามาร่วมกันติดตาม “พาหนะ” แห่งการปฏิรูปต่างๆ
มาช่วยกันติดตามการเร่ง ดอก เพื่อออกอนุบัญญัติ ที่ต้องออกตามกฏหมายแม่บทให้ทำงานในสนามได้จริงๆ
และมาร่วมกันกับวุฒิสภา เสนอแนะวิธีประเมินการปฏิรูปให้เกิดเป็น “ผล”ได้อีกหลายๆเรื่อง
ขอบคุณทุกความปราถนาดีต่อเพื่อนร่วมชาติ ต่อทรัพยากรธรรมชาติ และต่อทิศทางความยั่งยืนอย่างรับผิดชอบ และอย่างมีนิติธรรม
สอดรับกับที่สหประชาชาติแนะนำหลักความสัมพันธ์เพื่อมุ่งความยั่งยืนไว้5P
Partnership- People- Planet- Peace – Prosperity
ขอบคุณที่ติดตามอ่านงานเขียนซีรีย์สามตอนจบในครั้งนี้ครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
รองประธานกรรมาธิการ
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา
4กรกฎาคม 2563
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร