วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ตามรอยพระบาทการเก็บน้ำในถ้ำ

ฝนประเทศไทยตกลงมาไม่น้อยกว่าพื้นที่อื่นของโลก แต่เพราะยังไม่มีที่กักเก็บไว้มากพอ  และบนภูเขามีพืชคลุมดิน และรากใต้ดินไม่เพียงพอจะอุ้มหน่วงน้ำมหาศาลเหล่านั้นไว้พอ น้ำจึงไหลชะหน้าดินพาตะกอนให้ไปสะสมตามลำน้ำ

นานเข้าลำน้ำและกว๊านบึงจึงตื้นเขิน  เก็บน้ำได้น้อย น้ำเหนือมาทีก็จะไหลบ่าท่วมออกข้างตลิ่ง น้ำผ่านไปหมดก็อดใช้น้ำ  หน้าแล้งลากยาว ก็จะเดือดร้อนกันทั่ว วัฏจักรนี้วนเวียนมานานปี เขื่อนและอ่างใหญ่นั้น สร้างทีไรก็จะต้องขวางการไหลของน้ำไว้ จึงมักทำให้เกิดการท่วมยกระดับของทางน้ำ ที่ดินที่ถูกน้ำท่วมเพื่อเก็บรักษาน้ำไว้จึงได้รับผลกระทบแยะเสมอ

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมนำคณะเดินทางของคณะอนุกรรมาธิการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ อนุกรรมาธิการของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา เดินทางไปตามรอยพระบาทการหาทางแก้ไขปัญหาการจัดเก็บน้ำ ที่ในหลวงรัชการที่9 ทรงดำริไว้นานมาแล้ว และไม่ก่อให้เกิดผลเป็นวัฏจักรข้างต้น

เพราะทรงทดลองเก็บน้ำในถ้ำธรรมชาตินี่เองครับ…

น้ำที่เก็บไว้ในถ้ำจะไม่ระเหยเพราะความร้อนหรือไอแดด ต่างจากการเก็บแบบกลางแจ้ง การท่วมของระดับน้ำคงไม่ต้องยกตัวขึ้นสูง ไม่เดือดร้อนพื้นที่ดินข้างเคียง ในต่างประเทศ อย่างที่ญี่ปุ่น อินโดนีเซียก็มีการเก็บน้ำด้วยการกักทางน้ำในถ้ำเช่นกัน แต่ในหลวงร.9 ของไทยทำไปเสร็จแล้วในราคาไม่ถึง 18ล้านบาท และใช้งานมาเกือบจะ20ปีแล้ว ก็ยังใช้การได้ดี และมีผลให้น้ำใต้ดินบริเวณนั้น และในพื้นที่ต่อเชื่อมทางน้ำใต้ดิน มีน้ำงอกเงย เข้าสู่สระเก็บของราษฏรต่อเนื่อง

โครงการอ่างเก็บน้ำในถ้ำนี้มีขนาดเล็ก ตามขนาดของถ้ำทรงพระดำริให้ใช้ที่เก็บ ถ้ำนี้อยู่ที่ห้วยลึก อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ใหญ่ที่กรุณาแนะนำให้ผมไปเยี่ยมชม มิใช่ใครอื่น

คือท่านดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นหน่วยให้ทุนทำโครงการกับกรมชลประทานมาตั้งแต่เมื่อพศ.2542โน่นครับ เมื่อปลายปี2564 โควิดโอมิครอนเพิ่งปรากฏตัวในไทย ผมเขียนเล่าเรื่องระบบน้ำในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เผยแพร่

ปรากฏว่าท่านดร.สุเมธ ซึ่งผมเคยมีโอกาสร่วมงานกับท่านในตอนผมยังเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชาเมื่อปี 2538 ท่านสุเมธเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ ซึ่งกำลังทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่  8 สื่อสารกลับมาหลังอ่านบทความของผมที่เผยแพร่ว่า เรื่องการเก็บน้ำในถ้ำ ในหลวงร.9 ทรงทำไว้ ถ้าสนใจจะนัดให้ไปชม ผมตอบรับอย่างไม่มีลังเล จัดแจงทำนัดนายช่างชลประทานตามรายนามที่ดร.สุเมธให้มา  แล้วจัดวาระเชิญสมาชิกในคณะอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนไปร่วมกัน

…ตามรอยพระบาท…

ด้วยใจศรัทธาอยากเรียนรู้และอยากขอแลกเปลี่ยนข้อสังเกตกับทีมนายช่างเจ้าหน้าที่ของชลประทานที่ดูแลโครงการในสนาม สถานที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นเหนือไปราวชั่วโมงครึ่ง

เข้าซอยไปจนเป็นถนนแคบลงแล้วก็เห็นภูเขาลูกย่อมๆ ด้านหน้าภูเขามีผนังอ่างเก็บน้ำยกตัวอยู่สูงจากพื้น12.5เมตร

ทั้งสองฟากของกำแพงกันน้ำในวันที่คณะเราไปถึงนี้ แห่งสนิทก็จริง แต่เมื่อได้รับฟังบรรยายสรุปจากเจ้าหน้าที่ชลประทานที่มาอธิบายแล้ว  ใจของพวกเราก็ท่วมท้นไปด้วยความอิ่มเอิบ และทึ่งในพระอัจฉริยะภาพอันล้ำลึกในการมองเรื่องน้ำกับชีวิตอย่างแยบคายลึกซึ้งยิ่ง หลังจากคณะฯเดินชมบนสันกำแพงกันน้ำที่ล้อมครึ่งวงกลมของเชาลูกนี้จากมุมบนแล้ว

ผมขออนุญาตให้นายช่างพาลงไปชะโงกชมถ้ำที่เป็นทางออกของน้ำมาสู่อ่างเก็บน้ำนี้ เราจึงทยอยเดินลงไปด้านพื้นล่างที่เลนดินยังชื้นๆเพื่อไปถึงปากถ้ำแคบขนาดที่คนคงต้องคลานสี่ขาจึงจะหย่อนตัวเข้าไปในโพรงนี้ได้

เจ้าหน้าที่บอกว่าจากโพรงนี้ต้องลงไปอีกราว60เมตรจึงจะถึงระดับของน้ำที่มีในถ้ำขณะนั้น และการลงไปต้องใช้ผู้ชำนาญพิเศษ

เราจึงได้เพียงยืนชะโงกอยู่ข้างปากโพรงนั้นในวันที่ร้อนจัดวันหนึ่งของเชียงใหม่

ลมไม่มี ใบไม้ไม่มีไหวติง

เหงื่อหยดเป็นริ้วบนใบหน้าเนื้อตัวทุกคน

แต่แล้วทุกคนต้องประหลาดใจที่มีไอเย็นพ่นออกมาเบาๆตลอดเวลาจากโพรงถ้ำปะทะตัวเราทุกคน

ไอเย็นของน้ำในถ้ำทำให้เหมือนเรายืนหน้าเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ไร้เสียงเครื่องจักรยนต์ใดๆ

มีเพียงสายลมเย็นชื่นใจโชยโชลมหน้าเราราวตู้เย็นที่เปิดอ้าออก

อ่างเก็บน้ำนี้มีขนาดเล็กตามขนาดของระบบโพรงถ้ำแลเน้ำฝนที่เขาย่อมๆลูกนี้สะสมได้จากฝนและน้ำใต้ภูเขาที่มารวมกัน  ถ้ำของภูเขาลูกนี้มีความลึกราว 600 เมตร ดังนั้นเมื่อเทียบกับความลึกของถ้ำที่มีน้ำไหลเข้าและมีความลึกมากๆอย่างถ้ำทรายทอง ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน หรือถ้ำอื่นๆ

เราอาจมีถ้ำที่มีลักษณะเหมาะแก่การพัฒนาเป็นที่เก็บน้ำใต้ภูเขา ด้วยเงินลงทุนที่ไม่แพงอีกหลายแห่งทีเดียว

นักสำรวจถ้ำต่างชาติเคยร่วมกับหน่วยราชการของไทยทั้งกรมทรัพยากรธรณี กรมการปกครอง กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ องค์กรส่วนท้องถิ่น ประมาณว่าที่จริงไทยมีถ้ำอยู่กว่า 6 พันแห่งทั่วประเทศ

ข้อมูลและความรู้ที่ได้จากอ่างเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดำรินี้จึงสำคัญครับ

M2061M-1012

ที่นี่เก็บข้อมูลมากว่า16ปี ต่อเนื่อง ซึ่งพอจะชี้ให้เห็นว่า  เมื่อถึงฤดูฝนมา น้ำบนเขาจะทยอยไหลเข้าโพรงถ้ำไปเรื่อยจนเต็มล้น เมื่อล้นออกมาทางปากถ้ำก็สองบริเวณที่ราบหน้าถ้ำ จากนั้นซึมลงดินบ้าง ระเหยหายไปบ้าง แต่เมื่อมีกำแพงโอบรับไว้ น้ำที่ทะลักจากถ้ำออกมาก็จะทำให้แต่ละปี น้ำจะเอ่อยกตัวขึ้นจนถึงระดับยอดของกำแพงอ่างนั่นแหละ

และด้วยระดับน้ำที่ยกขนาดนั้นเอง ที่จะช่วยทำให้เกิดแรงกด ส่งคืนให้ก้นสุดของร่องหลืบของถ้ำหินปูนนี้ มีแรงดันให้น้ำซึมลึกลงไปสู่หรือแผ่ออกไปจนถึงระบบน้ำบาดาลใต้ดินที่ไหลต่อไป

ถ้าเรียกภาษาช่างก่อสร้างก็คงเรียกว่ารั่วซึม  แปลว่าเสียน้ำ

แต่ถ้ามองให้ลึกแบบนักจัดการน้ำ คงเรียกว่าการชะลอน้ำมาเติมให้ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน โดยมีน้ำกักเก็บเพื่อเติมลงลำรางระบายไปสู่คลองผิวดิน เมื่อเจ้าหน้าที่ไปทดสอบขุดบ่อในที่ห่าง ออกไป ปรากฏว่าน้ำใต้ดินจะผุดไปเพิ่มตามบ่อ ตามสระที่อยู่ในเส้นการเดินทางของน้ำใต้ดินจากเขาลูกนี้

ส่วนน้ำในลำธารที่เคยแห้งเหือดหลังฤดูฝนก็มีน้ำเลี้ยงเข้าลำธารต่อไปได้อีก 3 เดือน สามารถสนับสนุนพื้นที่ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก จัดสรรให้ราษฏรทำกินประมาณ 200ไร่ ราษฏรจึงสามารถนำน้ำไปวางแผนต่อยอด ทำแผนพัฒนาหมู่บ้านได้

ค่าก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจากถ้ำนี้ลงทุนด้วยเงิน 13ล้านบาทเศษเท่านั้น

M2061M-1012

แถมไม่ใช้เงินงบประมาณราชการ แต่เป็นเงินมูลนิธิชัยพัฒนาล้วนๆ ดังนั้น แม้บ่ายของวันที่คณะเดินทางของเราไปจะเห็นเสมือนว่าเป็นอ่างเก็บน้ำที่แห้งสนิท ไม่มีน้ำบนผิวพื้น แต่ที่จริงน้ำหลักยังเก็บอยู่ในถ้ำใต้ภูเขาต่างหาก  มันคือวงจรที่ถูกออกแบบไว้แล้ว  เดี๋ยวพอมีฝน ก็จะกักเก็บจนได้ระดับอีก แล้วก็กดน้ำลงสู่ระบบน้ำใต้ดินไปเติมให้ชาวบ้านได้เรื่อยไป

ใครอยากมาเห็นตอนน้ำแยะๆ แนะให้มาหลังฤดูฝน

เพราะเมื่อระดับของน้ำในอ่างสูง แรงดันก็จะกดคืนเข้าไปในถ้ำเพื่อซึมลงใต้ดินเอง ที่นี่จึงไม่มีการต้องใช้ปั้มไฟฟ้า ไม่มีประตูเปิดปิดบังคับน้ำ แถมแรงดันน้ำก็มากพอที่จะอัดเอาขอนไม้ใหญ่ๆให้ทะลักออกทางปากถ้ำมาทุกปี เก็บขอนเก่าออกหมด พอหน้าน้ำก็มีอัดทะลักออกทางปากถ้ำมาอีก เป็นอย่างนี้มา 16 ปีแล้ว

ทีนี้มาถึงเกร็ดเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอัจฉริยะภาพเกี่ยวกับอ่างเก็บน้ำนี้ ที่ผมค้นเจอจากความเรียงของผู้เล่าอื่น

ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่เก้าทรงพระราชทานแนวคิดเรื่องอ่างเก็บน้ำในถ้ำในช่วงปี2524นั้น เจ้าหน้าที่ที่รับรู้มีคนไปแอบซุบซิบกันว่า ทำไปก็จะมีแต่น้ำรั่วซึมออกในถ้ำ เพราะธรรมชาติจะเป็นเช่นนั้น และไปพูดกันว่ามีแต่คนบ้าเท่านั้นที่จะรับทำ

และจาก 12 กุมภาพันธ์ พศ.2524 ที่เคยรับสั่งไว้ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมาพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยลึก ก็ยังไม่มีใครรับไปสนองพระราชดำริเลย

จนผ่านไปอีก 23 ปี  !! คือพศ.2547 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่เมืองทองธานี ทรงรับสั่งเปรยถึงพระราชดำริเรื่องอ่างเก็บน้ำในถ้ำกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในขณะนั้น

ปรากฏว่าผู้ตามเสด็จฯอยู่ในที่ตรงนั้นไม่มีใครรู้เรื่องนี้มาก่อนสักคน

ดร.สุเมธ ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาจึงรับใส่เกล้าฯไปค้นหา แต่ก็ไปด้วยข้อมูลว่าน่าจะที่อำเภอเชียงดาว จึงมุ่งไปถ้ำหลวงเชียงดาว ซึ่งก็จะมีบางส่วนที่มีน้ำในถ้ำเหมือนกัน แต่แล้วก็ไม่น่าจะใช่

จึงต่อมาพระราชทานเสมือนคำใบ้ลงมาว่า โครงการหลวงห้วยลึก  ดร.สุเมธและคณะจึงไปหาทางสอบถามจากชาวบ้านในละแวกต่อได้

จนสุดท้ายจึงพระราชทานกากบาทในแผนที่มาให้สามกากบาท และนำไปสู่การที่มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับกรมชลประทานช่วยกันออกแบบก่อสร้างจนแล้วเสร็จในไม่นานถัดมา สิ่งท้าทายเวลานั้นคือ การออกแบบฐานรากที่จะวางน้ำหนักกำแพงกันน้ำนี้บนพื้นที่ๆด้านล่างไม่เจอชั้นหินฐาน เพราะเจาะลงเท่าไหร่ก็เจอเพียงหินลอยก้อนใหญ่น้อยมากมายไปหมด

แต่แล้วด้วยการปรับแบบทางวิศวกรรมฐานราก ใช้การเก๊าท์ซีเมนต์ลงในทุกหลุมฐานรากก็ทำให้การก่อสร้างสำเร็จและคงอยู่มาได้ทุกวันนี้โดยไม่มีการทรุดเลยอย่างน่าอัศจรรย์ แม้น้ำหนักน้ำบวกคอนกรีตจะเปลี่ยนแปลงไปมาเสมอตามฤดูกาลและปริมาณน้ำกักเก็บ

ญี่ปุ่นทำโครงการเก็บน้ำในถ้ำแต่ใช้งบประมาณไปสูงกว่าหลายๆ เท่าตัว มีคนจากญี่ปุ่นมาเสนอขอศึกษาวิธีการนี้บ้าง มีคนเล่าว่าทรงจะเก็บไว้ให้คนบ้าชาวไทยเท่านั้นได้ศึกษา เพราะประสงค์ให้ความรู้นี้เป็นเครื่องมือภูมิปัญญาช่วยเหลือกันเองได้ของคนไทย

การก่อสร้างดำเนินไปด้วยความท้าทายหลายอย่าง ระหว่างนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารียังเคยเสด็จมาทอดพระเนตรติดตามความคืบหน้าของโครงการฯด้วยพระองค์เองด้วย และเสด็จพระราชดำเนินกลับมาทรงเปิดโครงการระบบกักเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดำริ (ถ้ำห้วยลึก)เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549

ข้อเขียนชิ้นนี้น่าจะช่วยให้เราคนไทยเห็นถึง น้ำทิพย์จากความรู้รอบและเข้าพระทัยเรื่องน้ำของพระองค์ท่าน เข้าถึงข้อมูลว่าแม้เป็นพระราชาที่ราษฏรเทิดทูนแต่ท่านก็ทรงมีความอดทนอดกลั้นสูงยิ่ง ทรงต้องรอนานถึง23ปี กว่าที่จะมีใครรับพระราชดำริไปสนองให้เกิด ผู้อ่านยังได้รับทราบถึงน้ำพระราชหฤทัยที่พระราชทุนก่อสร้างจากมูลนิธิชัยพัฒนามาดำเนินการ

กลับมาเรื่องน้ำในถ้ำที่ได้ไปตามรอยพระบาทมา ผมนึกทบทวนถึงข้อมูลที่ว่าไทยมีฝนเยอะไม่แพ้ใคร

ถ้ำเมืองไทยมีถึงกว่า 6 พันแห่ง เราต้องการที่กักเก็บน้ำเพื่อสำรองใช้ในหน้าแล้ง อัตราสูญเสียน้ำจากแดดเผาคือวันละถึง 1เซนติเมตร

น้ำใต้ดินขาดการเติมลงให้ชุ่มอิ่มสม่ำเสมอ

คณะกรรมการบริหารถ้ำแห่งชาติ ที่ตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีก็มีขึ้นแล้ว หลังจากที่ปฏิบัติการกู้ภัย 13 หมูป่าที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนลุล่วง

สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนฟ้าตกไม่ต้องตามฤดูกาล

อากาศร้อนขึ้น

และแนวพระราชดำริการเก็บน้ำในถ้ำก็ได้พิสูจน์ให้เห็นความลึกล้ำมาถึง 16ปีแล้ว

การฟื้นฟูประเทศจากเศรษฐกิจและโควิดยังต้องใช้ทุนทรัพยากรธรรมชาติและทุนความรู้ต่างๆที่มีในสังคมไทยให้แยบคายและยั่งยืน

นี่อาจเป็นอีกเรื่องที่ไขกุญแจดอกเล็กๆได้อีกหลายประตูมากๆเชียวครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

ประธานอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

12 มีนาคม 2565