วันพุธที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๔
(สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ผลัดเปลี่ยน
ทำหน้าที่ประธานการประชุม เมื่อครบองค์ประชุมแล้ว ได้มีสมาชิกฯ ขอปรึกษาหารือต่อที่ประชุมตามระเบียบข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ ๓๒ โดยขอให้บรรจุญัตติด่วนให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๒๑๐ (๒) ของรัฐธรรมนูญ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ (๑) ซึ่งประธานฯ ได้ตอบชี้แจงว่า ญัตติดังกล่าวไม่สามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา ๑๕๖ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีบัญญัติไว้ตามอำนาจหน้าที่ จึงไม่รับเป็นญัตติตามที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา
ได้มีความเห็นเสนอมายังประธานรัฐสภา
จากนั้น ประธานฯ ได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระเรื่องด่วนร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๖ และเพิ่มหมวด ๑๕/๑) โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ เป็นผู้เสนอ
ผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายเสนอญัตติแก้รธน.เพื่อให้สอดคล้องกับปชต.และทันต่อสถานการณ์บ้านเมือง
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน
ในสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฯ ใจความว่า ด้วยมาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้
อย่างเข้มงวด กล่าวคือ การพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ นอกจากต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว
ในจำนวนนี้ยังต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ในวาระที่สามนอกจากต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่า
กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธาน
สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวร่วมกัน และต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาอีกด้วย นอกจากนี้ กรณีเป็นการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในบางหมวด หรือในบางเรื่องตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๕๖ (๘)
ก่อนการดำเนินการจะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติด้วย ทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้ยาก
จนถึงไม่อาจแก้ไขได้ ซึ่งขัดต่อหลักการทั่วไปของรัฐธรรมนูญที่ดีที่ต้องให้รัฐธรรมนูญมีลักษณะพลวัตรไม่ใช่
การหยุดนิ่ง เพราะเมื่อยามที่ประเทศต้องการให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์
การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศหรือสถานการณ์โลกก็สามารถที่จะดำเนินการได้ เฉกเช่นรัฐธรรมนูญที่เคยใช้บังคับในอดีต และโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้จัดทำขึ้นภายใต้สถานการณ์พิเศษที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำอย่างแท้จริง อีกทั้งมีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนโดยรวม ประกอบกับมีข้อเรียกร้อง
ของประชาชนหลายภาคส่วนที่ต้องการได้รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำจนถึงการให้ความเห็นชอบ จึงสมควรเพิ่มหมวด ๑๕/๑ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่มาตรา ๒๕๖/๑ ถึงมาตรา ๒๕๖/๑๔ ด้วยการจัดให้มีสมาชิกสภา
ร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ปธ.วิปรัฐบาลเสนอร่างแก้รธน.เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม
๒. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๖ และเพิ่มหมวด ๑๕/๑) โดย นายวิรัช รัตนเศรษฐ และคณะ เป็นผู้เสนอ
นายวิรัช รัตนเศรษฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฯ ใจความว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน
ได้ประกาศและมีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่บทบัญญัติหลายมาตรายังไม่สอดคล้องกับ
หลักประชาธิปไตยและบริบทของสังคมในด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กระบวนการได้มาซึ่งองค์กรต่าง ๆ ในสถาบันทางการเมือง การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจขององค์กร
และหน่วยงานต่าง ๆ ในการบริหารประเทศ การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวอาจนำมาซึ่งความเข้าใจหรือความคิดเห็นไม่ตรงกันที่จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคม รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม
หรือด้านอื่น ๆ เพื่อให้มีการแก้ไขสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ควรที่จะได้มีการศึกษาทบทวนรัฐธรรมนูญ
อันเป็นกฎหมายสูงสุดให้เกิดความชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแม่แบบให้การดำเนินการด้านต่าง ๆ
ในการแก้ไขปรับปรุงให้ประเทศมีเสถียรภาพและความมั่นคง รวมทั้งให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมญฉบับปัจจุบันมีการกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างยุ่งยากอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว สมควรที่จะแก้ไขบทบัญญัติมาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยเหมาะสมและไม่ยุ่งยากดังเช่นบทบัญญัติปัจจุบัน รวมทั้งสมควรที่จะได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นทั้งฉบับ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ
เป็นองค์กรในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้เปิดโอกาสและสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองจาก
ทุกภาคส่วนเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับเจตจำนงทางการเมือง
ของประชาชนที่จะมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นและแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้อย่างเป็นระบบ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและร่างรัฐธรรมนูญโดยการรับฟังความคิดเห็นและการออกเสียงประชามติ
ฝ่ายค้านอภิปรายเสนอแก้รธน. ม.275 ,271 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ
๓. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….
(ยกเลิกมาตรา ๒๗๐ และมาตรา ๒๗๑) โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ เป็นผู้เสนอ
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน
ในสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฯ ใจความว่า การที่มาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้วุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งในวาระเริ่มแรกตามมาตรา ๒๖๙ มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ การจัดทำและดำเนินการ
ตามยุทธศาสตร์ชาตินั้น เป็นการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของวุฒิสภาที่ไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และไม่สอดคล้องกับระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เนื่องจากวุฒิสภาดังกล่าวมิได้มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อำนาจดังกล่าวจึงควรเป็นอำนาจตามปกติของสภาผู้แทนราษฎรที่จะดำเนินการได้โดยไม่จำเป็น
ต้องบัญญัติให้อำนาจแก่วุฒิสภาไว้เป็นการเฉพาะดังกล่าว ส่วนมาตรา ๒๗๑ ที่บัญญัติให้การพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ตามมาตรา ๑๓๗ (๒) หรือ (๓) ให้กระทำโดย
ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาหากร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นไปตาม (๑) หรือ (๒) ของมาตรา ๒๗๑ นั้น
เป็นการบัญญัติขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่มิได้เป็นไปตามมาตรา ๑๓๗ และไม่มี
ความจำเป็นต้องบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้วุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งในวาระเริ่มแรกมีบทบาทหน้าที่
ที่แตกต่างจากวุฒิสภาที่จะได้มาในวาระต่อ ๆ ไป ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงขั้นตอนการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้แล้ว บทบัญญัติมาตรา ๒๗๑ จึงไม่มี
ความจำเป็นต้องบัญญัติไว้อีกเช่นกัน
ฝ่ายค้านอภิปรายเสนอแก้รธน. ม.159,272 ตัดอำนาจส.ว.โหวตนายกฯ
๔. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….
(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๕๙ และยกเลิกมาตรา ๒๗๒) โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ เป็นผู้เสนอ
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน
ในสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฯ ใจความว่า โดยที่มาตรา ๒๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก
ตามรัฐธรรมนูญนั้นเท่ากับให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย และการให้ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจำกัดเฉพาะผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเท่านั้น เป็นการไม่สอดคล้องตามหลักการประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกได้รับ
การคัดเลือกและเสนอชื่อโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมตรีอีกต่อไป ดังนั้น การเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อ ๆ ไป จึงควรให้เป็นไปตามมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และควรกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ด้วย จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๕๙ และยกเลิกมาตรา ๒๗๒
ฝ่ายค้านอภิปรายเสนอแก้รธน. ม.259 ว่าด้วยขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ
๕. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….
(ยกเลิกมาตรา ๒๗๙) โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ เป็นผู้เสนอ
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน
ในสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฯ ใจความว่า การที่มาตรา ๒๗๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ของบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษา
ความสงบแห่งชาติ ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้นถือเป็นการรับรองความชอบ
ด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยมิได้คำนึงถึงเนื้อหาของประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำดังกล่าวว่าชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายโดยแท้จริงหรือไม่ การคงบทบัญญัติดังกล่าวไว้ย่อมทำให้เกิดผลว่า แม้ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้นจะละเมิดเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้ก็ยังถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินี้จึงทำให้บทบัญญัติของรัฐรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไร้สภาพบังคับส่งผลกระทบต่อสถานะความเป็นกฎหมายเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แม้บทบัญญัตินี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อนิรโทษกรรมให้แก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่เมื่อ
การกระทำต่าง ๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้รับการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๒๗๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ได้บัญญัติรับรองให้อีกชั้นหนึ่ง เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคงบทบัญญัติดังกล่าวไว้อีก เพราะหากคงไว้ต่อไปนอกจากจะทำให้กระทบต่อการบังคับใช้บทบัญญัติอื่น ๆ ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังดูเสมือนว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมิได้เป็นไปตามหลักการแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง
ฝ่ายค้านอภิปรายเสนอแก้รธน. ว่าด้วยการลงคะแนนเลือกตั้งส.ส.
๖. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….
(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๙๑ มาตรา ๙๒ และมาตรา ๙๔ และยกเลิกมาตรา ๙๓ มาตรา ๑๐๑ (๔) และมาตรา ๑๐๕ วรรคสาม) โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ เป็นผู้เสนอ
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน
ในสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฯ ใจความว่า โดยที่ระบบ
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งใช้บัตรเลือกตั้ง
ใบเดียวมีปัญหาหลายด้าน ก่อให้เกิดความยุ่งยากในทางปฏิบัติ เกิดความไม่เป็นธรรมแก่พรรคการมือง
ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกตั้ง การคิดคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ไม่มีความแน่นอนชัดเจน สมควรที่จะนำระบบการเลือกตั้งตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ
ก่อนหน้า ทั้งฉบับปี ๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ ซึ่งใช้บัตรเลือกตั้งสองใบมาใช้สำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเคยใช้ในการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ประชาชนมีความเข้าใจและไม่มีปัญหา
ในทางปฏิบัติ รวมทั้งยังเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกพรรคการเมือง
ส.ส.เรียกร้องส.ว.โหวตผ่านร่างแก้รธน.
จากนั้น สมาชิกฯ ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะสนับสนุนญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ยังมีหลักประชาธิปไตยที่ขัดกันหลายเรื่อง ทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอ และเศรษฐกิจถดถอย จึงขอเสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาความขัดแย้งที่อาจตามมาในอนาคต พร้อมยกตัวอย่างการบัญญัติ
พระธรรมวินัยที่ใช้มาเกือบ ๓,๐๐๐ ปี ซึ่งเกิดจากการประชุมของสงฆ์ เป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวมไม่ขัดต่อ
หลักนิติธรรมสากล และมีการปรับตามเวลาจึงใช้มาถึงปัจจุบัน แต่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ไม่ได้เกิดจากการมี
ส่วนร่วม แต่เกิดจากแนวคิดของผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่มีหลักนิติธรรมสากล ทำให้เกิดความขัดแย้งปัญหาทางการเมือง
ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นต้นตอของปัญหา
ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องของรัฐบาลจึงไม่มีอุปสรรคต่อกัน รัฐบาลสามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ จึงอยากเรียกร้องให้วุฒิสภาให้การสนับสนุนตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นชอบตรงกัน ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ขอให้ทุกฝ่ายวางใจ พร้อมขอให้ร่วมมือกันทำงาน เพราะทุกฝ่ายสามารถตั้งตัวแทนมาร่วมเป็นกรรมาธิการได้ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความรอบคอบและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด โดยเชื่อว่าทุกคนมีความรักชาติไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม สมาชิกฯ บางส่วนได้แสดงจุดยืน
ในการลงมติญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง ๖ ญัตติ ด้วยการสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาล คือ ควรมีการแก้ไขมาตรา ๒๕๖ ที่ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขไว้ซับซ้อน และมีเงื่อนไขจำนวนมากทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ดังนั้นหากสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๖ ได้จะถือว่าเป็นการเปิดประตูไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในอนาคตยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๕๖ ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่า จะต้องใช้เสียงของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และในเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งนั้น จำเป็นจะต้องมีเสียงจากพรรคฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ และจะต้องมีสมาชิกวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ
อีกไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ นอกจากนั้นภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ยังจำเป็นต้องทำประชามติจากประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ความร่วมมือของรัฐสภาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากเสียง
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น เสียงของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือเป็นสมาชิกวุฒิสภา
ไม่เพียงพอตามเงื่อนไข การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้
ต้องแก้รธน.เพื่อแก้ไขสถานการณ์
นอกจากนี้ ได้มีสมาชิกฯ นำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น อาทิ เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน หรือสิทธิของผู้ด้อยโอกาส เรื่องของการกระจายอำนาจ เรื่องของการจัดการทุจริตคอรัปชั่นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เรื่องของระบบการเลือกตั้งควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อจะได้ไม่นำไปสู่ผลการเลือกตั้งแบบเบี้ยหัวแตกจนส่งผลให้การเมืองขาดเสถียรภาพ และที่สำคัญในเรื่องอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งรัฐสภาควรมีสมาชิกวุฒิสภาประกอบ แต่ถ้าสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็ควรมีอำนาจจำกัด โดยมีไว้เพื่อกลั่นกรองกฎหมายและบทบาทในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
พร้อมกันนี้ สมาชิกฯ ได้แสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์ในขณะนี้ว่า ไม่มีใครอยากเห็นบ้านเมืองกลับไปอยู่จุดเดิม ไม่มีใครอยากเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ต้องทำโดยวิธีทางลัด หรือวิธีรัฐประหารอีกแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เสียหายเพียงแต่ค่าใช้จ่ายในการจัดทำรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปโดยระบอบประชาธิปไตย ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติบ้านเมืองยิ่งมากกว่าเป็นร้อยเท่าทวีคูณ จึงขอให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกันถอดสลักของบ้านเมือง เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์
และเพื่อให้การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นไปได้จริง ส่วนรายละเอียดและเนื้อหานั้นขอให้สมาชิกฯ ร่วมกันเป็นกรรมาธิการ เพื่อช่วยพิจารณาเติมเต็มให้มีความสมบูรณ์และให้กฎหมายสูงสุดเป็นกฎหมายที่ประชาชนศรัทธา ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเกิดขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มหนึ่งกับผู้ที่อยู่ในอำนาจ แต่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่อ่อนแอ และได้รับผลกระทบ จากการไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ด้อยค่า หมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน ส่วนบทเฉพาะกาลที่เขียนบัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นการปฏิวัติเงียบ เป็นการตัดสิทธิคนนอกในการเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนประเด็นที่มีการเสนอให้จัดทำประชามตินั้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้รับความเห็นชอบในหลักการในวาระที่ ๑
มีการแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการ และเมื่อผ่านวาระที่ ๓ แล้ว ก่อนจะดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ที่แก้ไขใหม่ คาดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำประชามติตามมาตรา ๒๕๖ (๘) ของรัฐธรรมนูญ
ปี๒๕๖๐ อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจะมีจำกัดและการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินที่ต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย เพราะต้องสงวนไว้เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ แต่ถ้าคำนึงถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญว่า
ในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายที่กำหนดโครงสร้าง กำหนดความสัมพันธ์ กำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ ของสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิประโยชน์ของประชาชน เป็นแม่บทในการกำหนดหลักการในการอำนวยความยุติธรรม ความเที่ยงธรรม ให้กับประชาชนในทุกด้าน ซึ่งนับว่า
มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมากก็สมควรใช้งบประมาณบางส่วนในจำนวนที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการ
ในส่วนนี้ แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือเมื่อสามารถทำให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว อาจจะนำไปสู่การลดและคลี่คลายความขัดแย้งที่มีอยู่ให้ลดน้อยลง แต่สิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือโอกาส
ที่จะได้รัฐธรรมนูญที่มีหลักเกณฑ์คู่ควรแก่ความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายพึงปรารถนาร่วมกัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในลักษณะของการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากสมาชิกทุกฝ่าย
ทั้งนี้ ได้มีสมาชิกฯ เสนอแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สัมฤทธิ์ผล จำนวน ๔ ประการ ดังนี้ ๑. การแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะฉะนั้นหากแต่ละฝ่ายยังยึดตนเองเป็นใหญ่ การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่หากเรามาร่วมกันปรึกษาหารือในชั้นกรรมาธิการ เพื่อปรับปรุงให้มีโอกาสที่จะแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นได้จริง ๒. ขอเรียกร้องให้กระบวนการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน นั่นคือการที่จะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ
เพื่อดำเนินการยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ทั้งฉบับต่อไป ๓. การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงคำพูดวาทกรรม แต่เป็นเรื่องที่ต้องการสร้างความสมานฉันท์ และต้องการให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วม ซึ่งเมื่อใดที่ประชาชนมีส่วนร่วมก็จะมีความยั่งยืนในการที่จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป และหากการเมืองมีเสถียรภาพก็จะส่งผลให้รัฐบาลมีเสถียรภาพและรัฐบาลสามารถออกนโยบาย
ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนอันจะช่วยลดความขัดแย้งในบ้านเมืองได้
ส.ว.หลายคนอภิปรายค้านแก้รธน. อ้างเสียงประชามติรับรองรธน.16.8 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ได้มีสมาชิกฯ บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า สมาชิกวุฒิสภามีเอกสิทธิ และมี
ความคิดเห็นเป็นของตนเอง ไมได้เป็นตัวแทน หรือสะท้อนความคิดเห็นของบุคคลใด โดยได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องดำเนินการแก้ไขได้ไม่ยากเกินไป แต่หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับอาจมีผลต่อความรู้สึกของประชาชนโดยรวม ดังนั้น ควรแก้เป็นรายประเด็น ไม่เช่นนั้นจะเกิด
ความไม่พอใจ และความขัดแย้งไม่สิ้นสุด ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
หลายครั้ง แต่เป็นการแก้ไขในบางประเด็นไม่ใช่การแก้ทั้งฉบับ ขณะเดียวกันควรคงบทบัญญัติมาตรา ๒๖๙ และมาตรา ๒๗๒ ให้มีสมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล และมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป เนื่องจาก
เป็นมาตราที่มาจากคำถามพ่วงและผ่านการออกเสียงประชามติ และมาตรา ๒๗๙ ควรให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
เพราะหากยกเลิกอาจเกิดผลกระทบ ความขัดแย้ง และมีประชาชนคัดค้าน ทำให้การดำเนินคดีทุจริต
ที่ดำเนินการในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติอาจมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถือเป็นการไม่เคารพ ๑๖.๘ ล้านเสียง ที่ได้เห็นชอบรัฐธรรมนูญ
และยังสิ้นเปลืองงบประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ในการทำประชามติ แทนที่จะนำเงินไปซื้อวัคซีนป้องกัน
โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ดังนั้น ควรแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตราจะมีความเหมาะสมมากกว่า พร้อมให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การทำประชามติรัฐธรรมนูญ
ปี ๒๕๖๐ นั้น มีผู้เห็นชอบ ๑๖.๘ ล้านคน และไม่เห็นชอบ ๑๐.๖ ล้านคน ซึ่งการไม่เห็นชอบนั้นเป็นสิทธิ
ของแต่ละบุคคลที่จะแสดงความเห็นได้ แต่สมาชิกฯ เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ
ปราบโกง จึงไม่แน่ใจว่าหากร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้วประเด็นที่ดีซึ่งร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
จะยังคงอยู่หรือไม่ และแม้ว่าจะมีการยกเว้นหมวด ๑ และหมวด ๒ แต่ยังมีในมาตราอื่นอีกจำนวนมาก
ซึ่งการพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญอาจกระทบกับพระราชอำนาจได้ ส่วนประเด็นเรื่องที่มาและอำนาจ
ของสมาชิกวุฒิสภานั้น ขอยืนยันว่าสมาชิกวุฒิสภามีที่มาจากคำถามพ่วง ซึ่งผู้ที่เห็นชอบกับสมาชิกวุฒิสภา
บทเฉพาะกาล มีมากกว่า ๔.๒ ล้านเสียง ถือว่ามากกว่าเสียงที่ไม่เห็นชอบ หากจะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ต้องคำนึงถึงผลประชามติด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ จากการศึกษารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยของสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งมีทั้งกรรมาธิการฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล พบว่าเอกสารมีมากถึง ๑๕๗ หน้า แต่มีเรื่องที่แก้ไขเพียงไม่กี่เรื่อง และยังไม่มีข้อสรุปว่าเรื่องใดเป็นปัญหาจริง ๆ และเรื่องใดต้องพิจารณาแก้ไข จึงขอให้พิจารณาให้รอบคอบ
และถี่ถ้วนก่อนดำเนินการแก้ไข
ทั้งนี้ เมื่อสมาชิกฯ ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ประธานฯ ได้สั่งพักการประชุม พักการประชุมเวลา ๐๐.๓๒ นาฬิกา
ที่มาทันข่าวรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร