นายกฯ ลั่นไม่เห็นด้วย กลางวงประชุมยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เผยไม่ควรล็อกตัวเองนานเกินไป ชี้โลกเปลี่ยนตลอด ห่วงรุ่นลูก-หลาน ไม่มีโอกาสเลือกอนาคต

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยในที่ประชุมมีประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิสภา, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการทหารเรือ, รองผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมไปถึงตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม และหอการค้า โดยวาระแรกของการประชุม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมฯ ว่า กล่าวว่า เป็นการวางกรอบโครงยุทธศาสตร์ที่ให้ รัฐบาลและคนทั้งประเทศได้รับความรู้และ ทำงานไปในทิศทางในอนาคตที่อยากให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเพื่อให้รู้ว่าจะไปถึงภาพนั้น เราต้องทำอะไรบ้าง

ขณะเดียวกันเห็นว่า การมียุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ในการทำงานเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่เชื่อว่าการวางแผน และล็อกตัวเองยาวนานเกินไป ไม่มีใครที่จะวางแผนตัวเองไว้ได้นานขนาดนี้ อย่าว่าแต่ 20 ปีเลย 5 ปียังทำได้ยาก โลกนี้เปลี่ยนไปแล้ว และจะเปลี่ยนไปเร็วไปเรื่อยๆ กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งต่างจากเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว มีเทคโนโลยี และนวัตกรรมหลายอย่างเกิดขึ้น อย่างเช่นเรื่องพลังงานสะอาดที่จะกำหนดทิศทางโลก รัฐบาลเดินทางไปเจรจาค้าขาย เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ดึงคนมาลงทุน เช่นเดียวกับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่หลายคนไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไหร่

ขณะที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในห้องประชุมมีบางคนยิ้มหัวเราะ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพูดแทรกว่า “มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาหัวเราะ แต่เป็นเรื่องน่าละอายใจ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ 3 ปีที่แล้วไม่มี”

โดยเรื่องพลังงานสะอาด เป็นเรื่องที่ตนเองไปเจรจามา และเป็นเรื่องแรก ที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูด สะท้อนให้เห็นว่าวันนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของ wall of talent ที่ทุกบริษัทและทุกรัฐบาล ทุกประเทศ ที่ดึงดูดทุกคนที่มีความสามารถมาทำงานกัน และยังเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งระยะหลังก็มีเยอะมาก อย่างเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วประเทศจีนกับสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มี fiction ขนาดนี้ ประเทศไทยจึงต้องปรับยุทธศาสตร์ชาติให้เหมาะสมกับช่วงเวลาของแต่ละช่วงด้วย

จึงอยากให้แผนยุทธศาสตร์มีความคล่องตัว และกระจายให้มากยิ่งขึ้น ให้มีการทบทวน และยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก และอยากฝากทุกคนในที่ประชุมให้ช่วยกันพิจารณาถึงรูปแบบ การดำเนินงานที่เหมาะสมจะทำอย่างไรให้ยุทธศาสตร์นี้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกในวันนี้ และไม่ได้ปิดกั้นอนาคตของประเทศ เพื่อให้การตัดสินและการพัฒนาของรุ่นลูกหลานในอีก 20 ปีข้างหน้าไม่ถูกผูกมัด โดยความคิดของคนรุ่นเราให้พวกเขาได้มีโอกาสปรับกับคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นให้มีโอกาสที่จะเลือกทิศทางในการวางยุทธศาสตร์ไปพร้อมกับ สถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป