(16 ม.ค. 67) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย กก.บห. และ สส. ของพรรค ร่วมกันแถลงข่าวต่อประเด็นที่ถูกนำชื่อเข้าไปพัวพันกับคดีหมูเถื่อนว่า เรื่องดังกล่าวมีการสร้างประเด็น หลายประเด็น และมีความพยายามโยงเรื่องต่าง ๆ ให้มาถึงตน ซึ่งตนมั่นใจว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแต่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าจากการดำเนินการที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และมีการทำเป็นกระบวนการนี้ เป็นการทำไปเพื่อให้สังคมไขว้เขวหรือเข้าใจผิดว่าตนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่ตนมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคและต้องการแก้วิกฤตแก้ปัญหาในพรรค ตนจึงต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถเดินหน้าไปด้วยความใสสะอาด
ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ตนเข้าไปเป็น รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตนได้มอบอำนาจให้กับ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร พร้อมกับแสดงหนังสืออำนาจ เลขที่ 166/2562 โดยหนังสือดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจเต็ม ตั้งแต่อำนาจการสั่งการ การอนุญาตอนุมัติ การกำกับดูแล การปฏิบัติราชการหรือดำเนินการอื่น ๆ ที่รัฐมนตรีว่าการพึงปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับคำสั่งตามมติ ครม. ที่ให้รัฐมนตรีว่าการฯ ปฏิบัติราชการแทน ในกรณีที่มีกฎหมายระเบียบข้อบังคับ หรือ มติ ครม.ไม่ได้มอบอำนาจ นอกจากเป็นอำนาจเฉพาะตัว ซึ่งมีเพียง 3 เรื่อง คือ 1. งบประมาณ 2. นโยบาย และ 3. เรื่องที่ ครม. กำหนด กล่าวคือการนำเรื่องเสนอต่อ ครม. ที่จะต้องให้รัฐมนตรีว่าการเท่านั้นเป็นผู้เสนอ ส่วนการพิจารณาเรื่องนั้นข้าราชการจะดำเนินการไปตามลำดับชั้น ซึ่งการมอบอำนาจดังกล่าวถือว่าเป็นการมอบอำนาจที่ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายในการทำงาน
สำหรับกรณีที่ตนจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องหมูนั้น เนื่องจากในช่วงหนึ่งมีการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) ซึ่งเรื่องนี้ตามโครงสร้างแล้ว จะต้องเป็นของคณะกรรมการระดับประเทศที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้นได้มอบให้ตนทำหน้าที่เป็นประธานเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดดังกล่าว จนกระทั่งมีข่าวการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเข้ามาในประเทศไทย ช่วงปี 2565 ตนจึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะในส่วนของท่าเรือเท่านั้น แต่ให้ตามติดแนวตะเข็บชายแดนทั้งหมด และให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เป็นผลให้ในปี 2565 สามารถจับและทำลายหมูเถื่อนได้ถึง 1 ล้านกว่ากิโลกรัม ซึ่งตนก็เป็นผู้นำทำลายเองในวันที่ 12 มกราคม 2566 ถึง 7 แสนกว่ากิโลกรัมพร้อมกับมีคำสั่งอย่างเด็ดขาด พร้อมประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจเข้มตามห้องเย็นทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจำนวนมาก เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของตน ทำให้ตนเข้าไปดูแลแต่ไม่ได้เป็นการก้าวก่ายการทำงานแต่อย่างใด จนเป็นที่มาของนโยบายปราบหมูเถื่อนอย่างเด็ดขาดไม่มีการเคลียร์
“จากนโยบายตรงนี้ ทั้งการจับการปราบอย่างเด็ดขาด ห้ามมีการเคลียร์อย่างเด็ดขาด ทำให้หมูไม่สามารถนำออกจากท่าเรือได้ หมูร้อยกว่าตู้ที่ท่าเรือแหลมฉบังก็เกิดจากนโยบายตรงนี้ ถ้าผมไม่ได้ออกนโยบายตรงนี้ ผมก็มั่นใจว่าป่านนี้หมูไปอยู่ตรงไหนแล้วก็ไม่รู้หรืออยู่ในท้องใครก็ไม่มีใครทราบ จึงบอกว่าวันนี้สังคมกำลังเข้าใจผิด และจะมีเหตุผลอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากเหตุผลทางการเมือง มีการโยงใย 2-3 เดือนว่า ผมไปมีส่วนเกี่ยวข้อง มีคนใกล้ชิดเกี่ยวข้อง ซึ่งผมต้องเรียนว่าเรื่องนี้ ผมพูดตั้งแต่ต้นแล้วว่า ผม ครอบครัวผม ไม่ทำเรื่องสกปรกโสโครก ไม่รับเงินพวกนี้ ไม่เคยรับเงินพวกนี้ แม้กระทั่งสลึงเดียว บาทเดียว ผมพูดไม่รู้กี่ครั้ง แต่มันถูกกระบวนการต่าง ๆ กลบทำลายไปหมด วันนี้ผมก็ยังพูดเช่นเดิมว่า ผมไม่เคยรับเงินพวกนี้แม้กระทั่งบาทเดียว ผมไม่เคยให้นอมินี หรือตัวแทนที่จะไปรับเงินพวกนี้แม้แต่บาทเดียว ไม่เคยเอื้อประโยชน์ในสิ่งที่ผิดกฎหมายให้กับใครทั้งสิ้น ผมมีหลักการทำงานของผม อย่าว่าแต่คนใกล้ชิดเลย ให้คนในครอบครัวผมเอง ถ้าทำผิดผมก็ไม่ปกป้อง ไม่เอื้อประโยชน์ให้แน่นอน 100% ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ถ้ามีใครทำผิดก็ต้องไม่มีใครได้ละเว้น และผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีก็ต้องทำอย่างเด็ดขาดโดยไม่ละเว้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
พร้อมกับเรียกร้องว่า จากที่มีการนำเสนออย่างต่อเนื่องมา 2-3 เดือนว่ามีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ตนขอให้เปิดเผยชื่อออกมาว่าเป็นนักการเมืองคนไหน การมาสร้างความกำกวมจนทำให้สังคมเกิดความรู้สึกว่ารัฐมนตรีคนนั้นคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ตนขอให้คนที่ปล่อยข่าวดังกล่าวลองใช้สามัญสำนึกของความเป็นคนดูว่า มันเจ็บปวดหรือไม่ ถ้าครอบครัวของคุณโดนอย่างนี้บ้างจะรู้สึกอย่างไร ขอให้เลิกเสียที เพราะเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น กว่าความจริงจะปรากฏได้ ความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นแล้ว
“อย่าทำแบบสมัยเด็ก ๆ เวลาเด็ก ป.3 ป.4 มีเรื่องกัน ใครต่อยก่อนได้เปรียบ เพราะต่อยแล้ววิ่งหนีไปฟ้องพ่อแม่ ทำให้อย่างมากก็ถูกตำหนิ สิ่งนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมโดนต่อยจนไม่มีโอกาสได้แก้ตัว แต่วันนี้ผมมีความสุขที่สุด มีความสบายใจที่สุดที่คนรอบข้างที่เขาบอกว่าเกี่ยวข้องกับผมนั้นได้เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว และผมก็บอกเลยว่าไม่มีการปกป้องอย่างเด็ดขาด ถ้าคุณทำผิด คุณต้องได้รับโทษ ผมจะไม่เข้าไปก้าวก่ายเลย และพร้อมที่จะให้เขาลงโทษด้วย แต่ถ้าคุณไม่ผิดก็ต่อสู้กันไปตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผมก็เชื่อว่าระบบยุติธรรมบ้านเรายังศักดิ์สิทธิ์ เพียงแต่กระบวนยุติธรรมในบ้านเราเป็นระบบกล่าวหา คือกล่าวหาก่อนได้เปรียบ เมื่อคุณกล่าวหาคนหนึ่ง บุคคลคณะหนึ่ง สังคมก็เชื่อไปแล้วว่าเป็นความผิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีสื่อต่าง ๆ ออกมาโหมกระหน่ำ มาพิพากษาเสียเอง มาทำเป็นศาลเตี้ยเองทั้งหมด สิ่งเหล่านี้มีความเป็นธรรมหรือไม่” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าว TPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์วัฏจักร