เบื้องลึกของร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติ ภาค 2 โดย วีระศักดิ์  โควสุรัตน์  สว.  กรรมการวิชาการ  วุฒิสภา 

ทีนี้ก็มาถึงประเด็นท้าทายที่สอง คือเรื่องสาระสำคัญเกี่ยวกับ วิธีการพิจารณาความดีความชอบในการเติบโตของข้าราชการตำรวจ ซึ่งสาระสำคัญในประเด็นนี้ของร่างกฎหมายต่างฉบับ แต่ชื่อเรียกเดียวกันก็มีความแตกต่างกันพอควร

ตรงนี้แหละที่ทำให้ ฝ่ายนิติบัญญัติต้องสนใจ เมื่อกลางปีที่แล้ว คณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา ที่มีท่านรองประธานวุฒิสภา ท่านศุภชัย สมเจริญ ให้ความสนใจ จึงมอบให้ประธานอนุกรรมการด้านกฎหมายของคณะกรรมการวิชาการ คือท่านสว. กล้าณรงค์ จันทิก นำเรื่องนี้มาคลี่ศึกษา ทำให้พบว่า เฉพาะร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2 ร่าง หลัง โดยยังไม่ต้องหยิบร่างของ พลเอกบุญสร้างมาเปรียบเทียบเลย ก็มีสาระสำคัญต่างกัน ถึง 30 ประเด็น!!

แต่จุดเปราะบางที่สำคัญที่สุดที่มีผู้ทักว่าต้องพิจารณาในข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญก็คือ

ประเด็นแตกต่างลำดับที่ 21

ว่าด้วยเรื่องหลักการประเมินและความอาวุโสในการคัดเลือกหรือเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในแต่ละระดับของตำรวจตามร่างมาตรา74 ของร่างฉบับที่ผ่านครม.ว่ามีสาระขัดกับความมุ่งหมายที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ2560 มาตรา 258 ง. (4) หรือเปล่า?

เพราะคำในรัฐธรรมนูญบอกว่า…

” ในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้าย(ตำรวจ) ต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน….”

ขีดเส้นใต้คำว่า ประกอบกัน…นะครับ

แต่ในร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่ มาสู่รัฐสภากำหนดว่าให้นำลำดับอาวุโสมาพิจารณาในการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจแต่ละระดับตำแหน่งไม่เท่ากัน

โดยถ้าเป็นการพิจารณาตำแหน่งระดับรองจเรตำรวจขึ้นไปจนถึงรองผู้บังคับบัญชาตำรวจแห่งชาติให้พิจารณาด้วยลำดับอาวุโสล้วนๆ แปลว่าไม่ต้องเอาเรื่องความสามารถ ความทุ่มเทมาคำนวณด้วย

จุดนี้จึงมีผู้ห่วงว่าจะไม่ค่อยแข่งขันทำงานด้วยความกระตือรือร้นหรือเปล่า

ถ้าระดับผู้บังคับการถึงผู้บัญชาการ ให้เรียงตามลำดับอาวุโสไม่น้อยกว่า 50%

ระดับรองผู้บังคับการลงมาจนถึงสารวัตรให้เรียงตามลำดับอาวุโส33%

และถ้าต่ำกว่าสารวัตรให้คำนึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน

 ประเด็นจึงต้องพิจารณาว่า วิธีเหล่านี้จะถือได้ว่าสอดคล้องกับความมุ่งหมายตามคำในรัฐธรรมนูญ2560 หรือไม่

อย่างไรก็ดี เมื่อผมได้มีโอกาสสนทนาขอความรู้จากพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ในระหว่างไปร่วมกิจกรรมที่ท้องสนามหลวงในช่วงวันพ่อแห่งชาติ พลเอกบุญสร้างให้แง่คิดว่า ถ้าใช้หลักอาวุโสกับทุกชั้นยศ และระดับตำแหน่ง ผู้เพิ่งเข้ารับราชการไม่นานต่างก็จะยังไม่มีผลงานอะไรที่แตกต่างกันมาก ซึ่งจะต่างกับชั้นยศตำแหน่งสูงที่กว่าจะไต่ระดับไปถึงชั้นนั้นก็จะมีทั้งผลงานและความยากง่ายของงานในราชการที่ได้พิสูจน์กันมาแล้วพอประมาณ 

พลเอกบุญสร้างให้ข้อสังเกตว่า ที่จริงคำว่าอาวุโสนั้น ดูท่าแต่ละวงราชการก็อาจยังมีความหมายไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

อนึ่ง เมื่อผมนำข้อความในรัฐธรรมนูญมาตรานี้มาอ่านหลายๆหนเข้า. …ก็ชวนให้คิดต่อได้ว่า ที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้กลับมาใช้หลักอาวุโสนั้น ว่าจริงๆก็คงไม่ถึงกับเป็นหลักปรารถนาแรกหมายของการยกร่างรัฐธรรมนูญหรอก    เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ2560 กำหนดไว้ว่า

ถ้าคณะกรรมการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ครม.ตั้งขึ้น คือหมายถึงชุดพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์นี้ หากทำร่างกฏหมายเสนอไม่ทันในหนึ่งปีนับแต่รัฐธรรมนูญ2560 ประกาศใช้   ก็ให้นำหลักอาวุโสมาใช้ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจแทน

และรัฐธรรมนูญมาตรา260 วรรคท้ายสุดบอกว่า

ถ้าครบกำหนดเวลา1ปีนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้(คือเมื่อผ่านวันที่ 7เม.ย.2561 เป็นอันครบ1ปี เพราะรัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 6เม.ย.2560) แล้ว ถ้าการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ก็ให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจดำเนินการตามหลักอาวุโสตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

แปลว่าหลักอาวุโสนี้เป็นดั่งเงื่อนไขบังคับหลังให้ใช้ ถ้าระบบตามกฎหมายใหม่ถูกนำเข้ามาไม่ทันใช้ในหนึ่งปีหลังรัฐธรรมนูญเริ่มมีผล และยังต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่ครม.กำหนดด้วย

ระบบอาวุโสที่ ครม. กำหนดจึงเหมือนจะเป็นระบบสำรอง ที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญระบุไว้. …ส่วนจะเป็นสำรองชั่วคราว หรือเป็นสำรองถาวร รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกไว้ตรงๆ

แม้ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่ารัฐธรรมนูญคงไม่ถึงกับปิดตายระบบพิจารณาแบบอื่นถ้าระบบนั้นทำให้สัมฤทธิ์เป้าหมายที่รัฐธรรมนูญตั้งเป้าไว้ในเรื่องกระบวนการยุติธรรมชั้นตำรวจ

และบัดนี้ร่างกฎหมายที่ว่าก็มาถึงรัฐสภาแล้ว

แม้จะช้ากว่าหนึ่งปีที่รัฐธรรมนูญตั้งเป้าเร่งรัดไว้ก็ตาม

แต่ด้วยว่าร่างที่3 คือร่างที่รัฐบาลส่งมายังรัฐสภาคราวนี้ มีวิธีคำนึงถึงอาวุโสต่างไปจากร่างที่2 ที่ชุด อ.มีชัยร่างไว้พอควร และเมื่ออ่านทาบกับคำในรัฐธรรมนูญก็ชวนให้คิดล่ะครับ

รัฐธรรมนูญมาตรา258 ง (4)บอก…”ให้….แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ…..ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถ”ประกอบกัน” เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน”….

นี่เอง… จึงทำให้มีผู้สงสัยว่า แล้วการทำเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายอย่างไหนจึงจะสอดคล้องกับข้อความตามรัฐธรรมนูญกันแน่

ส่วนเรื่องที่สาระของร่างที่ 2 ต่างจากร่างที่3  อีกราว30ประเด็นก็คงเป็นปกติที่การพิจารณาของรัฐสภาจะถกเถียงกันได้อีกมาก

ในฐานะกรรมการวิชาการ ของวุฒิสภาคนหนึ่ง ผมจึงขอนำเกร็ดที่รับรู้มาประมวลย่อเล่าใหม่ให้ผู้สนใจเรื่องการปฏิรูปวงการตำรวจได้ใช้ประกอบเป็นข้อมูลพื้นฐาน  ก่อนจะติดตามการอภิปรายกันในรัฐสภาวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ครับ