ครม. เคาะมาตรการ เพิ่มสิทธิ “เราเที่ยวด้วยกัน” 2 ล้านสิทธิ และ “ทัวร์เที่ยวไทย” 1 ล้านสิทธิ ตั้งแต่ พ.ค. – ส.ค. 64

ที่ทำเนียบรัฐบาลนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี

โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเห็นชอบมาตรการฟื้นฟูเยียวยาภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการสำคัญทั้ง 2 ด้าน ที่จะสนับสนุนฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังได้รับความเดือดร้อนในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะ “มหกรรมพักหนี้” โดยธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันทางการเงิน 21 แห่ง เพื่อช่วยเหลือผู้ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้กู้รายย่อย อย่างต่อเนื่อง

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวถึงโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ภายใต้กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท รัฐบาลร่วมจ่ายในลักษณะ Co-Payment ร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 5,000 บาท โดยบริษัทผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะต้องลงทะเบียนกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและจัดทำโปรแกรมท่องเที่ยวอย่างน้อย 3 วัน 2 คืน ระบุโรงแรมและร้านอาหารอย่างชัดเจนเพื่อให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณามูลค่าที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในขั้นต้นประมาณ 12,500 บาท/โปรแกรม กำหนด 1 ล้านสิทธิและบริษัทผู้ประกอบการท่องเที่ยวแต่ละแห่งจะสามารถรับลูกค้าได้ไม่เกิน 1,000 คน ช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2564 โดยผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโปรแกรมสามารถเลือกได้จากทางหน้าเว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังเท่านั้นและจะมีการสแกนใบหน้าเพื่อให้มีความชัดเจนว่าท่องเที่ยวตามโปรแกรมที่กำหนด รวมถึงบริษัทผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็จะต้องสแกนสถานที่ท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับปรุงรายละเอียดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ภายใต้กรอบวงเงิน 5,700 ล้านบาท โดยจะมีการขยายสิทธิเพิ่มเติมอีก 2 ล้านสิทธิ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2564 และเพิ่มขั้นตอนการใช้เงินโดยทางผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันจะต้องให้ความยินยอมในระบบใหม่อีกครั้งเพื่อให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนห้องพักที่เคยได้แจ้งไว้กับทางกระทรวงมหาดไทย สำหรับประชาชนทั่วไปที่เข้าใช้บริการจะต้องจองที่พักอย่างน้อยล่วงหน้า 7 วัน และจะมีการสแกนใบหน้าพร้อมระบุข้อมูลจีพีเอสเมื่อมีการเข้าพัก และปรับ E-Voucher ในราคา 600 บาท/วัน ทั้งนี้ มีการปรับปรุงเงื่อนไขจะต้องเป็นการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดเท่านั้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง 2 มาตรการ คือ  มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อและสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใดสามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทโดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก ทั้งนี้ กำหนดให้มีกลไกค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุดร้อยละ 40 ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการ ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี ตลอดสัญญาได้ และ มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราวและไม่ถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง (Fire Sale) รวมทั้งให้มีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

ในตอนท้าย รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวถึง “มหกรรมพักหนี้”  ที่มีการเปิดช่องทางให้มีการไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้เพื่อลดขั้นตอนต่าง ๆ โดยไม่ต้องเข้าถึงกระบวนการทางศาลเพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนทางการบังคับคดี ซึ่งเป็นความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันทางการเงิน 21 แห่ง รวมถึงยังมีช่องทางอื่นเพิ่มเติม อาทิ “คลินิกแก้หนี้” และ “ทางด่วนแก้หนี้” ซึ่งจะแก้ไขในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตให้กับลูกหนี้รายย่อยที่มีปัญหาเรื่อง NPLs หลาย ๆ แห่ง เป็นต้น