สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ผู้ป่วยรายใหม่ 1,583 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 65,153 ราย หายป่วยแล้ว 36,254 ราย เสียชีวิตสะสม 203 ราย

กระทรวงสาธารณสุขเผยสถานการณ์โควิดระลอกเมษายน พบผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักหรือรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ใกล้เคียงศักยภาพระบบบริการการแพทย์ที่รองรับ ขณะนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 786 ราย โดยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 230 ราย ขอประชาชนร่วมมือสวมหน้ากาก 100 % หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่สัมผัสใกล้ชิด หลีกเลี่ยงที่มีผู้คนแออัด และอากาศปิด เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

วานนี้ (29 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ระบุว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักหรือรุนแรงกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วใกล้เคียงศักยภาพระบบบริการการแพทย์ที่รองรับอยู่ จึงต้องเพิ่มความเข้มงวดทั้งมาตรการควบคุมโรคและมาตรการส่วนบุคคล เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขอความร่วมมือประชาชน สวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่คนแออัด ระบบระบายอากาศปิด และลดการสัมผัสใกล้ชิด เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ยืนยันวัคซีนเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับโควิด 19 และควบคุมการระบาดของโรค ผลข้างเคียงของการเกิดลิ่มเลือดพบประมาณ 4 รายในการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล้านโดส ขณะที่เป็นโรคโควิดโอกาสเกิดลิ่มเลือดประมาณ 125,000 คนต่อล้านคนที่ป่วยเป็นโควิด การฉีดวัคซีนโควิดป้องกันได้ทั้งตัวเอง คนในครอบครัวและต่อชุมชนสังคมได้

นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ แถลงว่า ในฐานะกุมารแพทย์ 40 กว่าปี เกี่ยวข้องกับวัคซีนมาตลอดชีวิต ยืนยันว่าวัคซีนเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรค โดยที่ผ่านมาวัคซีนที่จะนำมาใช้มีการวิจัย 5 – 10 ปี สำหรับวัคซีนโควิด 19 วิจัยเพียง 10 เดือน การนำมาใช้เป็นการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ต้องเฝ้าระวัง 1 วัน 7 วัน 30 วันหลังฉีด แม้ไม่ว่าในขณะใดก็ตามที่ผู้ป่วยโควิดจะลดลงก็ยังต้องฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชาชนต่อไป เพราะต้องสร้างภูมิคุ้มโรคนี้ให้กับประชาชนหรือเรียก “ภูมิคุ้มกันหมู่” ให้ประชาชนทุกคนปลอดภัย ซึ่งโรคโควิดนี้คาดว่าจะต้องอยู่กับคนเราอีกยาวนาน ขณะนี้ไทย มีวัคซีน 2 ชนิด คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ชนิดอื่นๆ กำลังอาจจะตามเข้ามา ซึ่งต้องผ่านการพิจารณา ของ อย. ที่มีคณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบก่อนอนุมัติใช้ในไทยต่อไป

นายแพทย์ทวีกล่าวต่อว่า จนถึงวันนี้ฉีดวัคซีนโควิดให้คนไทยแล้ว 1.3 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 1.7 ของประชากร โดยในด้านประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค จากข้อมูลการวิจัยในประเทศบราซิลพบว่า 14 วันหลังฉีดเข็มแรก ป้องกันโรคได้เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อฉีดเข็ม 2 ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยอมรับได้ ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า จากการศึกษา เมื่อฉีดเข็มแรกครบ 3 สัปดาห์ จะเริ่มป้องกันโรคได้ และเมื่อครบ 12 สัปดาห์ หลังเข็มแรกจะป้องกันโรคได้ ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งสองชนิดไม่แตกต่างกันมาก อยู่ในเกณฑ์ที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยยอมรับว่ามีประสิทธิภาพที่ดี ส่วนคำถามว่าแล้วใช้ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่นั้น ทั้ง 2 ชนิดสามารถรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ได้ มีการศึกษาวิจัยในจีน นำเชื้อและน้ำเหลืองของคนที่ฉีดซิโนแวค เปรียบเทียบกับผู้ที่หายป่วยแล้วพบว่าสามารถจัดการกับเชื้อได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ดีเท่าเชื้อดั้งเดิม ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันต่อเชื้อดั้งเดิมได้ 84 เปอร์เซ็นต์ สำหรับวัคซีนที่จดทะเบียนทั่วโลกและทำในระยะที่ 3 เสร็จแล้ว มี 13-15 ตัว ที่กำลังใช้ในประเทศต่างๆ โดยทุกชนิดมีประสิทธิภาพคล้ายกัน คือป้องกันเสียชีวิต ป้องกันโรครุนแรง ไม่ต้องเข้าไอซียู ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ได้เกือบ 100 เปอร์เซนต์ เป็นหัวใจของวัคซีนที่สร้างขึ้นมาเพื่อต้องการต่อสู้กับโรคที่รุนแรงมาก ๆ เพราะคนไข้ที่อยู่ในไอซียู 1 คน ใช้ทรัพยากร บุคลากร ยา มหาศาล

บทความที่เกี่ยวข้อง