วันนี้ (18 ก.พ. 65) เวลา 11.26 ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงถึงข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้าน ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปการชี้แจงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
กรณีเหมืองทองอัครา ต้องทำความเข้าใจที่ตรงกันก่อนว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นจากอะไร รัฐบาลในทุกสมัยมีหน้าที่พิจารณาการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสม โดยสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2535-2544 รัฐบาลในช่วงนั้นก็ได้เห็นชอบตามกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ. 2510 เชิญชวนให้มีการลงทุนด้วยการลดค่าภาคหลวง ออกใบอนุญาตสำรวจ ออกใบอนุญาตประทานบัตร และใบอนุญาตการประกอบโลหะกรรม สนับสนุนให้มีการทำเหมืองทองในเขตจังหวัดพิจิตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้เดินทางไปต้อนรับการเปิดเหมืองการผลิตทองคำ เพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศ และผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นบริษัทเดิมอยู่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลต่อมาก็ได้มีการระงับการต่อใบอนุญาตประทานบัตร จำนวน 1 แปลง ยาวนานมาถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง ซึ่งมีปัญหาฟ้องร้องเกี่ยวกับขั้นตอนของการออกใบอนุญาต และเรื่องยังฟ้องร้องกันอยู่ในขั้นของศาลปกครองถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ยังมีปัญหาของผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสารพิษตกค้างจากการทำเหมือง ทั้งนี้ ในช่วงของรัฐบาล คสช. เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงว่าปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว โดยเป็นช่วงที่ประเทศอยู่ในสภาวะไม่ปกติ รัฐบาลก็ได้พิจารณาการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสมเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นมีข้อโต้แย้งมากทั้งเรื่องขั้นตอนการอนุญาต ขาดความรัดกุม และเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและต้องใช้เวลาในการทบทวนข้อกฎหมาย พ.ร.บ. การประกอบกิจการเหมืองแร่ และกรอบนโยบายเกี่ยวกับการทำเหมือง เพื่อลดปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน รัฐบาลมีความชอบธรรม เพื่อดำเนินมาตรการใด ๆ ที่เห็นว่ามีความจำเป็น
ทั้งนี้ ภายหลังการปรับปรุง พ.ร.บ. การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ. 2560 และมีการออกนโยบายการทำเหมืองแร่ใหม่ในปีเดียวกัน มีบริษัทเอกชนที่สนใจเข้ามาขอใบอนุญาตใหม่ และขอต่อใบอนุญาตเดิมแล้วกว่า 100 ราย ถ้าเอกชนรายใดมีขีดความสามารถตามที่รัฐบาลกำหนด ต้องการขอใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ ก็สามารถเข้ามายื่นเรื่องได้ตามขั้นตอน โดยเป็นไปตามที่คณะกรรมการพิจารณา บริษัทอัคราเป็นบริษัทหนึ่ง ที่แม้จะมีผู้ถือหุ้นของบริษัทมีคดีความฟ้องร้องต่อรัฐบาลไทย แต่ก็มิได้เป็นข้อจำกัดสิทธิบริษัทอัคราที่จะดำเนินการเรื่องขอต่อใบอนุญาต ตามที่ประทานบัตร 1 แปลง ของบริษัทอัครา หมดอายุในปี 2555 ซึ่งขอต่อใบอนุญาตไว้ในปี พ.ศ. 2554 แต่ยังถูกระงับการต่ออายุอยู่ และพอในปี พ.ศ. 2563 มีอีก 3 แปลงที่ใบอนุญาตจะหมดอายุเพิ่มขึ้นซึ่งจะหมดอายุภายหลังที่บริษัทอัคราหยุดกิจการปลายปี พ.ศ. 2559 แต่ได้มีการขอต่ออายุไว้ก่อนแล้ว
หลังจากที่มี พ.ร.บ. การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ. 2560 ใหม่ขึ้นมานั้น บริษัทอัคราได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขอต่ออายุทั้ง 4 แปลง ที่ค้างไว้อยู่ในคราวเดียวกันตามกรอบเวลาสัมปทานที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งบริษัทอัคราได้ทำตามขั้นตอนเดียวกันกับบริษัทเอกชนรายอื่น ๆ จึงเป็นที่มาในการได้รับการต่อใบอนุญาตประทานบัตร จำนวน 4 แปลง ในปลายปี พ.ศ. 2564 และไม่ได้เป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนอะไรกับรัฐบาลทั้งสิ้น โดยรัฐบาลมิได้ตั้งเงื่อนไขใด ๆ ทั้งนี้ การต่ออายุใบอนุญาต 4 แปลงดังกล่าวเป็นแปลงเดิมที่ได้รับการอนุญาตในปี พ.ศ. 2536 และ ปี พ.ศ. 2543 ตามลำดับ ดังนั้น ถ้าจะถูกตีความว่าการต่ออายุใบอนุญาตเป็นการยกทรัพยากรธรรมชาติ หรือสมบัติของชาติให้กับเอกชน ตามอำเภอใจ ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นการกล่าวหาตั้งแต่รัฐบาลในยุคนั้น หรือเป็นข้อกล่าวหาที่ขัดต่อนโยบายการทำเหมืองตั้งแต่ในอดีตและผูกพันมาจนถึงปัจจุบัน ยืนยันรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้
ประการต่อมา เรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาต การอนุญาตการสำรวจ เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมตามปกติที่ขอหลักการกับคณะรัฐมนตรีไว้แล้ว ซึ่งในการปฏิบัติไม่ได้มีขั้นตอนมาเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี เพียงแต่รับทราบการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ดังนั้น ตามที่ผู้อภิปรายอ้างถึงการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ การสำรวจจำนวน 44 แปลงนั้น ขอทำความเข้าใจด้วยว่า ผู้ขออนุญาตการสำรวจนี้จะต้องรับเงื่อนไขการได้รับการอนุญาตว่ามีขีดความสามารถในการสำรวจ เพราะการได้รับอนุญาตแล้วไม่สามารถสำรวจได้ ก็จะต้องจ่ายเงินตามที่ร้องขอทำแผนไว้ที่กระทรวงอุตสาหกรรม และค่าธรรมเนียมในการได้รับอนุญาตสำหรับแปลงสำรวจจะเพิ่มขึ้นทุกปีถ้าไม่ส่งคืนพื้นที่ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักสากลทั่วไป รวมทั้งเมื่อสำรวจเจอแล้ว ก็จะต้องรายงานให้กระทรวงทราบ เพื่อพิจารณาผลประโยชน์เข้ารัฐ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลระดับกระทรวง ที่สามารถสอบทานได้กับกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรง
นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่า การดำเนินการของรัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ ประชาชนเป็นหลัก และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลไม่ได้ต้องการทำเหมืองหรือยึดเอาเหมืองมาเป็นของรัฐ ซึ่งอาจจะมีความเข้าใจไม่ตรงกันในส่วนนี้ เพียงแต่ขอให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎหมายเรื่อง พ.ร.บ. เหมืองแร่ใหม่ เพื่อให้ถูกต้องและสมบูรณ์ รัฐบาลในสถานการณ์ปัจจุบันยินดีต้อนรับนักธุรกิจ และนักลงทุนที่สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่กับประชาชน และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ หรือให้มั่นใจว่าไม่ก่อความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อม รวมทั้งการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างสมดุล
นายกรัฐมนตรียังชี้แจงว่า คำถามหลายข้อเกิดจากการอนุมานของผู้อภิปรายเอง ที่พยายามจะบิดเบือนให้พี่น้องประชาชนเห็นว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง โดยทุกครั้ง ก็ได้ตอบคำถามในการอภิปรายเสมอมา ได้เรียนให้ทราบว่าการเจรจาเกิดขึ้นโดยคำแนะนำของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นทางออกที่ดีสำหรับกรณีพิพาทนี้ เนื่องจากมีความไม่เข้าใจกันอยู่หลายประการ ดังนั้น การเจรจากันต้องใช้เวลา ขณะเดียวกันก็อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คู่เจรจาอยู่คนละประเทศ จึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ
นอกจากนี้ได้มีการอธิบายไปแล้วว่า การฟ้องร้องของคิงส์เกต เป็นเพราะความไม่เข้าใจและคิดว่าบริษัทลูกในประเทศไทยไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ เพราะมีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทต่างชาติ ข้อฟ้องร้องจึงระบุว่า รัฐบาลมีเจตนายึดเหมืองอย่างคืบคลานโดยไม่ต่อใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2554 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เข้าใจผิดว่าประเทศไทยจะเข้าไปทำเหมืองเสียงเอง ต้องการจะยึดกิจการและสิ่งของในกระบวนการประกอบธุรกิจให้ตกเป็นของรัฐ จึงแสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ที่คิงส์เกตคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น การไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หลักการคัญของรัฐบาล คือมุ่งหวังประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ การปฏิบัติต่าง ๆ ของหน่วยงานต้องเป็นไปตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล ซึ่งหน่วยงาน กระทรวง ก็มีรายงานสิ่งที่ปฏิบัติในแหล่งข้อมูลข่าวสารของกระทรวงอยู่แล้ว ข้อสรุปคือไปสู่การเจรจา การเลื่อนการอ่านคำพิพากษา กระบวนการปฏิบัติของฝ่ายไทยเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งสิ้น รวมทั้งกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าไม่สามารถจะได้รับอนุญาตใด ๆ เรื่องการทำเหมืองในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน โบราณวัตถุ พื้นที่เขตปลอดภัย และความมั่นคงแห่งชาติ พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. แร่ ปี 2560
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการใช้มาตรา 44 ว่า ผู้อภิปรายพยายามอภิปรายจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดโดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่ต้องเสียประโยชน์ เพราะการเจรจานั้น เพื่อทำความเข้าใจให้เกิดผลดีและส่งผลดีที่สุด แต่ข้อเสนอของผู้อภิปรายเหมือนต้องการให้ประเทศ และนายกรัฐมนตรีเสียหายและมีความผิดจากการใช้มาตรา 44 หรือกฎหมายปกติตามคำแนะนำของกระทรวงให้ยุติการทำเหมืองเป็นการชั่วคราว การฟ้องร้องตามกลไก TAFTA ก็ยังคงทำได้อยู่ แต่หากผู้อภิปรายเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ถูกต้องชอบธรรม ก็ควรอธิบายให้เกิดความเข้าใจ ไม่ควรนำมาผูกเรื่องกับเหมืองทองเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดก็แล้วแต่ ยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลทำคือการแก้ปัญหา และมาตรา 44 ที่ออกไป ขอให้ไปดูว่ามีการเขียนในรายละเอียด เป็นเรื่องของการต้องไปตรวจสอบ ต้องไปดำเนินการให้ทุกเหมือง ทุกประเภท ให้ไปทำให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งหลายเหมืองก็มีการปิดไปในเวลาเดียวกันด้วย และเมื่อแก้ไขแล้วก็สามารถเปิดได้ใหม่ แต่เหมืองแร่ตรงนี้อาจจะมีความไม่เข้าใจที่มองว่าเราต้องการจะไปยึดเหมืองเขา ซึ่งไม่ใช่ และเรื่องนี้ก็มีการพูดคุยกันด้วยดีในคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ การลงทุนก็ต้องเดินหน้าต่อไป และต้องให้ความเป็นธรรมในส่วนที่ขอต่ออายุอนุญาตแต่ไม่ได้ต่อให้ที่ผ่านมา ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมายาวนานแล้วจนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อรัฐบาลเข้ามาก็ต้องแก้ไขปัญหาทุกอย่างเพื่อให้เดินหน้าต่อไปให้ได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในพื้นที่และประโยชน์ของประเทศชาติ ยืนยันหลายอย่างได้มีการแก้ไขไปแล้วตาม พ.ร.บ.ใหม่ที่เกิดขึ้น
ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาได้ ก็เกิดจากความร่วมมือของทุกคนที่จะเข้าใจกันในสภา ไม่ใช่จับจ้องทุกประเด็นปัญหา อย่างไรก็ตาม ก็รู้สึกดีใจที่ได้รับฟังข้อเสนอทั้งสองฝ่ายเสนอมาในวันนี้ ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่เข้าใจและผู้ที่ยังไม่เข้าใจ โดยสิ่งใดที่ยังไม่เข้าใจก็เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีจะรับไปดำเนินการและชี้แจง แต่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถจะพูดได้ว่าใครผิดหรือถูกในขณะนี้ เพราะยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นการพูดจาอะไรต่าง ๆ ก็ขอให้ระมัดระวังด้วย เพราะหากปัญหาขึ้นในอนาคตคงไม่ใช่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่ต้องย้อนกลับไปถึงรัฐบาลต่าง ๆ ที่ผ่านมาด้วย ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวขอให้สภาเป็นที่ที่รับฟังข้อเสนอแนะ นายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังทุกฝ่าย แต่ถ้าเพียงมุ่งจะตีรัฐบาล และให้นายกรัฐมนตรีลาออก มองว่าไม่ถูก และยืนยันไม่ลาออก
นายกฯแจงของแพงทั่วโลก
นายกรัฐมนตรีแจง เงินเฟ้อ – ของแพง เกิดขึ้นทั่วโลก ย้ำนักธุรกิจต่างชาติชื่นชมไทย พร้อมเดินหน้าลงทุน
การที่สินค้าราคาแพงเกิดจากเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย สาเหตุเกิดจากโควิดและส่งผลไปยังราคาสินค้าและบริการทั่วโลกสูงขึ้น อย่างที่ไม่เคยเห็นมานานตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง
อัตราเงินเฟ้อของไทยเทียบกับต่างประเทศถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมว่ารับมือได้ดีกว่าประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก สิ่งสำคัญคือรัฐบาลช่วยลดภาระให้กับประชาชนได้มากถึงมากที่สุด จากมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ได้ออกไปแล้ว ช่วยบรรเทาผลเสียหายที่เกิดขึ้นต่อพี่น้องประชาชนได้มาก
มาตรการต่างๆ เริ่มส่งผลในทางที่ดีแล้ว สินค้าหลายๆ อย่างได้ปรับราคาลงมาบ้างแล้ว จากตัวเลขสถิติอัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคมปี 2565 แสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าสำคัญบางกลุ่มปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่น หมู ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผักสด เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่โลกยังต้องเผชิญ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาว และยั่งยืน ซึ่งนักธุรกิจต่างประเทศ ที่ประกอบกิจการอยู่ในประเทศไทย ชื่นชม และพร้อมที่จะลงทุนในประเทศไทย
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร