อธิบดีกรมควบคุมโรคย้ำผู้สูงอายุหากติดโควิด 19 เสี่ยงอาการรุนแรง ขอคนในครอบครัวเข้มมาตรการป้องกัน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ครอบครัว ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการแพร่ระบาดและติดเชื้อสูง เช่น การติดเชื้อในครอบครัวในชุมชนวัดสิงห์ กทม. ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในอีกหลายครอบครัว, ผู้ที่มีกิจกรรมร่วมกัน, วินมอเตอร์ไซค์ รวมถึงไปติดในสถานที่ทำงาน รวมทั้งสิ้น 34 คน มีจุดสำคัญในการแพร่เชื้อ คือ ความเสี่ยงของคนในครอบครัว ในร้านอาหารสถานที่ขายอาหาร สถานที่ทำงาน ซึ่งเกิดจากการไม่สวมหน้ากากอนามัยและการรับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้น ขอความร่วมมือสถานประกอบการเน้นมาตรการเว้นระยะห่าง ไม่รับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่เนื่องจากเป็นจุดเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ 

          “การระบาดลอกใหม่ยังพบว่า ผู้เสียชีวิต 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว กลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ขอความร่วมมือ ลูก หลานและคนในครอบครัว ระมัดระวัง เมื่อไปสถานที่เสี่ยง เช่น บ่อนการพนัน สถานบันเทิง หรือทำกิจกรรมที่เป็นความเสี่ยง ไม่ควรอยู่ใกล้ชิด แต่หากมีความจำเป็นต้องเข้มมาตรการ เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ จะเป็นการลดการแพร่กระจายไปยังผู้สูงอายุและคนในครอบครัวได้ ในส่วนสถานที่ดูแลกลุ่มเปราะบางหรือบ้านพักคนชรา ต้องมีมาตรการตรวจวัดอุณหภูมิทั้งผู้ที่เข้าเยี่ยมและเจ้าหน้าที่ดูแล ล้างมือบ่อยๆ และใส่หน้ากาก 100 % ซึ่งผ่านมาก็สามารถดำเนินการได้ดี”นพ.โอภาส กล่าว

          สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเป็นที่ยอมรับให้กับประชาชนไทย มีระบบการตรวจสอบที่ดี ขณะนี้บริษัท 1 แห่งยื่นเอกสารให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ตรวจสอบด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย คาดว่าจะได้รับการอนุญาตให้นำวัคซีนมาใช้แบบฉุกเฉินภายในสัปดาห์นี้ และนำไปฉีดคนไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ตามแผนที่กำหนด โดยจะมีระบบติดตามอาการหลังฉีดวัคซีน หากพบอาการผิดปกติ หรืออาการไม่พึงประสงค์ จะมีคณะกรรมการรวบรวมข้อมูล ประวัติการเจ็บป่วยพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีนก็จะอนุญาตให้ฉีดวัคซีนต่อไป ถ้าสงสัยไม่แน่ใจจะหยุดการฉีดวัคซีนไว้ก่อนจนกว่าจะหาสาเหตุได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับประชาชนไทย คำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยควบคู่กัน

          อย่างไรก็ตาม การป้องกันส่วนบุคคล การใส่หน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่าง ยังคงเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันที่ทั่วโลกยอมรับ วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งช่วยเสริมให้การป้องกันควบคุมโรคดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ  ขอเชิญชวนประชาชน โหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะ เพื่อใช้ในการติดตามไทม์ไลน์ ไม่มีการระบุตัวตน ช่วยให้การสอบสวนควบคุมโรคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ผลการติดตามผู้สัมผัสจากแอปพลิเคชั่นหมอชนะ ตั้งแต่วันที่ 9 -16 มกราคม 2563 คนติดตามผู้สัมผัสได้ 4,232 ราย  โดยข้อความแจ้งเตือนมี 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ เมียนมา แจ้ง 3 ครั้ง ห่างกัน 30 นาที  แนะนำการปฏิบัติตัวและติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อรับการตรวจหาเชื้อ หรือหากมีข้อสงสัย โทร 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค