ผู้เชี่ยวชาญชี้อาการไม่พึ่งประสงค์บุคลากรทางการแพทย์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค มีอาการทางระบบประสาท คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง เกิดขึ้นชั่วคราว หลังรักษาอาการเป็นปกติดี

ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน พร้อมด้วย นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พญ. ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา และนายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย  และนพ.เมธา อภิวัฒนากุล รองเลขาธิการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวกรณีบุคลาการทางการแพทย์ 6 ราย ที่จ.ระยอง เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวค

ศ.พญ.กุลกัญญากล่าวว่า จากการสอบสวนอย่างละเอียดทั้ง 6 รายมีอาการคล้ายหลอดเลือดสมอง (Stroke) เช่น แขนขาอ่อนแรง ชา ชาครึ่งซีก ยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ส่วนใหญ่เกิดกับสตรีอายุไม่มาก ไม่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน หายภายใน 1-3 วัน จากการสแกน MRI สมองพบว่าปกติ จึงเรียกว่าเป็นอาการทางระบบประสาท เป็นกลุ่มอาการคล้ายหลอดเลือดสมองที่เกิดชั่วคราว คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เนื่องจากเกิดภายในช่วง 5-10 นาที ทั้งนี้ จากการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนล็อตดังกล่าว ไม่พบความผิดปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องมาตรฐานการจัดเก็บวัคซีน ขณะที่วัคซีนล็อตนี้กระจายไป 5 แสนโดส มีผู้รับวัคซีนแล้วมากกว่า 3 แสนราย ยังไม่พบอาการดังกล่าว จึงต้องติดตามต่อไป โดยคณะกรรมการฯ ลงความเห็นว่าให้ใช้วัคซีนล็อตนี้ต่อไปได้ เนื่องจากประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าอาการที่เกิดขึ้น

 “เมื่อมีอาการคล้ายหลอดเลือดสมองตามแนวทางคือรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดตามมาตรฐานไปก่อน แม้ภายหลังตรวจพบว่าไม่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง เพราะผลสแกนสมองปกติทั้งหมด แต่การรักษาไปก่อนไม่ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด” ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว

ศ.พญ.กุลกัญญากล่าวต่อว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอาการหลังรับวัคซีนยังรับวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อได้ เนื่องจากไม่ใช่การแพ้รุนแรง ยืนยันว่าไม่มีข้อห้าม และไม่เคยมีหลักฐานเชื่อมโยงว่ายาคุมกำเนิดหรือประจำเดือนจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากวัคซีนมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ การควบคุมโรคโควิดต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่าร้อยละ 70 ของประชากร จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จึงจะถอดหน้ากากออกพร้อมกันได้เหมือนประเทศอิสราเอล ตอนนี้แม้จะรับวัคซีนแล้วยังต้องสวมหน้ากากต่อไป

นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 5 ราย และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล 1 ราย ทั้งหมดรับวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวคในล็อตเดียวกัน มีอาการภายหลังรับวัคซีน 5-30 นาที โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 1 ราย วันที่ 6 เมษายน 1 ราย วันที่ 8 เมษายน 2 ราย  และวันที่ 9 เมษายน 2 ราย มีอาการคล้ายโรคระบบประสาทและสมอง คือ ชาครึ่งซีก อ่อนแรงที่แขนขา หรือชาแต่ไม่มีอาการอ่อนแรง และพบว่าเป็นผู้มีโรคประจำตัวคือมะเร็ง 1 ราย ไขมันในเลือดสูง 1 ราย น้ำหนักเกิน 2 ราย และมีประวัติกินยาคุมกำเนิด 4 ราย ทั้งนี้ มีการฉีดวัคซีนของซิโนแวคแล้วกว่า 6 แสนราย มีการเฝ้าระวังติดตามอาการทุกราย หากมีอาการรุนแรงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ต่อไป โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมจะปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ด้านพญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา และนายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า แพทย์ที่ จ.ระยองตรวจวินิจฉัยผู้ที่มีอาการทั้งหมดพบว่า เกิดอาการอ่อนแรงจริง ชา ปากเบี้ยว พูดไม่ชัดในบางราย คล้ายอาการโรคหลอดเลือดสมอง จึงต้องรักษาตามมาตรฐานด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดใน 4.5 ชั่วโมง เพื่อช่วยชีวิตและลดความพิการตามมาตรฐานการรักษา ซึ่งเป็นการรักษาฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาก่อน แล้วค่อยดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งพบว่าหลังรักษาอาการดีขึ้นทุกราย จนกลับมาเป็นปกติ ผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองไม่พบผิดปกติ และตรวจเพิ่มด้วยการ MRI สมอง ก็ไม่พบเนื้อสมองตายหรือหลอดเลือดสมองตีบ คิดว่าคล้ายกลุ่มอาการหลอดเลือดสมอง อาจสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน เพราะมีรายงานว่าการฉีดวัคซีนอาจเกิดอาการทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องได้ แต่พบไม่บ่อย มักเป็นเพียงชั่วคราว และดีขึ้นกลับมาเป็นปกติ จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนก อย่างไรก็ตาม สาเหตุเชิงลึกต้องศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการติดตามต่อไป

ด้าน นพ.เมธา อภิวัฒนากุล รองเลขาธิการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังฉีดวัคซีนหากพบอาการที่เข้าได้กับระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ส่วนแพทย์ที่ตรวจพบอาการที่เข้าได้กับหลอดเลือดเสมอง ให้รักษาตามแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่มีข้อบ่งชี้ให้ยาละลายลิ่มเลือด และให้รายงานเข้ามาตามระบบ เพื่อนำไปศึกษาหรือสืบสวนต่อไป อย่างไรก็ตามขอให้ลดความกังวล การรักษาจะเป็นไปตามกลุ่มอาการ และมาตรฐานของการรักษา