การท่องเที่ยวถ้ำ มุมมองและประสบการณ์สากล(ตอนที่ 1) : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

อีกไม่นานเกินรอ ไทยก็จะเข้าสู่โหมตเริ่มเปิดประตูประเทศทีละบาน

ถ้าเหตุการณ์ไม่เกินควบคุม บานอื่นๆก็จะเปิดขึ้นไปเรื่อยๆ

การกลับมาของการท่องเที่ยวคราวนี้ ประเทศไทยได้เรียนรู้ว่า เราไม่พึงเน้นที่ปริมาณนักท่องเที่ยวแล้ว แต่ควรสร้างกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะสามารถพักอยู่ได้ยาวขึ้น จ่ายเงินกระจายไปให้ถึงมือคนท้องถิ่นมากขึ้น  ไปพักค้างในเมืองรองกระจายขึ้น

ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างระวังขึ้น มีสตอรี่ใหม่ๆที่ให้โลกรู้จักมากขึ้น  และมีบริการสนับสนุนที่มีมาตรฐานในทุกมิติมากขึ้น

ช่วงนี้ภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำเกี่ยวกับปฏิบัติการกู้ภัยในถ้ำหลวง ช่วยเหลือ 13 ชีวิตเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ถ่ายทำจนปิดกล้องไปแล้วอย่างน้อยอีก สามเรื่อง

หนังระดับโลกทั้งนั้น 

ทำโดยเงินทุนมหาศาล

มีทั้งหนังสารคดีระดับตำนานของค่าย เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ซึ่งสังกัด เครือดีสนีย์ (Disney)

มีทั้งหนังมินิซีรีย์ ที่สร้างโดยค่าย เน็ตฟลิ้ก (Netflix)

มีทั้งหนังใหญ่ ที่สร้างโดย ค่ายเอ็มจีเอ็ม สตูดิโอ (MGM Studio)

ส่งฉายทั่วโลกทั้งนั้น

และคงดึงดูดชาวโลกให้สนใจถ้ำหลวง สนใจคนไทย น้ำใจไทย และความร่วมมือที่ไทยทำกิจกรรมดีๆ กับสากลหลายๆอย่างแน่

หนัง Lost in Thailand เมื่อราว 8 ปีก่อน ที่ชาวโลกไม่คุ้น แต่กลับเป็นยอดฮิตในเมืองจีน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนขอมาสัมผัสเชียงใหม่ สัมผัสทะเลไทย สัมผัสตลาดบ้านๆ ของไทยทวีเป็นหลายเท่าตัว

นั่นขนาดไม่ใช่หนังค่ายยักษ์ใหญ่ของจีนนะครับ

คราวนี้หนังช่วยกู้ภัยทีมหมูป่าไปกระจายโดยค่ายยักษ์ระดับโลก

เราคงต้องรีบทำความรู้จักเรื่องการเที่ยวถ้ำให้เป็นกันด่วนจี๋

ผมจึงขอเขียนอธิบายไว้เป็นบันทึก ยาว 3 ตอนดังนี้ครับ

ถ้ำ เป็นสถานที่ๆผูกพันกับมนุษย์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

เคยถูกใช้เป็นที่อาศัย ที่หลบภัย ที่ตุนเสบียงอาหาร

ในยามสงคราม ถ้ำถูกใช้เก็บของมีค่า เก็บยุทธปัจจัย  ถ้ำถูกใช้เป็นที่จาริกแสวงบุญในศาสนาต่างๆทั่วโลก พิธีกรรมสารพันเกิดในหรือหน้าถ้ำ

ในทางการศึกษา ถ้ำเป็นเสมือนไทม์แมชชีนที่พาให้นักวิจัยเข้าถึงข้อมูลสารพัน ที่หาไม่ได้ในพื้นที่ทั่วไป ในด้านอุทกวิทยา ถ้ำเป็นทางเดินของน้ำ เป็นที่สะสมน้ำ เป็นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตบางกลุ่ม และในการเข้าสำรวจถ้ำ ก็มักต้องใช้ความท้าทายคล้ายจะเป็นเกมส์กีฬาสารพัดรูปแบบที่หาไม่ได้ในสถานที่ประเภทอื่น

ถ้ำ จึงดึงดูดมนุษย์เรื่อยมา ไม่ว่าจะมี

นโยบายเรื่องท่องเที่ยวถ้ำหรือไม่

เหตุการณ์ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ได้เขย่าโลกให้ตื่นตัว ให้อยากรู้จักกับถ้ำอย่างเหลือเชื่อ  เพราะเร้าใจ จบสวย และก่อความหวัง

สร้างความเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมพิภพได้อย่างสมบูรณ์แบบ

แล้วเราจะใช้โอกาสนี้อย่างไร

ผมขอเล่าจากสิ่งที่บังเอิญรับรู้มาครับ

ในมหาวิทยาลัย Nova Gorica  ที่ประเทศสโลเวเนีย มีหลักสูตรสอนนักศึกษาว่าด้วย วิชาการจัดการการท่องเที่ยวถ้ำ เป็นหลักสูตรเฉพาะ

เป็นหลักสูตรบรรยาย 50 ชั่วโมง ภาคสนาม 10 ชั่วโมง

สัมมนา 30 ชั่วโมง

และผู้เรียนต้องไปทำโครงการด้วยตนเองอีก 90 ชั่วโมง

มีสอนทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาสโลเวเนี่ยน

การวัดผล มีทั้งการนับชั่วโมงฟังบรรยาย ทำสัมมนา ผลิตข้อเขียน และทำรายงานตามโจทย์ที่แต่ละคนจะได้รับมอบ เป็นหลักสูตรที่สามารถใช้ประกอบในการทำปริญญาโทและปริญญาเอกได้

อ่านจากเป้าประสงค์หลักสูตรของมหาวิทยาลัยนี้ 

นอกจากผู้เรียนจะต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวถ้ำแล้ว

ผู้เรียนต้องจบมาพร้อมความเข้าใจในวิธีนำเที่ยวที่จะไม่ส่งผลร้ายต่อถ้ำ  รู้จักปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบของถ้ำ ตระหนักถึงความสำคัญของถ้ำต่าง ๆ ในสโลเวเนีย  

ตลอดจนรู้จักเครือข่ายสถาบันการเรียนรู้เกี่ยวกับถ้ำที่มีในสากล สามารถจำแนกจุดอ่อนจุดแข็งของการจัดการถ้ำที่เป็นกรณีศึกษาได้  เข้าใจผลกระทบของการท่องเที่ยวที่อาจมีต่อถ้ำและระบบของถ้ำ นอกจากนี้ ผู้จบการศึกษาต้องมีความรู้สำหรับการคุ้มครองฟื้นฟูถ้ำ และต้องเข้าใจถึงวิธีคำนวณจำนวนผู้เข้าถ้ำในปริมาณที่เหมาะสม

นี่ย่อมาเพียงสังเขป

หลักสูตรกำหนดเอกสารการเรียนที่ต้องอ่านไว้อย่างน้อย 12 ชิ้น

ระบุผู้แต่ง จำนวนหน้า ปีที่พิมพ์ และชื่อสำนักพิมพ์ให้มาเสร็จสรรพ

ขอดึงมาให้ดูเป็นตัวอย่างนะครับ

1. Encyclopedia of Cave and Karst Science 902หน้า มี Gunn ,J.(บรรณาธิการ) Fitzroy Dearborn New York และ London เล่มนี้พิมพ์ปี 2004

2. Conservation of Cave communities in Australia-Ecosystems of the World,Subteranean Ecosystems ,บทที่33 หน้า 647-664 ,Amsterdam etc. เล่มนี้พิมพ์ปี 2000

3. Development ,Management and Economy of Show caves, เขียนโดย Cigna,Arrigo A.,International Journal of Spelelogy, 27หน้า เผยแพร่เมื่อปี 2001

4. Environmental Management of Tourist Caves. The examples of Grotta di Castellana and Grotta Grand del Vento ,Italy- Environmental Geology หน้า 173-180 เผยแพร่เมื่อปี1993

5.Engineering problems in developing and managing show caves, Journal of Nepal Geological Society ,หน้า 85-94, เผยแพร่เมื่อปี 2000

6. Use of Modern Technologies in the Development of Caves for Tourism ,เอกสารประกอบการจัด 4th International ISCA Congress, Postojna เมื่อ 21-27 October 2002

7. Natural and anthropogenic influences on the year round temperature dynamics of air and water Postjana show caves ,Slovenia, Tourism Management,หน้า 233-243, เผยแพร่เมื่อปี 2014

8. Karstology and Development Challenges on Karst II ,construction,tourism,ecology,protection,  เขียนโดย Culver ,D.C.,Debevec B. ,Knez M,Postjana-Ljubljana,ZRC Publishing,ชิ้นนี้ตีพิมพ์ปี2012

9. Human Impact on underground cultural and natural heritage sites ,biological parameters of monitoring and remediation actions for insensitive surfaces:Cases of Slovenian show caves,- Journal for Nature Conservation,doi: เขียนโดย Mulec J เผยแพร่ ปี2014

10. Sustainable use of the Predjama Cave (Slovania) and possible scenarios related to anticipated major increase in tourist numbers, เขียนโดย Selaba S.& Turk J, Tourism Management Perspectives หน้า 37-45 ตีพิมพ์ปี2014

11. Cave tourism, Proceedings of International symposium at 170 anniversary of Postojnska jama, Postojna(Yugoslavia),November 10-12 , มี Kranjc A เป็นบรรณาธิการ เผยแพร่ปี1989

12. Sources Assessment of deposited particles in a Slovanian show cave (Postojnka jama) evidence of long lasting antropogenic impact เขียนโดย Muri G, Jovicic A & Mihevc Aเผยแพร่ปี 2013 ในวารสาร International Journal of Speleology

แปลว่าเขาดึงความรู้ ข้อมูลและประสบการณ์การสังเกตและประเมินผลเรื่องถ้ำมาบันทึก เผยแพร่ และวิเคราะห์กันต่อเนื่อง ผนวกความรู้จากสหสาขามาวิเคราะห์สังเคราะห์ให้เกิดเป็นความรู้และสร้างฐานทักษะ อย่างเอาจริงเอาจัง

นี่ไม่ใช่หลักสูตรปริญญาธรณีวิทยา แต่เป็นหลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวถ้ำ

ดูจากรายการเอกสารบังคับอ่าน มีทั้งที่อยู่ในสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ 1989 คือราวสามสิบปีก่อน มาจนถึง2014 ซึ่งแปลว่า การจัดการท่องเที่ยวเกี่ยวกับถ้ำนั้น มีอะไรให้ต้องคิดทบทวนอยู่เนืองๆ

เขาดึงข้อคิดข้อสังเกตจากออสเตรเลีย จากเนปาล เข้ามาประยุกต์เปรีบเทียบกับสิ่งที่เขาประมวลไว้จากประสบการณ์เปิดถ้ำให้ท่องเที่ยวในสโลวาเนีย

วันหนึ่งในไม่ช้า กรณีตัวอย่างของถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนในไทยก็คงไปอยู่ในหลักสูตรที่ต้องศึกษากันทั่วโลกเช่นกัน

แต่อย่ารอให้ศึกษาเฉพาะการกู้ภัยเลยนะครับ

น่าจะทำให้เป็นกรณีศึกษา เพื่อการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก และมีการจัดการที่ยั่งยืน ไปเสียด้วยเลย

ทำหลักสูตรในไทยให้เขามาเรียนด้วย

ผู้เรียนหลักสูตรนี้ ควรจะได้เข้าถึงมิติทางธรณีวิทยา ปฐพีวิทยา สิ่งปลูกสร้าง ประเด็นด้านวิศวกรรม การบริหารจัดการ การมองมิติเศรษฐกิจ มิติการพัฒนา มิติทางเทคโนโลยีสำรวจ  ซึ่งเราได้ร่วมกับเครือ National Geographic Chanel มาบันทึกโพรงถ้ำด้วยเครื่องตรวจวัดและจำลองภาพ 3 มิติจนเสร็จครบทุกโพรง และประกอบเข้ากันเป็นภาพตัดแบบ cross section ที่สมบูรณ์แบบ ได้สำเร็จ เรียกว่าถ้าต้องหล่อไฟเบอร์ เพื่อสร้างถ้ำหลวงจำลอง หรือจะย่อส่วน หรือจะให้เท่าขนาดจริง ทีละท่อนแล้วใส่น้ำพุ่งเข้าไปให้นักกู้ภัยในถ้ำจากทั่วโลกมาเข้าหลักสูตร ทีละส่วนทีละท่อน ก็ทำได้

ผู้เรียนยังควรได้ศึกษาเกี่ยวกับมลพิษจากมนุษย์ที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของถ้ำ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความชื้นตลอดถึงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ของถ้ำ อากาศในถ้ำ น้ำในถ้ำ ทั้งตอนใน ตอนนอก  ระบบนิเวศน์ของถ้ำ มรดกทางธรรมชาติ และ วัฒนธรรมแวดล้อม

และความเชื่อของคนแม่สาย เกี่ยวกับถ้ำหลวงฯ

แปลว่า ไม่ใช่เห็นแต่ความสุขสนุกสนาน ความปลอดภัย และความสะดวกของนักท่องเที่ยวเป็นประเด็นเดียว

 กลับมาเล่าเรื่องที่สโลเวเนียต่อ

ที่มหาวิทยาลัย Nova Gorica มีหลักสูตรนี้ ก็เพราะ การท่องเที่ยวถ้ำ และการใช้ประโยชน์จากถ้ำในสโลเวเนียนั้น มีทำกันมาเป็นศตวรรษแล้ว

สโลเวเนียถือด้วยว่า การท่องเที่ยวถ้ำ เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เก่าแก่ที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศด้วย

มหาวิทยาลัยระบุว่านี่เป็นหนึ่งในกิจกรรมตามปรัชญา ‘’การศึกษาตลอดชีวิต’’ ซึ่งแปลว่าไม่จำกัดอายุผู้เรียน ไม่จำกัดสัญชาติผู้เรียน เพื่อให้เหมาะสำหรับผู้ทำงานด้านท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะมาเติมความรู้ มุมมอง และทักษะ

แถมหลักสูตรยังตั้งเป้าให้ผู้เรียนรู้จักพฤติกรรม เข้าใจแรงขับดันที่ทำให้นักเดินทางเลือกที่จะทำกิจกรรมเที่ยวถ้ำ

นี่แค่มหาวิทยาลัยเดียวที่ผมหยิบมากล่าวเป็นตัวอย่างเท่านั้น

สโลเวเนียมีประชากรสองล้านคนเศษ อยู่ในยุโรปกลาง

มีพรมแดนติดประเทศที่มีชื่อเสียงกว่าตัวเองทางการท่องเที่ยว อย่าง อิตาลี ออสเตรีย โครเอเชีย สโลเวเนียมีพื้นที่เพียง สองหมื่นกว่าตารางกิโลเมตร (ในขณะที่ไทยมีพื้นที่กว่าห้าแสนตารางกิโลเมตร) 

แต่เพราะสโลเวเนียตั้งอยู่บนที่ราบสูง และมีพื้นที่แบบคาสต์  (Karst )ที่เกิดจากที่ราบสูงและภูเขาหินปูนที่ถูกน้ำกัดเซาะมานานจนเป็นบริเวณขนาดใหญ่  จึงมีทางน้ำใต้ดิน  แม่น้ำใต้ดินและระบบถ้ำใต้ผิวพื้นมากมาย

เขาจึงสนใจเรื่องถ้ำกันจริงจัง

และลูกค้าท่องเที่ยวที่มาสโลเวเนียก็ไม่ผิดหวัง

แม้สโลเวเนียจะไม่มีตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ แต่ในปี 2017 วารสาร National Geographic ประกาศว่า สโลเวเนียเป็นประเทศที่ทำการท่องเที่ยวยั่งยืนที่ดีที่สุดของโลก

ลูกค้าท่องเที่ยวของสโลเวเนียมาจากยุโรปและรัสเซียแทบทั้งสิ้น  ปีนึงราว4ล้านคน แต่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนต้องเคารพความยั่งยืน ตามกติกาและความมุ่งมั่นของสโลเวเนียต่อสิ่งแวดล้อม ความสะอาดและวิถีท้องถิ่น

องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติสีเขียวหรือ Green Destination Organization ของเนเธอร์แลนด์ ประกาศรางวัลความเป็น ’’ประเทศสีเขียว’’ แห่งแรกของโลกในปี 2016 ให้สโลเวเนีย

เห็นมั้ยครับ

ถ้ำมีอะไรให้น่าค้นหาขนาดไหน

อ่านต่อตอน 2 พรุ่งนี้

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา