นายกฯ เดินหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว High Season ยันทุกคนมีส่วนร่วม “พลิกโฉมประเทศไทย” ศบค. เห็นชอบปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเหลือ 7 จังหวัด

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่า จากการประกาศ  1 พฤศจิกายน 64 ให้เป็นวันที่เริ่มเปิดประเทศ ต้อนรับชาวต่างชาติและชาวไทย ที่เดินทางมาทางอากาศ จาก 45 ประเทศ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในชั้นแรก สามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ นายกรัฐมนตรี ยังขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน สถานประกอบการ สมาคมต่าง ๆ ประกอบด้วย 4 เรื่อง คือ

1. ทุกคน ทุกส่วน ต้องช่วยกันระมัดระวังอย่างเต็มที่ ใช้มาตรการทางด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่ มีวินัยในตนเองที่จะไม่เป็นผู้แพร่เชื้อโควิดไปยังผู้อื่น

2. มาตรการเดินทางเข้าเส้นทางอื่น ต้องมีการกำหนดมาตรการก่อน ทั้งนี้ ทางบก ทางน้ำ ยังคงให้มีการกักตัวเช่นเดิม ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง มีการจับกุมผู้ลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนโดยให้ดำเนินการตามกฎหมาย ในส่วนการค้าขายตามแนวชายแดนมอบนโยบายให้กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้มีอำนาจในการเปิดจุดผ่อนปรน เพื่อให้มีการซื้อขายสินค้าเป็นไปตามข้อเรียกร้องในส่วนของอาเซียน โดยจะทยอยเปิดให้ ทั้งนี้จะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีการเผชิญหน้ากันของพ่อค้าแม่ค้า จำกัดพื้นที่ในการขนส่งสินค้า เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ

3. บุคลากรทางการแพทย์ เปึนที่ทราบดีว่า ขณะนี้สถานณ์การการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่ จึงต้องมีแผนเผชิญเหตุ เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วย อาทิ โรงพยาบาลสนาม พื้นที่สำหรับการกักตัว/แยกกัก ก็ต้องมีความพร้อมเช่นเดิมหากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับการจัดหาเวชภัณฑ์/ยา ได้เร่งรัดการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) เพิ่มเติมแล้ว โดยขอความร่วมมือจากต่างประเทศ กลุ่มอาเซียน+3 และเอเชียใต้ กำลังวิจัยยาประเภทนี้อยู่ด้วย จึงต้องร่วมมือกันในการพัฒนาและประเทศไทยจะดำเนินการจองไว้ล่วงหน้าตามความจำเป็น ควบคู่ไปกับการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ด้วย อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังได้เร่งรัดให้มีการพัฒนาสารสกัดสมุนไพรไทยเพิ่มเติม นอกเหนือจากฟ้าทลายโจร และศึกษาว่า มีสารสกัดจากสมุนไพรไทยชนิดได้ที่สามารถใช้การดูแลรักษาโควิด-19 ในชั้นต้นได้ แต่ต้องมีความปลอดภัย

4. การเปิดประเทศทันทีนั้น มีเวลาเตรียมการที่สั้นมาก จากการดำเนินโครงการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามากว่า 40,000 คน และท่องเที่ยวไปยังหลายพื้นที่ด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ขณะนี้หลายประเทศกำลังจัดทำพื้นที่ท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์ตามรูปแบบของประเทศไทย เพราะการที่จะเดินทางเข้ามาไม่ใช่การเพียงการที่ประกาศแล้วมาได้เลย แต่รัฐบาลมีการประเมิน วางแผน เตรียมการให้มีความพร้อม รวมถึงการหารือกับประเทศต้นทางว่าอนุญาตให้มีการเดินทางออกมานอกประเทศได้หรือไม่ โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการพิจารณาท่องเที่ยวแบบนี้

นายกรัฐมนตรียังขอความร่วมมือจากผู้ที่เห็นต่าง ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทยที่จะฟื้นฟูการท่องเที่ยว ขอให้ร่วมมือกันไม่สร้างความรุนแรงบนท้องถนน หรือสร้างความเสียหาย เพราะอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีความกังวลและไม่กล้าเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย ที่สำคัญยิ่ง รัฐบาลยังเน้นให้พี่น้องประชาชนได้กลับมาหาทำมากินตามปกติ ตลอดจนถึงห่วงโซ่ต่าง ๆ ให้สามารถกลับมาประกอบกิจการได้ และเพิ่มการจ้างงาน โดยรัฐบาลยังเร่งเดินหน้าโครงการขนส่ง คมนาคม และการบิน ซึ่งมีอีกหลาย 10 กว่าประเทศที่พร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศไทย นอกจากนี้ มีรายละเอียดในการปรับพื้นที่ควบคุมในแต่ละจังหวัด จะต้องนำมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมที่สุด

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการประชุมอาเซียนในห้วง 2 – 3 วันที่ผ่านมา ถือว่าผ่านไปด้วยดี จากการหารือพูดคุยในที่ประชุมอาเซียนนั้น ยังคงยึด 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หลายประเทศมีอำนาจความมั่นคง มีความเข้มแข็งทางกองทัพ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศขนาดเล็กที่ไม่ใหญ่โตมากนัก แต่ก็มีความสามารถทางด้านการเกษตร มีวัฒนธรรมประเพณีที่สวยงาม ต่างชาติให้ความชื่นชอบ เป็นโอกาสของประเทศไทย เป็นพลังอำนาจใหม่ด้านวัฒนธรรมที่ประเทศไทยอยู่อันดับต้นของโลก เป็นอำนาจสำคัญของประเทศไทยที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ขอให้คนไทยทุกคนช่วยกันรักษา  อย่าทำลาย ส่งเสริมให้วัฒนธรรมประเพณีของไทยเป็นที่รู้จัก มีมูลค่า  และในการประชุมอาเซียนที่ผ่านมายังได้พูดคุยถึงการร่วมพัฒนาวิจัยวัคซีนด้วยกัน ถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการแลกเปลี่ยน/บริจาควัคซีน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลพยายามทำอย่างยิ่งยวดให้ไทยเดินหน้าไปได้ ทำให้เกิดการพลิกโฉมประเทศไทยโดยที่ทุกคนมีส่วนรวม

เช้าวันนี้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 17/2564 เห็นชอบปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเหลือ 7 จังหวัด โดยจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยังคงมาตรการเดิมและคงการห้ามออกนอกเคหสถานเวลา 23.00 – 03.00 น.

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการตัดสินใจเรื่องการเปิดประเทศโดยการเปิดรับนักท่องเที่ยวจาก 45 ประเทศ และ 1 เขตปกครองพิเศษ ให้เดินทางเข้ามาประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยผู้ที่จะเดินทางเข้ามาต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เฉพาะผู้ที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ มีผลตรวจปลอดโควิดก่อนเดินทางเข้ามา และตรวจอีกครั้งในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจบนความเสี่ยงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่จำเป็นเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพราะการท่องเที่ยวเป็นรายได้สำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงนี้   

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้การฉีดวัคซีนมีความก้าวหน้าในหลายจังหวัดและพื้นที่ โดยขอให้เร่งระดมฉีดวัคซีนในจังหวัดเป้าหมายให้ได้ตามที่กำหนดไว้ หากจำเป็นต้องขยายเวลาการให้บริการวัคซีนหรือเพิ่มบุคลากรก็ควรต้องทำบนพื้นฐานและหลักการเป้าหมายของการเปิดประเทศ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านการรักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ จำนวนเตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้เพียงพอ เพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน สังคม รวมทั้งต้องชี้แจงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ นายกสมาคมฯ สถานประกอบการต่าง ๆ ที่ต้องมีมาตรการเข้มงวด เพื่อไม่ให้แผนการเปิดประเทศมีปัญหา

นายกรัฐมนตรีกล่าวภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมาถึงวันนี้ได้เพราะทุกภาคส่วนได้ร่วมมือร่วมใจกัน โดยไม่มีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ขับเคลื่อนมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด วางแผนผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมอย่างเป็นระบบ ค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีหลักการในการสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมป้องกัน การรักษาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน โดยยังคงเน้นให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID-Free Setting และให้ประชาชนยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ขอให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ช่วยกันทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง มั่นคง และเร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาความขัดแย้ง และปัญหาสังคมต่าง ๆ โดยสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและฟื้นฟูความเชื่อมั่นกับต่างประเทศด้วย

ที่ประชุม ศบค. มีมติสำคัญ ดังนี้

เห็นชอบในหลักการการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ดังนี้

พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด  7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตาก จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา โดยมีพื้นที่ควบคุมสูงสุด 38 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 23 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง 5 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต

การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 แบบบูรณาการ ตามระดับพื้นที่ของสถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร 1 พฤศจิกายน 2564 ในส่วนของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ ขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น ห้ามออกนอกเคหสถาน 23.00–03.00 น. Work From Home อย่างน้อย 70% หน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน ปรับเพิ่มได้ตามความเหมาะสม ร้านอาหาร ทั้งใน และนอกศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หรือ สถานที่อื่นใดที่มีร้านอาหาร บริโภคในร้านได้ จำกัดลูกค้า – ร้านไม่มีเครื่องปรับอากาศ 75 % – ร้านมีเครื่องปรับอากาศ 50% กำหนดเกณฑ์ผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ เปิดตามเวลาปกติแต่ไม่ เกิน 22.00 น. และยังให้งดการจำหน่าย และงดดื่มสุราในร้าน เป็นต้น

ทั้งนี้ ทุกกิจกรรม/กิจการต้องเน้นย้ำมาตรการ Universal Prevention, COVID Free Setting และมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด สำหรับมาตรการ Work From Home ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง และพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ให้หน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชนดำเนินการได้ตามความเหมาะสม ยกเว้น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างน้อย 70%

บทความที่เกี่ยวข้อง