หลังบรรยายให้นักศึกษาในหลักสูตร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. รุ่นที่ 64 เสร็จ ผมได้รับเชิญจาก สำนักงานกองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว. )และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข. ) ให้บินลงไปสมทบที่จังหวัดกระบี่ในบ่ายวันเดียวกัน
หลายๆประเด็นที่ผมบรรยายที่ วปอ. วันนั้น นอกจากความจำเป็นที่ไทยต้องเร่งปฏิรูประบบกฎหมาย และผ่าตัดงานในระบบการเดินทางท่องเที่ยวแล้ว ผมได้ชี้ให้ผู้เข้าอบรมหลักสูตรทราบว่า trend การท่องเที่ยวในอนาคตที่จะขยายตัวอีกมากคือเรื่อง การท่องเที่ยวที่แสดงความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม ความอ่อนไหวต่อการรับผิดชอบต่อสังคม เน้นความเป็นธรรม เน้นความมีธรรมาภิบาล หรือ ที่เรียกย่อๆกันในเวทีสากลว่า ESG (Environment , Social,Governance)
อีกเรื่องที่ได้เล่าให้นักศึกษาฟังที่ วปอ.ซึ่งล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงจากทั้งกองทัพ ข้าราชการพลเรือน ภาคการเมือง ภาควิชาการ และภาคธุรกิจก็คือหลักการ Tourism for All หรือการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล คือจัดระบบเอื้อให้แน่ใจว่ามีการอำนวยความสะดวกให้สมาชิกในสังคมเข้าถึงการท่องเที่ยวได้ การออกแบบที่มี Universal Design การจัดทำให้มีอารยสถาปัตย์ ซึ่งไม่นับเฉพาะคนพิการ แต่รวมถึงสตรีมีครรภ์ คนใส่เฝือก คนป่วยพักฟื้น ผู้สูงอายุ เด็กเล็กฯลฯ เรื่องนี้ UNWTO หรือองค์การการท่องเที่ยวโลกให้น้ำหนักมาก
รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าตลาดการท่องเที่ยวทางน้ำ ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มจะขยายตัวอีกมาก การออกแบบท่าเทียบเล็กใหญ่ การออกแบบเรือ การออกแบบอุปกรณ์ประกอบเพื่อให้สะดวก สะอาด ปลอดภัย แต่ยังใช้วัสดุที่หาง่ายในพื้นที่จะช่วยให้ท่องเที่ยวไทยไปได้อีกไกลมาก
ซึ่ง trend เหล่านี้ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนด้านการพัฒนาคุณภาพของการท่องเที่ยวไทยทั้งนั้น เพราะทางน้ำของไทยตามลำคลอง ตามชายเขา ป่าชายเลน ตามปากแม่น้ำ ตามเขื่อน อ่างเก็บน้ำ บึง หนอง ทะเลสาป ไปจนถึงน้ำเค็มของทะเลและมหาสมุทร จะช่วยเอื้อให้ชุมชนชายน้ำอีกจำนวนมากได้รับโอกาสทั้งด้านรายได้จากการท่องเที่ยว และได้พัฒนาบริการและถิ่นที่อาศัยที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาคมเจ้าบ้าน ซึ่งก็ต้องแก่ตัวลง หรือได้ใช้สิ่งเหล่านี้เหมือนกัน ไม่แต่เฉพาะเพียงแขกผู้มาเยือนได้ใช้เท่านั้น
และต้องรักษาระบบนิเวศน์ให้เคร่งครัดยิ่งกว่าเดิมมากๆ
เมื่อผมเดินทางไปถึงจังหวัดกระบี่ในเย็นวันเดียวกัน กิจกรรมแรกที่ไปร่วมก็คือการประชุมช่วงค่ำของคณะนักวิจัยจากหลากหลายสถาบันที่มานำเสนอความคืบหน้างานวิจัยที่แต่ละทีมกำลังดำเนินอยู่ในพื้นที่กระบี่ จากงบสนับสนุนการวิจัยในแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของ บพข.มี ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. เป็นประธาน พร้อมด้วย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชนณ์ รองผู้อำนวยการ บพข. และคณะผู้บริหาร สกสว.
ผมเลยได้โอกาสรับฟังด้วยความสนใจยิ่ง
ศ.ดร.วิสาขา ภู่จินดา จากนิด้านำเสนองานวิจัยเรื่อง’’ข้อเสนอสู่ Net Zero ของการท่องเที่ยวไทย’’
ผศ.ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ จากม.วลัยลักษณ์ นำเสนองานวิจัยเรื่อง ‘’จากกระบี่โกกรีนสู่การท่องเที่ยวคุณค่าสูง มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์’’
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รามคำแหง นำเสนองานวิจัยเรื่อง ‘’ท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอนในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง’’
คุณปาริชาติ สุนทรารักษ์ จากสมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) นำเสนองานวิจัย’’วิธีการเจาะตลาดปั้นยอดขาย เที่ยวไทยไร้คาร์บอน’’
ศ.ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล และศ.ดร. อารีวรรณ กลั่นกลิ่น จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมกับ ผศ.ดร.สัจจา ไกรสรรัตน์จากม.ราชภัฏจอมบึง นำเสนองานวิจัยเรื่อง’’การจัดการต้นแบบ WELL Hotel ‘’ที่เน้นการดูแลจัดการด้านสุขภาพผู้เข้าพัก การบริการคลาสเรียน ‘’มวยไทย’’ที่ชายหาด ควบคู่กับเรื่องอาหารสุขภาพ สปาสุขภาพ และการบำบัดธรรมชาติต่างๆ
รศ.ดร.กฤษณะเดช และรศ.ดร. มัลลิกา เจริญสุธาสิณี จากม.วลัยลักษณ์ทั้งคู่ นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง ‘’การติด GPS ที่เรือและรถกู้ชีพ ‘’ ซึ่งทำให้ทั้งเจ้าของเรือและหน่วยงานรับข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ได้ง่ายๆ ทุกนาทีว่าเรือไหนรถไหนแล่นอยู่ที่ไหน ซึ่งถูกกว่าและต่างจากระบบยิงข้อมูลขึ้นผ่านดาวเทียมที่ผู้ควบคุมระบบคนเดียวได้เห็นข้อมูล
ผศ.ดร.จิตศักดิ์ พุฒจร จาก ม.ศิลปากร นำเสนองานวิจัยเรื่อง ‘’การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในกลุ่มทะเลอันดามัน’’
ปิดท้ายด้วยการนำเสนองานวิจัยเรื่อง ‘’อาสาสมัครท่องเที่ยวและกีฬา ‘’ภายใต้แผนงานการจัดการอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยร่วมสื่อสารมาทางออนไลน์ ซึ่งดร.นิทัศน์ บุญไพศาลสถิต และดร.กาญจนา สมมิตร จากสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเป็นฝ่ายนำเสนอผลงาน
แค่เอ่ยชื่องานวิจัยและดีกรีของผู้นำเสนอก็คงพอทำให้คุณผู้อ่านรู้สึกอยากรู้ อยากเชียร์แล้วใช่มั้ยครับ
ผมก็มีอาการเดียวกัน….จึงนั่งจ้องนั่งเพ่งสมาธิดูดซับสาระสำคัญทุกคำทุกความที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิสลับกันเดินออกมาเล่าที่หน้าเวทีทีละท่านจนจบ
เสียดายที่วันนั้นมีพายุเข้าภาคใต้ ทำให้สัญญาณออนไลน์จากกรุงเทพไปยังห้องประชุมรับฟังขลุกขลักอยู่บ้าง
แต่พอฟังรู้เรื่อง และเห็นประเด็น
โดยเฉพาะผมจำได้ว่าหลายๆหัวข้อข้างต้น เป็นหัวข้อที่ตรงกับประเด็นที่ผมเคยชี้ไว้ว่านี่คือเขี้ยวเล็บที่ควรเสริมแต่งให้วงการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะในกลุ่มพื้นที่ที่อยู่ในย่านใกล้ทะเล มีนักท่องเที่ยวนานาชาติที่คาดหวังบริการและคุณภาพระดับสูงเข้ามาเป็นประจำ
ผมสัมผัสได้ว่า โจทย์วิจัยและวิธีวิจัยที่สกสว.และบพข.ใช้ในการกำกับระบบงานเหล่านี้คือ ต้องการให้นักวิจัยทำงานร่วมกับผู้จะใช้งาน เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานจริง ไม่ใช่งานวิจัยเชิงเอกสารเพื่อผู้สนใจอ่านเฉยๆ
ดังนั้นจึงมีทีมวิจัยที่มาจากทั้งสถาบันการศึกษาและทักษะ จากสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จากภาคเอกชน เข้ามาทำงานทีมร่วมกันกับชุมชนในพื้นที่ สามารถนำเสนอต่อหน้าทีมผู้บริหารของหน่วยจัดการทุน ของสกสว. และบพข.ให้ได้รับฟังร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนชุมชนหรือสื่อสารมวลชนจากที่ต่างๆ
รวมทั้งผมที่ได้รับเชิญให้มารับฟังและสะท้อนความเห็นข้อสังเกต เพื่อเชื่อมให้ความรู้จากทีมวิจัย ไปถึงหน่วยนโยบายมหภาคต่างๆที่อาจเป็นประโยชน์ด้วย
ด้วยเพราะงานวิจัยข้างต้นทุกชิ้น ใช้พื้นที่จังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่ศึกษา และเนื่องจากจังหวัดกระบี่ประกาศนโยบาย Go Green มานาน และมุ่งมั่นมาก มีการผนึกปฏิญญาร่วมมือกันทั้งภาคราชการ ภาคท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และภาคชุมชนมาเหนียวแน่นหลายปี
และไม่สลายคลายมือผละจากกันไป
คือไม่ใช่สักแต่ประกาศ ทำอีเว้นท์ ลงนาม ทำข่าวออกสื่อ แล้วต่างฝ่ายต่างไปทำเรื่องอื่นหรือทำทิศทางอื่นตามใจตัว
ดูได้จากความใจแข็งของกระบี่ที่ไม่ยอมแม้แต่กับกองถ่ายหนังฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวูดที่จะใช้อ่าวในกระบี่เล่นฉากไล่ล่ากันด้วยเจ็ตสกี
ไม่ได้บอกว่าเจ็ตสกีไม่ดีอะไร
แต่กระบี่ต้องการจัดโซนบางโซนให้ชัดเจนว่า โซนนั้นเป็นโซนว่ายน้ำเล่นแนวครอบครัว สงบ และมองวิวได้โล่งตา
ภาษาฝรั่งเรียกว่าที่นี่เขา ‘’walk the talks’’ คือลุยทำจริงจังในสิ่งที่พูด
ก่อนจบกิจกรรมในค่ำนั้น ผมได้ขึ้นกล่าวขอบคุณความมุ่งและความแม่นของผู้ตั้งโจทย์วิจัยซีรี่ย์นี้ และความทุ่มเทและเข้าถึงของนักวิจัยที่สามารถจับหัวใจของเป้าประสงค์ที่จะทำให้ความ Go Green ของพื้นที่ทะยานต่อไปสู่ Net Zero ในวงการท่องเที่ยว เป็นแบบอย่างที่ดีให้พื้นที่อื่นได้ใช้ศึกษาในเรื่องนี้
ผมยืมคำของ ท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รามคำแหง รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน หรืออาจารย์ไบ๋ ที่เคยรับเชิญให้ไปอภิปรายชี้แจงให้คณะอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ของวุฒิสภาที่มีผมเป็นประธาน ท่านเคยมาให้ข้อมูลเรื่อง แพลงตอนในทะเล ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เพราะแพลงตอนผลิตออกซิเจนให้โลกมากกว่า 60% ของออกซิเจนทั้งหมด และเป็นผู้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไปให้ถึง 30% ของการดูดซับทั้งหมด
พระเอกตัวใหญ่ในวงการสู้โลกร้อนเชียวล่ะ
อาจารย์ไบ๋ กล่าวถึงหลักเทียบระหว่าง The Ocean We Have คือจากที่เราเคยมองแต่ว่า มหาสมุทรคือสิ่งที่ยังไงเราก็มีอยู่แล้วอย่างเดิมๆ มาสู่หลักปฏิบัติดีๆที่เราควรทำต่อมหาสมุทร เพื่อให้เกิด The Ocean We Want หรือมหาสมุทรที่เราอยากมี และให้คุณแก่การอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสมดุลของทุกสรรพชีวิต
ผมปิดท้ายบนเวทีว่า งานวิจัยซีรี่ย์แบบนี้แหละ ที่ไทยพึงมีให้เยอะๆ ทำการตลาดและสื่อสารให้เข้าถึง เพื่อทำให้เราก้าวข้ามจากThe Tourism we have ไปเป็น The Tourism we want
ไม่ง่าย… แต่เราต้องสร้างให้ได้
เช้าตรู่วันถัดมาที่กระบี่ นักวิจัยพาเราสำรวจกิจกรรมและการจัดการของโรงแรมที่เราเข้าพักจริงเมื่อคืน คือโรงแรม อ่าวนาง ปรินซ์วิว วิลล่ารีสอร์ทแอนด์ สปา ในฐานะโรงแรมแห่งแรกของกระบี่ที่พัฒนารายละเอียดต่างๆทั้งสถานที่ พนักงาน และการบริการ จนได้รับตรารับรองคุณภาพจาก GHA WELL HOTEL ของสหรัฐอเมริกา
ผลคือ เอเย่นต์ท่องเที่ยวตะวันตกมั่นใจในเครื่องหมายมาตรฐานคุณภาพนี้ว่า ที่นี่มีการดูแลเอาใจใส่ทั้ง Environment-Social-Governance หรือ ESG ที่กล่าวในตอนต้นของข้อเขียนนี้
คุณอิทธิฤทธิ์ และคุณกุสุมา กิ่งเล็กเป็นเจ้าของกิจการ คุณอิทธิฤทธิ์เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตรงช่วงที่ผมเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีท่องเที่ยวด้วยพอดี ท่านพร้อมภรรยามาพาชมด้วยตนเอง
ท่านบอกว่าช่วงที่ตัดสินใจปิดอาคารและปรับปรุงเพื่อมุ่งทำมาตรฐาน GHA WELL HOTEL ทั้งระบบของท่านนั้น แม้เริ่มมาตั้งแต่ก่อนโควิดจะระบาด และเมื่อทำสำเร็จ โควิดก็ยังไม่จางไป ท่านสูญเสียโอกาสด้านรายได้ช่วงนั้นไปมาก แต่พอได้ตรารับรอง มีการบินมาตรวจสอบ ทดลองกันหลายเที่ยว
ราคาค่าห้องพักที่ขายได้จริงต่อคืนสามารถกำหนดสูงขึ้นไปได้อีกถึง 40 %
สวนทางกับชาวบ้านไปเลย
แถมมีจองกันเข้ามามากเสียด้วย
เป็นอันว่าความรักษ์โลก รักษ์ความเป็นธรรม และเอาใจใส่ต่อสังคมนั้น คุ้มทั้งในทางการค้า ดีต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรกับประชาสังคมรอบด้าน ทั้งต่อลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า และเพื่อนบ้านในย่านนั้น
แน่นอนว่ายังมีบันไดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่รีสอร์ทนี้จะยังพัฒนาต่อได้อีกเรื่อยๆ
ที่จริงเรื่องการรักษ์โลกนี่ ทำให้ถูก ก็จะทำแล้วดีกับผู้ลงมือทำเองแหละ ยิ่งทำกันกว้างขวาง สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ก็จะเสื่อมถอยช้าลง
ไม่จำเป็นว่าต้องได้ผลทางการตลาดการเศรษฐกิจธุรกิจหรอกนะครับ
แต่ถ้าทำแล้วธุรกิจกลับจะไปได้ดีกว่าก็ยิ่งน่าทำไม่ใช่หรือ
สิ่งที่คุณอิทธิฤทธิ์อยากทำต่อ คืออยากชวนเพื่อนๆในกระบี่ทำมาตรฐานนี้ไปด้วยกัน เพื่อจะได้ขยายแผงการรับรองนี้กันเพิ่มได้ทั้งเมือง หรือทั้งย่าน ให้สมกับเป็นกระบี่โกกรีน และจะเป็นแท่นทะยานที่มั่นคงขึ้น สำหรับการมุ่ง Net Zero ทั้งเมืองท่องเที่ยวให้ได้
ที่จริงโลกเรามีตรารับรองคุณภาพหลายอย่างที่สร้างกันขึ้นมา แต่ถ้ายังไม่เป็นที่รับรู้ มั่นใจของตลาด ตราเหล่านั้นก็อาจให้ผลต่อผู้บริโภคไม่เท่าตราที่สากลได้มั่นใจกันไปแล้ว
ดังนั้น องค์การใดจะทำตรารับรองอะไร ก็ต้องให้แน่ใจว่าแต่ละตลาดจะตอบสนองตราเหล่านั้นจริงจังให้ได้ จึงจะเต็มประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะอยากไต่บันได
เสร็จการดูงานที่ตัวเมืองกระบี่ คณะนักวิจัยพาเราไปลงแพขนานยนต์มุ่งสู่เกาะลันตา ซึ่งกำลังจะมีสะพานเชื่อมกับแผ่นดินเต็มรูปแบบ
การพัฒนาจะเกิดขึ้นอย่างพรวดพราดแน่นอน สิ่งที่ต้องถนอมให้ทัน คือการกำกับการพัฒนาให้ยั่งยืนอย่างแข็งขัน
อ้าว พื้นที่หมด ขออนุญาตเล่าต่อเรื่องความสำคัญของการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอนุรักษ์ของเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ในภาคสองนะครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร